วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การผูกพัทธสีมา ฝังลูกนิมิต

            “การผูกพัทธสีมา – ฝังลูกนิมิต”
     ๑. การสร้างวัด
     ๒. การผูกพัทธสีมา ฝังลูกนิมิต
     ๓. ภาษาและความหมาย
     ๔. วัฒนธรรมใหม่ (งานงอก)
          นับถอยหลังไปศตวรรษเศษๆ ในยุคสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ที่เกิดพิธีกรรมด้านการสร้างวัดอย่างอิสระ เพื่อตอบสนองศรัทธาของผู้มีทุนที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ประกอบกับพุทธศาสนาอิงอยู่กับระบบกษัตริย์ จึงกลายเป็นความศรัทธาของผู้สร้างวัด เนื่องจากพระราชาอาศัยหลักการทางศาสนาเป็นเครื่องมือในการปกครอง ดังนั้น จึงเกิดจำนวนผู้บวชและวัดมากมาย และกลายเป็นการสร้างวัดอย่างเป็นกิจจะลักษณะขึ้นมา วัดจึงปรากฏอยู่ทุกที่ของเมืองไทย โดยเฉพาะภาคกลางที่อยู่ใกล้พระเนตรพระกรรณของพระราชา จะพบว่าแต่ละรัชกาลมีการสร้างวัดประจำพระองค์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในความสมบูรณ์แบบในการปกครองแบบธรรมราชา

          ด้วยเหตุนี้ จึงมีการกำหนดสีมาหรือขอบเขตในการสร้างวัด เพื่อถวายความสะดวกแก่พระสงฆ์ทำสังฆกรรมอย่างอิสระ ในยุคต้นมีการแบ่งการปกครองออกเป็นประเภทคือ วัดบ้าน เรียกว่า คามวาสี และวัดป่า เรียกว่า อรัญญวาสี วัดเป็นเขตพุทธาวาส สำหรับพระสงฆ์อาศัยและทำสังฆกรรมในวันสำคัญ แต่การสร้างวัด มิใช่จะสร้างเอาเองโดยอิสระ ต้องอาศัยฝ่ายบ้านเมืองและคณะสงฆ์ร่วมมือกันสร้างให้ถูกต้องตามพระวินัยและนิตินัย ตามพรบ.คณะสงฆ์ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ระบุว่า วัดมี ๒ ประเภทคือ วัดที่เรียกว่า วัดถูกต้องตามพระวินัย และนิตินัย เรียกว่า วิสูงคามสีมา และมีอุโบสถเป็นเขตสังฆกรรม ส่วนวัดที่เรียกว่า สำนักสงฆ์ ได้รับการแต่งตั้งถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่ได้รับวิสูงคามสีมา จึงเป็นวัดที่ไม่มีอุโบสถนั่นเอง    วัดที่ได้รับวิสูงคามสีมาแล้ว เรียกอีกอย่างว่า วัดหลวง ถือว่าเป็นวัดประเภท ๑ ส่วนวัดประเภท ๒ เรียกว่า วัดราษฎร์

          คำว่า วัด คำเดิมมาจากคำว่า วัตร พระวิสุทธิวงศาจารย์ เจ้าคณะภาพ ๗ วัดปากน้ำฯ ให้ความหมายว่า การถือปฏิบัติ ข้อวัตรปฏิบัติ โดยอาศัยสถานที่กำหนดขึ้นมาเป็นที่อาศัยของคณะสงฆ์ เมื่อที่นั้นกลายเป็นที่แสดงธรรม ประกอบกิจกรรมบ่อยๆ จึงกลายเป็นวัตรประจำ ต่อมาเมื่อเขียนและพูดเพี้ยนไปจึงกลายเป็นวัดในที่สุด แต่ก่อนวัดมิได้เป็นเหมือนปัจจุบัน เป็นเพียงป่า หรืออาคารที่พักเล็กๆ สำหรับพำนักเท่านั้น ต่อมาจึงมีวิวัฒนาการสร้างเป็นวัดอย่างถาวรหรือเป็นตึกในปัจจุบัน แต่ก็ยังมีให้เห็นอยู่เช่น โบสถ์วัดสวนโมกข์ และวัดสวนแก้ว

          ในพระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ข้อที่ ๑๕๗, ๑๗๓-๑๗๖ หน้า ๑๗๒-๑๗๓ พระพุทธองค์ตรัสอนุญาตว่า “เราอนุญาตให้สมมติวิหาร เรือนมุงแถบเดียว เรือนชั้น เรือนโล้นหรือถ้ำ ที่สงฆ์จำนงให้เป็นโรงอุโบสถได้” ในครั้งพุทธกาลไม่มีวัดอาศัยเหมือนปัจจุบัน แต่ให้อยู่ตามป่า โคนไม้ ในถ้ำ เมื่อสาวกออกไปเผยแผ่ธรรม จึงอยู่ลำบาก เมื่อเดินทางไกลห่างออกไป ยิ่งเกิดความลำบากมากขึ้น ต่อมาจึงมีประวัติการสร้างวัดแห่งแรกคือ พระเจ้าพิมพิสารที่ปกครองแคว้นมคธ ได้ถวายสวนป่าไผ่และได้สร้างวัดเรียกว่า “วัดเวฬุวนาราม” เป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา แต่ระเบียบการสร้างไม่ได้กล่าวไว้ชัดเจน อีกกรณีหนึ่งที่ปรากฏในพระไตรปิฎกคือ พระมหากัสสปะเดินทางจากอินทกวินทวิหาร เพื่อเดินไปเมืองราชคฤห์ เพื่อไปทำอุโบสถ ระหว่างทางเกือบถูกน้ำพัดไป ทำให้ผ้าเปียกชุ่ม พระสงฆ์จึงกราบทูลพระพุทธเจ้า พระองค์จึงอนุญาตให้สมมติสีมาให้มีเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน และสมมติที่นั้นเป็นที่อยู่โดยไม่ปราศไตรจีวร บางที่อาศัยที่พระราชาถวายแล้วก็กลายเป็นที่พักของพระสงฆ์ไป ไม่เหมือนในปัจจุบันที่มีระเบียบเป็นขั้นเป็นตอน   

          คำว่า อุโบสถ พระพรหมคุณาภรณ์ บอกว่า มาจากคำเต็มว่า อุโบสถัคคะ แปลว่า โรงอุโบสถ ส่วนพระธรรมกิตติวงศ์กล่าวว่า “เป็นที่ประชุมสงฆ์ เพื่อทำสังฆกรรม” มี ๓ คำที่แตกต่างคือ อุโบสถ หมายถึง สถานที่พระสงฆ์ทำสังฆกรรม พระอุโบสถ หมายถึง สถานที่เป็นพระอารามหลวง ที่ได้รับพระราชทานวิสูงคามสีมา และคำว่า โบสถ์ เป็นภาษาชาวบ้านที่พูดกันทั่วไป หมายถึง สถานที่ทำสังฆกรรม  พระมหาชัยวุธ ฐานุตตฺโม วัดยางทอง สงขลา ป.๗ วิเคราะห์ว่า อุโบสถ มาจากคำว่า อุป แปลว่า อยู่ใกล้ เข้าใกล้ วส แปลว่า อยู่ ส่วน เป็นปัจจัยปรุงรากศัพท์ ฉะนั้น คำว่า อุโบสถ จึงแปลได้ว่า การเข้าใกล้ อยู่ในที่มั่นคง  แต่ก่อนคำนี้มีความหมายได้หลายนัยเช่น เป็นสถานที่ประชุมสงฆ์ เป็นการเข้าจำวัด การรักษาศีลในวันพระ เป็นวันพระและเป็นวันลงปาติโมกข์  ดังนั้น คำนี้มิใช่สถานที่ แต่เป็นเรื่องสังฆกรรมประจำทุกๆ ๑๕ วัน ต่อมาจึงมีการกำหนดเขตขึ้นมาเรียกว่า อุโบสถ ตามรากศัพท์คำนี้ แปลว่า ยาที่เข้าถึง เข้าใกล้ อุป แปลว่า ใกล้ ถึง เพ่งอยู่  โอสถ แปลว่า ยา รักษา เช่นคำว่า อุบาสก แปลว่า ผู้เข้าใกล้ (พระรตนตรัย) อุโบสถในปัจจุบันส่วนมากจะก่อสร้างด้วยปูน หิน เหล็ก ไม่ใช่ดิน ไม้ ภูเขาเหมือนแต่ก่อน กระนั้น ก็ยังมีให้เห็นอยู่บ้างเช่น วัดสวนโมกขพลารามและวัดสวนแก้ว นนทบุรี

          คำว่า “พัทธสีมา” หมายถึง เขตที่พระสงฆ์ที่ผูกไว้แล้วด้วยพิธีสังฆกรรม เรียกอีกอย่างว่า ผูกสีมา คำว่า ผูกสีมา เป็นสำนวน คำว่า ผูก หมายถึง สมมติเอาเขตนั้นๆ มิได้หมายถึง การผูก การมัดแต่อย่างใด คำว่า พัทธ แปลว่า ผูกหรือสมมติ ส่วนคำว่า สีมา หมายถึง ขอบเขต เขตแดน พัทธสีมา จึงหมายถึง การผูกเขตขึ้นมาหรือสมมติเอาเขตนั้นๆ นั่นเอง พัทธสีมา มี ๔ ประเภทคือ ๑) ขัณฑสีมา หมายถึง สีมาที่กำหนดขึ้นมาอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะที่อุโบสถ ๒) มหาสีมา หมายถึง สีมาที่กำหนดเอาเขตทั้งวัดนั้นเป็นที่สีมาทั้งหมด มิใช่เฉพาะอุโบสถเท่านั้น ปัจจุบันคือ วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ๓) สีมาสองชั้น หมายถึง มหาสีมากับขัณฑสีมา และ ๔) นทีปารสีมา หมายถึง สีมาที่เป็นแม่น้ำ ลำคลอง มีอีกคำหนึ่งคือที่เกี่ยวข้องกับพัทธสีมาคือ วิสูงคามสีมา คำนี้มาจากคำว่า วิสูง ที่แปลว่า ต่างหาก คาม แปลว่า บ้านเรือน สีมา แปลว่า ขอบเขต ความหมายคือ เขตพระราชทานแก่พระสงฆ์ ที่แยกออกจากบ้านเรือนต่างหาก  โดยมีนิมิตเป็นเครื่องหมายกำหนดขอบเขตสีมา

          ส่วนคำว่า “สีมา” ที่แปลว่าขอบเขตนั้น มีเครื่องหมายคือ  นิมิต เป็นเขตของสังฆกรรม  โดยมี ๒ ชนิดคือ ๑) พัทธสีมา คือ สีมาที่สมมติไว้แล้ว และ ๒) อพัทธสีมา คือ สีมาที่ยังไม่ได้กำหนดสมมติไว้ การกำหนดเอาสีมาที่ไม่ได้ผูก ท่านให้วัดเอาจากศูนย์กลางของเขตนั้นๆ ขยายออกไปด้านละ ๙๘ เมตร ส่วนขอบเขตที่กำหนดเป็นสีมาเพื่อกำหนดเขตอุโบสถ ท่านกำหนดความจุพระสงฆ์ที่นั่งหัตถบาตได้ ๒๑ รูป ถ้าขนาดใหญ่ท่านกล่าวว่า ไม่เกิน ๓ โยชน์หรือราว ๔๘ กม. กว้างกว่านี้ไม่อนุญาต

          ส่วนคำว่า “นิมิต” แปลว่า เครื่องหมาย พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า “ลูกหินกลมๆ เท่าบาตร เป็นเครื่องหมาย เขตอุโบสถ เพื่อทำเป็นเครื่องกำหนดเขตแดนนั้น”  ในพระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ข้อที่ ๑๕๔ หน้า๑๗๒ กล่าวเรื่องถึงนิมิต ๘ ชนิด อรรถกถาอธิบายว่า  ๑) ภูเขา มี ๓ ชนิดคือ เขาปนดิน เขาศิลาล้วน เขาดินล้วน ๒) ศิลา คือ ศิลาแท้หรือเจือแร่ มีขนาดใหญ่เท่าศีรษะโค กระบือ ศิลาแท่งใช้ได้  แต่ห้ามใหญ่เท่าช้าง ส่วนเล็กสุดเท่าก้อนน้ำอ้อย หนัก ๕ ชั่ง (๓๒ ปะละ) หรือศิลาบดทำเป็นภูเขาใช้ไม่ได้ ๓) ป่าไม้ หมายถึง ป่าไม้ที่มีแก่นเช่น ไม้สัก ไม้รัง หรือป่าไม้ที่มีต้นไม้ ๕-๖ ต้น สูงเกิน ๘ นิ้ว  ยกเว้นไม้เปลือกแข็งเช่น ตาลหรือมะพร้าว ๔) ต้นไม้ หมายถึง ไม้มีแก่น สูง ๘ นิ้ว โตอยู่กับที่และยังเป็นอยู่ อยู่ในกระถางใช้ไม่ได้ ๕) จอมปลวก หมายถึง จอมปลวกที่สูงเกิน ๘ นิ้ว ใหญ่เท่าโค กระบือ ๖) หนทาง หมายถึง ทางเดิน ทางเกวียน ยกเว้นทางที่ไม่ใช้แล้วและทาง ๔ แพร่ง ๗) แม่น้ำ หมายถึง แม่น้ำที่ไม่ขาดสายหรือน้ำที่ตักใส่หลุมพอสวดญัตติจบหรือแม่น้ำที่เกิดจากฝน ขังอยู่ได้ ๔ เดือน ลึกพอเปียกอันตรวาสกพระได้ แต่ไม่อนุญาตน้ำที่เป็นคลองชลปทานหรือน้ำที่กำหนดได้หลายทิศ ๘) น้ำ หมายถึง น้ำนิ่ง เช่น บึง หนอง นิมิตทั้งหมดนี้ สามารถนำมาทำเป็นนิมิตสีมาได้ตามพระวินัย จะใช้ ๔ ลูกหรือ ๘ ลูกก็ได้ แต่ปัจจุบันนิยมใช้ หินกลมๆ เป็นเครื่องหมาย มี ๙ ลูก

          การใช้ลูกนิมิตเป็นเครื่องกำหนดเขตรอบอุโบสถ ท่านกำหนด เอาสี่ทิศ ปัจจุบัน กำหนดเอา ๘ ลูก ๘ ทิศ โดยยุคหลังผู้รู้ได้ผูกเป็นเรื่องให้เกี่ยวข้องกับพระอรหันต์สาวก ๘ องค์ คือ ลูกที่ ๑ เริ่มต้นทิศตะวันออก (ทิศบูรพา) ผูกเป็นพระอัญญาโกณทัญญะ ผู้ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้รู้ราตรีกาล ผู้มีอายุยืนยาว (เหมาะสำหรับผู้เกิดวันจันทร์ปิดทอง) ลูกที่ ๒ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ (ทิศอาคเนย์) ผูกเป็นพระมหากัสสปะ ผู้ที่ชอบสันโดษ ความสงบ (สำหรับผู้เกิดวันอังคาร) ลูกที่ ๓ ทิศใต้ (ทิศทักษิณ)   ผูกเป็นพระสารีบุตร ที่มีปัญญามาก (สำหรับผู้เกิดวันพุธ) ลูกที่ ๔ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ (ทิศหรดี) ผูกเป็นพระอุบาลี ผู้ที่จำพระวินัยได้แม่น (สำหรับผู้เกิดวันเสาร์) ลูกที่ ๕ ทิศตะวันตก (ทิศประจิม) ผูกเป็นพระอานนท์ ผู้เลิศในทางพหูสูต (สำหรับผู้เกิดวันพฤหัสบดี) ลูกที่ ๖ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (ทิศพายัพ) ผูกเป็นพระควัมปติ ผู้เลิศในทางเอกลาภและรูปงาม (สำหรับบูชาพระราหู) ลูกที่ ๗ ทิศเหนือ (ทิศอุดร) ผูกเป็นพระมหาโมคคัลลานะ ผู้เลิศในทางฤทธิ์ ความสำเร็จไว (สำหรับผู้เกิดวันศุกร์) ลูกที่ ๘ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (ทิศอีสาน) ผูกเป็นพระราหุล ผู้เลิศในทางการศึกษา (สำหรับผู้เกิดวันอาทิตย์) ลูกที่ ๙ กลางอุโบสถ (ลูกนิมิตเอก) หมายถึง พระพุทธเจ้า ผู้เป็นประธานสงฆ์ (บูชาพระเกตุ)

          อย่างไรก็ตาม การที่คณะสงฆ์ผูกพัทธสีมาและฝังลูกนิมิตนี้    มีจุดประสงค์ที่สำคัญใน    ทางสังฆกรรมนั่นเอง ส่วนสังฆกรรมที่พระสงฆ์จะต้องแสดงในอุโบสถเท่านั้น มีหลายอย่างเช่น การสวดปาติโมกข์ อุปสมบท สวดกฐิน ที่ต้องใช้องค์สงฆ์ ๕ รูปขึ้นไป สวดอัพภาน ใช้สงฆ์ ๒๐ รูป และพิธีกรรม รวมทั้งการประชุมทางคณะสงฆ์อื่นๆ ด้วย ซึ่งสังฆกรรมดังกล่าว ต้องทำเฉพาะพระสงฆ์และเฉพาะที่เท่านั้น ดังนั้น พระสงฆ์จึงจำเป็นต้องกำหนดเขตหรือสีมาเฉพาะ ก่อนจะสร้างอุโบสถต้องได้รับการสมมติเป็นที่ปลูกสร้างให้ถูกต้องทางพระวินัยและทางอาณาจักรด้วย

          ส่วนที่พูดกันถูกบ้าง ผิดบ้างมาจากภาษาในพิธีกรรมทางศาสนา คำต่างๆ ที่ปรากฏในงานผูกพัทธสีมา ฝังลูกนิมิตคือ คำว่า ผูก หมายถึง สมมติ สีมาหรือสิม หมายถึง เขตหรือแดนหรือขอบเขต พัทธสีมา หมายถึง ขอบเขตที่ผูกไว้หรือสมมติไว้เรียบร้อยแล้ว อพัทธสีมา หมายถึง สีมาที่ไม่ได้ผูกไว้ ไม่ได้สมมติไว้ สมมติสีมา หมายถึง การกำหนดเอาเขตนั้นๆ เป็นสีมา วิสูงคามสีมา หมายถึง สีมาที่ได้รับพระราชทานให้เป็นเขตที่พระสงฆ์ทำสังฆกรรมได้อย่างอิสระ โรงอุโบสถ หมายถึง คำที่เรียกอุโบสถในพระไตรปิฎกสมัยพุทธกาล อุโบสถ หมายถึง เขตที่ผูกพัทธสีมาแล้ว พระอุโบสถ หมายถึง สีมาที่ยกขึ้นเป็นวัดหลวงหรืออารามหลวง โบสถ์ หมายถึง คำเรียกอุโบสถของชาวบ้านทั่วไป นิมิต หมายถึง เครื่องหมาย สัญลักษณ์บอกให้รู้ ฝังลูกนิมิต หมายถึง การฝังลูกหินกลมๆ ที่ได้รับการสมมติให้เป็นเครื่องกำหนดเขตแดนแห่งสีมา ฝังไว้ใต้ดิน รอบอุโบสถ ปิดทองลูกนิมิต หมายถึง การนำลูกหินกลมๆ มาทายาเพื่อปิดทองคำเปลว เพื่อทำเป็นลูกนิมิต กำหนดเขตสีมา วัด หมายถึง ที่อยู่ของพระสงฆ์ ที่ได้รับการรับรองจากทางพุทธจักรและอาณาจักรโดยมีอุโบสถเป็นแกนกลาง มี ๒ ชนิดคือ วัดราษฎร์และวัดหลวง

         สำนักสงฆ์ หมายถึง ที่พำนักของพระสงฆ์ที่ไม่มีอุโบสถ แต่ได้รับการรับรองจากอาณาจักรและพุทธจักร  ผูกพัทธสีมา หมายถึง การสมมติเอาที่ใดที่หนึ่งเป็นเขตสีมาอุโบสถ โดยกำหนดเอานิมิตเป็นแดนขอบเขต  สังฆกรรม หมายถึง กิจกรรมที่พระสงฆ์กระทำกันในอุโบสถเช่น อุปสมบท ปาติโมกข์ พิธีกรรม หมายถึง พิธีที่ว่าด้วยกิจกรรมทางศาสนา สวดถอน หมายถึง การสวดด้วยญัตติทางพุทธศาสนา กระทำโดยพระสงฆ์ ทักนิมิต หมายถึง การทัก การถาม ผู้รู้ว่า ทิศไหนอยู่ทางไหน มีอะไรเป็นเครื่องบอก ตัดหวาย หมายถึง การตัดหวายที่อุ้มลูกนิมิต เมื่อสิ้นสุดการทางสังฆกรรมแล้วด้วยมีด

          อานิสงส์การปิดทองลูกนิมิต ผลที่เกิดจากการปิดทองลูกนิมิต ในอรรถกถากล่าวไว้ ๖ ประการคือ  ๑) สุขภาพไร้โรค ปลอดภัย ไร้อันตราย ๒) ไม่เกิดในตระเกิดต่ำ ๓) เมื่อสิ้นบุญสู่ปรโลกก็จะได้เป็นเทวดา ๔) หากเกิดในโลกมนุษย์ จะได้เป็นกษัตริย์ ๕) มีผิวพรรณผ่องใส ๖) มีอายุยืนยาว อย่างไรก็ตาม ในอรรถกถาก็ไม่ได้บอกว่า ชาตินี้จะเกิดผลอย่างไรบ้างผลปัจจุบันจะเกื้อกูลชีวิตอย่างไร

          สำหรับผู้เขียนเชื่อว่าอานิสงส์น่าจะเกิดผลดังนี้ ๑) ได้ส่งเสริมให้กิจกรรมทางศาสนาสะดวกขึ้น ๒) สร้างความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับวิถีชีวิตให้ดำเนินไปในทางที่ถูกต้อง ๓) ได้จรรโลงจิตใจให้อยู่ในหลักธรรมคำสอนที่ดีงาม ๔) เป็นการวางรากฐานด้านถาวรวัตถุให้ยืนยงต่อไปสู่ลูกหลาน ๕) เมื่อสิ้นบุญไปจะได้เสวยสุขในแดนสวรรค์ ๖) เป็นพื้นฐานในการสะสมบุญในชาติต่อๆ ไป จนถึงพระนิพพาน  พระธรรมกิตติเมธี โฆษกมหาเถรสมาคมมองว่า “จะจริงหรือไม่ ไม่ทราบ แต่ผลทันตาคือ จิตใจเอิบอิ่ม เพราะได้สร้างกรรมดี ที่จะช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสืบไป” ส่วนพระพรหมคุณาภรณ์กล่าวว่า “การทำเช่นนี้ถือว่าเป็น กรรมนิมิตเป็นตัวสำคัญที่จะบอกถึงกรรมที่จะนำจิตไปสู่สุคติได้”

          อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันงานผูกพัทธสีมาทั่วประเทศไทย มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปมาก แทบจะหาร่องรอยเค้ามูลหรือพุทธประสงค์ไม่เจอ เนื่องจากเกิดรูปแบบประเพณีตามสมัยนิยม คือ เป็นงานหาเงินมากกว่าที่จะมุ่งเน้นที่สังฆกรรมอย่างแท้จริง ฉะนั้น จึงเกิดประเพณีที่งอกขึ้นมามากมาย ประเพณีที่งอกขึ้นมาใหม่เช่น ความเชื่อการทำบุญการสร้างอุโบสถ ความศักดิ์สิทธิ์ของหวายหรือมีดที่เกี่ยวข้องกับลูกนิมิต เป็นที่ขอพร ขอโชคจากการไหว้พระประธาน ลูกนิมิต โพธิ์เงิน โพธิ์ทอง แสวงหาวัตถุมงคลเป็นที่ระลึกในงานเช่นนี้ ผ้าป่าลอยฟ้าฯ โดยเฉพาะผู้จัดงานมุ่งเน้นในวันตรุษจีน เพื่อสนองผู้คนที่ชอบสัญจรแสวงบุญในช่วงนี้ และจึงเป็นโอกาสหาปัจจัยได้มากขึ้น หรือขายที่ให้พ่อค้าได้ขายอาหาร ขายของชำร่วยด้วยฯ

          ประเพณีนวนิยมที่เกิดขึ้นมาเช่นนี้ พระพรหมคุณาภรณ์ได้กล่าวว่า เป็นงานงอกหรือเพี้ยนไปจากพระวินัยและไม่สามารถสร้างสารประโยชน์หรือเข้าใจแก่นแท้ในหลักธรรมคำสอนแก่ผู้ร่วมงานอย่างแท้จริงเลย จนวัดได้กลายเป็นเวทีแข่งขันกันสร้างอุโบสถว่าใครใหญ่หรือได้เงินมากกว่ากัน ท่านเสนอว่า ควรจะทำป้ายสุภาษิตให้ผู้มาปิดทองอ่าน เพื่อจะได้เตือนสติหรือให้เกิดประโยชน์ในเชิงข้อคิด ข้อธรรมบ้าง ท่านกล่าวเตือนว่า แทนที่การฝังลูกนิมิตจะให้จิตพัฒนา สู่ปัญญาธรรม แต่กลับมาหลงแต่คำว่า ได้บุญ ได้กุศลเท่านั้น



โดย ส.รตนภักดิ์ :๒๕๕๖

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น