วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2556

เสรี จนเสียรู้

                                             

                               "เสรี จนเสียหลัก" (lost freedom)


            ปัจจุบันพฤติกรรมของคนไทยกำลังไหลไปสู่การเรียกร้องระบบเสรีนิยม เพื่อให้เหมือนกับอารยธรรมแบบสากล เช่น ประเทศฝรั่งเศสได้ใช้คำเกี่ยวกับเสรีภาพว่า "เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ" อเมริกาก็เน้นคำว่าเสรีภาพ จึงมีเทพีเสรีภาพ และกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งประเทศเสรีภาพ และต้นศตวรรษที่ ๑๙ ก็เกิดกระแสเรียกร้องเสรีภาพด้านปัจเจกชนขึ้นมา เดวิด ฮูม ก็ได้กล่่าวถึงบทบาทของเสรีภาพของพลเมืองด้วย รวมทั้งรุสโซ ที่กล่าวถึงเสรีภาพด้วย การที่มนุษย์เรียกร้องเสรีภาพ อาจเนื่องมาจากการปกครอง การกดขี่ การเรียกร้องสิทธิของตนเองว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนควรเรียกร้องสิทธิส่วนตัวของตัวเอง ทุกคนมีสิทธิ มีเสรีภาพตั้งแต่เกิด แนวคิดนี้โดดเด่นมากในยุคหลังโมเดิน เพราะเรียกร้องเสรีภาพในแง่ส่วนตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ในสมัยกรีกก็เกิดกระแสในแบบปัจเจกบุคคลมาแล้วคือ แนวคิดของกลุ่มโซฟิสต์ ฉะนั้น เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างไร หากแต่เป็นแค่เหล้าเก่าในขวดใหม่นั่นเอง
           
                   ส่วนปัจจุบันคำว่า เสรีภาพ เกิดการแปรความหมายไปจากความหมายเดิมอยู่มาก คือ ตีความเอาตัวเองเป็นบันทัดฐานหรือเข้าข้างตัวเองมากไป ทำให้ไม่สนใจหรือไม่ใส่ใจว่าใครจะเสียหรือจะได้รับความเสียหายอย่างไร   หากเราแสดงเสรีภาพมากเกินไปจนไร้ขอบเขต เสรีภาพในบุคคลนั้นก็จะเกิดปัญหาได้ เนื่องจากว่า เป็นการใช้เสรีภาพเกินขอบเขตของสังคม จุดเริ่มต้นในการใช้เสรีภาพที่นำไปสู่การเสียศูนย์ความเป็นเสรีภาพคือ เกิดจากปัจเจกบุคคล โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ใช้ชีวิตแบบอิสระ โดยไม่สนใจผลเสียตามมา การใช้เสรีภาพที่บกพร่องของวัยรุ่นจะเกิดผลกระทบแก่ตนเองและชุมชนประเทศชาติ เช่น การใช้เสรีภาพในเรื่องส่วนตัว อยากกิน อยากเที่ยว การแต่งตัว การใช้เงินทอง การร้อง อยากทำ ตามใจตนแบบไร้ขอบเขต ผลเสียย่อมบังเกิดขึ้นแน่นอน เอาแค่นั้นการกินโดยไม่รู้จักขอบเขต เสรีภาพเกินพอดี โรคภัยจากการกินก็เกิดขึ้นได้ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน โรคหัวใจ กินเหล้า ก็เกิดโรคตับฯลฯ การแต่งตัวแบบอิสระโดยไร้จิตสำรวมในเรื่องกาล เทศะ  อาจเป็นเหตุให้เกิดการข่มขืนได้ หรือการพูดจนเกินขอบเขตก็อาจเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันได้ง่ายด้วย นี่คือ เสรีภาพที่เกินขอบเขต แล้วจะใช้เสรีภาพให้อยู่ในกรอบ กติกาของสังคม ชุมชนอย่างไร  

                   ๑. เสรีภาพอยู่ไหน ก่อนอื่นจะถามว่า ท่านรู้หรือไม่ว่า เสรีภาพอยู่ที่ไหน หากไม่รู้ท่านจะใช้เสรีภาพอย่างไร เพื่ออะไร ซึ่งนั่นเราจะต้องศึกษาประวัติความเป็นมาของเราเองว่า เราเกิดมาอย่างไร วิวัฒนาการในด้านการปกครองอย่างไรแล้วนำไปสู่การเรียกร้องเสรีภาพให้แก่ตัวเอง ในแง่ใดบ้าง เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องขั้นพื้นฐานในการด้านรัฐศาสตร์ ซึ่งนักปกครอง นักบริหารสังคมต้องเรียนรู้ กระนั้น ในด้านปัจเจกบุคคลก็ควรจะรับรู้ไว้บ้าง ให้เข้าใจในบทบาทหน้าที่ เสรีภาพของตนเอง เสรีภาพโดยธรรมชาติเกิดมาพร้อมตั้งแต่เราเกิด เช่น เรามีอิสระที่จะเดิน จะกิน จะพูด จะทำ หายใจได้เอง คิดเองได้อย่างเสรี แต่ภาวะเสรีนี้ต้องอยู่ภายใต้กฏ กติกาของสังคมนั้นๆ เมื่อไหร่ก็ตามเราอยู่กับคนอื่น ตั้งแต่สองคนขึ้นไป เสรีภาพย่อมถูกจำกัด เนื่องจากว่า เราไม่อาจใช้มือ เท้าของตนไปทำร้ายใครต่อใครได้อย่างอิสระเสรีตลอดเวลา เราจึงมีกติกาทางสังคมเป็นหลัก เมื่อเรามารวมกันเป็นกลุ่ม เป็นชุมชนก็ต้องมีกฏของชุมชนนั้นเป็นหลัก เมื่อรวมกันอยู่เป็นประเทศก็มีกฏเป็นหลักนั่นคนคือ กฏรัฐธรรมนูญ  เป็นแม่แบบแห่งชาติ เมื่อเราถูกกฏหมายครอบงำ แล้วเราจะใช้เสรีภาพได้ไหม คำตอบคือ ได้ ในขอบเขตของกฏหมาย นอกจากนั้น เรายังมีกฏศีลธรรม ค้ำจุ้นเราอยู่อีก เพื่อเตือนใจ มิให้กระทำหรือแสดงออกจนเลยเถิดหรือเกินขอบเขตของกันและกัน ยิ่งกว่านั้น เรายังต้องตระหนักถึงกฏ กติกา มารยาทในกิจกรรม ในกาละ เทศะ บุคคลต่างๆ ว่าเราจะแสดงออกหรือไม่แสดงออกอย่างเหมาะสมอย่างไร ควรหรือไม่ควรอย่างไร
      
                    ฉะนั้น มันเหมือนกับว่าเรากำลังหมดเสรีภาพลง ทำอะไรก็ผิดไปหมด ยิ่งปัจจุบันดูเหมือนว่าเรากำลังมีกฏหมายต่างๆ ออกมาเพื่อเอาผิดกันมากมาย แต่ละองค์กร บริษัท ชุมชน กรม กระทรวง ล้วนแต่มีกฏ กติกา มารยาททั้งสิ้น แม้แต่เล่นยังต้องมีกฏ กติกา เช่น การเล่นฟุตบอลเป็นต้น  นี่ยังไม่กล่าวถึงบุคคที่อยู่กรอบของศาสนาที่ต้องมีกฏ วินัย มีศีลธรรมที่เข้มงวดกว่าฆราวาสอีก แล้วทำไมพวกเขาจึงสามารถอยู่ได้ หรือไม่เรียกร้องเสรีภาพของตนเอง การใช้ชีวิตของมนุษย์ในยามปกติก็จะไม่ตระหนักถึงเสรีภาพ เพราะเราดำเนินชีวิตไปตามกฏกติกาของสังคม แต่เมื่อไหร่เราละเมิดกติกา กฏหมายของสังคม เช่น ไปฆ่าคนตาย ทำร้ายคนอื่น ลักขโมยของใครเข้า เมื่อเจ้าหน้าที่จับได้ เขาก็จะถูกจับใส่กุญแจมือและนำไปขังไว้ในคุก ซึ่งจะรู้สึกสูญเสียเสรีภาพทันที หากทำผิดร้ายแรงเขาอาจถูกประหารชีวิต นั่นแสดงว่า เขาใช้เสรีภาพเกินไปหรือไม่ ในกรณีอื่นเช่น บุคคลที่ถูกกดขี้ กดดัน ดูถูก หรือเป็นลูกจ้าง อาจถูกดันเหมือนกำลังถูกริดรอนด้านเสรีภาพ ดังนั้น จึงควรหันมาสนใจตั้งคำถามว่า เสรีภาพอยู่ที่ไหน เราจะใช้มันอย่างไรให้เกิดคุณ ไม่เกิดโทษแก่ตนเอง  
                 ๒. กฏ ศีลธรรม มนุษย์ควรยึดเอากฏ กติกา เป็นที่พึ่งพิงบ้าง กฏ กติกา มารยาท หรือกฏศีลธรรมจะเป็นเครื่องป้องกันซึ่งกันและกัน แม้ในระยะแรกกฏเหล่านี้จะจำกัดสิทธิของเรามิให้ทำโน่นนี่ก็ตาม แต่นั่นเป็นการห้ามมิให้คนอื่นใช้เสรีภาพของเขามาละเมิดสิทธิ์ส่วนตัวของเราเช่นกัน หากสังคมใดปราศจากกฏ กติกา ศีลธรรมของสังคม ประชาชนก็จะเดือดร้อนเพราะพฤติกรรมของผู้คนนั่นเอง ซึ่งแน่นอนไม่มีใครชอบอยู่ในภาวะจำกัดเสรีภาพ แต่เสรีภาพในด้านสังคมต้องอยู่บนพื้นฐานที่ไม่มีเสรีภาพแบบสมบูรณ์หรือแบบอิสระเกินตัว เพราะผู้ที่เรียกร้องเสรีภาพแบบไร้ขอบเขต นั่นหมายความว่า ไม่ใช่โลกเสรีแน่นอน ในอเมริกา คือ สัญลักษณ์แห่งโลกเสรี แต่ก็มีข้อจำกัดมากมายเช่นกัน เสรีภาพที่ว่า มันอยู่บนกฏหมายที่ละเอียดยิบ แล้วมันเสรีภาพส่วนไหน คำตอบคือ การแสวงหาความรู้ การค้า การแสดงความคิดเห็น การแสดงออกในด้านการนับถือ แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ก็อยู่บนฐานความถูกต้องเสมอ ปัญหาของสังคมก็อยู่ตรงที่การใช้เสรีภาพก้าวล้ำสิทธิ์คนอื่นหรือละเมิดเสรีภาพคนอื่น แม้จะมีกฏหมายตราไว้ก็ตาม ดูเหมือนผู้คนไม่ค่อยหวาดกลัวกัน ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงต้องอาศัยอาวุธมาป้องกันทรัพย์สิน ชีวิตของตนเอง คิดดูหากแต่ละคนไม่เกรงกลัวกฏหมายบ้านเมือง พกอาวุธเที่ยวก่อความเดือดร้อนให้ใครต่อใครหรือใช้อาวุธข่มขู่เอาทรัพย์สินเงินทอง ย่อมก่อให้เกิดความวุ่นวายแก่สังคมอย่างแน่นอน
                 อย่างไรก็ตาม กฏหมายก็มีทางออกให้แก่ผู้ไม่มีเจตนาทำผิด หรือมีทางออกเพื่อปกป้องคนที่ถูกกลั่นแกล้งหรือคนที่อ่อนแอหรือคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการของรัฐ เรียกว่าทนายความหรือศาล องค์กรที่ว่านี้เป็นองค์กรที่จะแก้ต่างหรือทำหน้าที่แทนผู้กระทำผิด และผู้ถูกกลั่นแกล้ง แต่ก็นั่นแหละความยุติธรรมสำหรับคนจนแทบจะไม่มี คนที่รอดจากการจับกุมของเจ้าที่หน้าของรัฐคือ คนรวยหรือเจ้าหน้าที่เอง นี่คือ สาเหตุหนึ่งที่เรียกร้องกันในสังคมในเรื่องความยุติธรรม ที่กล่าวนี้กล่าวถึงบริบทของสังคมที่มีกฏหมายเป็นหลัก ซึ่งกฏหมายเหล่านี้อาศัยมนุษย์เป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งไม่ได้เป็นมาตรฐานที่จะรับรองในความยุติธรรมแก่ทุกคน เนื่องจากมนุษย์มีจุดอ่อนในเรื่องการเห็นแก่ตัว เห็นแก่ประโยชน์จากกิจกรรมในสังคมที่สัมพันธ์กันนั่นเอง บางทีนี่คือ เส้นทางที่อุดมไปด้วยผลประโยชน์อย่างเป็นล่ำเป็นสัน แต่มีกฏหนึ่งที่ไม่อิงอาศัยมนุษย์ขับเคลื่อนนั่นคือ กฏแห่งกรรม กฏตัวนี้เป็นกฏเฉพาะที่ทุกคนต้องได้รับเอง ไม่มีตำรวจ ไม่มีทนาย ไม่มีคนใดได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ เป็นกฏที่ยุติธรรมที่สุด แต่ก็นั่นแหละ กฏนี้ไม่แสดงผลตามใจมนุษย์ จึงทำให้มนุษย์ไม่ค่อยหวาดเกรงเท่าไหร่

                 ๓. เสรีภาพบนกฏ การที่มนุษย์เรียกร้องหาความอิสระ ย่อมหมายความว่า ขาดความอิสระในตัวเอง ความอิสระไม่ได้อยู่ที่การไม่มีกฏหมายใดๆ หรือมีกฏหมายที่มอบสิทธิให้เรามีเสรีภาพเหมือนรัฐธรรนูญตราไว้ว่า ทุกคนเกิดมาย่อมมีเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเหมือนกันทุกคน แต่ในเวลาปฏิบัติ ความแตกต่างระหว่างคนจน คนรวยก็ยังคงแตกต่างกันเช่นเคย ในแง่ศาสนาบอกว่า มนุษย์เกิดมาจากพระเจ้า พระพรหมหรือกรรมเป็นผู้ให้กำเนิด  นั่นหมายความว่า เราไม่ไมีเสรีภาพมาตั้งแต่ก่อนเกิดด้วยซ้ำไป แต่นักปรัชญาบางกลุ่มบอกว่า เราเกิดมาพร้อมกับเสรีภาพ แต่รุสโซ่มองว่า เราเกิดมาพร้อมด้วยเสรีภาพก็จริง แต่กลับต้องถูกล่ามโซ่อยู่ทุกๆ ที่อยู่ดี ส่วนในแง่จิตวทิยา ซิกมัน ฟอร์ยด์ บอกว่าเราเกิดมาพร้อมด้วยยีนแห่งสัญชาตญาณดิบทุกคน ในขณะศาสนาพราหมณ์มองว่า ชีวิตมีอัตมันน้อยสิงอยู่ภายใน และคอยก่อกวนมิให้เราอิสระ ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราเกิดมาเพื่อกำจัดเยื่อใยที่ห่อหุ้มสุมใจเราอยู่ มิให้อิสระ ด้วยวิธีต่างๆ นานา ชาวคริสต์เองก็โหยหาผู้นำ (เมตสิอะห์) อยู่ในยีนทุกรุ่น แม้กระทั่งปัจจุบัน ก็ยังโหยหาผู้นำด้านจิตวิญญาณอยู่ มนุษย์ทุกคนจึงเหมือนกำลังโหยหาผู้นำชีวิต นำพาสังคม ต่อมาจึงกลายเป็นกษัตริย์หรือประธานาธิบดีหรือนายกฯ ในที่สุด แต่ในโลกแห่งจิต เราต้องการอะไร ชาวพุทธเหมือนกำลังกำจัดสิ่งที่อยู่ในใจของตัวเอง ให้กลายเป็นจิตที่อิสระเสรีหรือหลุดพ้นจากวังวนแห่งวัฏจักร คือ การเกิด การตาย  ทั้งหมดนี้ก็ต้องผ่านกระบวนการของโลกนั่นคือ กฏ นั่นเอง
                 คำว่า กฏ พุทธทาสแปลว่า God หมายถึง ผู้กำหนดชีวิต พุทธศาสนากล่าวว่า นิยาม กฏ คือ ทิศทางหรือแนวทางของธรรมชาติที่สรรพสิ่งต้องดำเนินไปสู่เช่นนั้น เช่น กฏของกาลเวลา กฏของแรงโน้มถ่วง กฏของการหมุนวน กฏหมาย กฏต่างๆ เหล่านี้ เป็นกฏที่สัตว์ สิ่งมีชีวิตต้องสยบยอม แม้ไม่ชอบก็ตาม ส่วนกฏที่ใกล้เคียงกับการดำเนินชีวิตคือ กฏหมายบ้านเมือง กฏของฤดูกาล กฏของการอยู่ การกิน การบำบัด ซึ่งสัตว์กำลังดำเนินไปอยู่ หน้าที่หลักของการดำเนินชีวิตคือ การเอาตัวรอด หรือให้มีเสรีภาพในการอยู่บนโลกนี้ไปยาวนาน ส่วนการเรียกร้องทางจิตใจ เพื่อให้เกิดความอิสระทางจิตใจ มิให้เกิดความกดดันหรือเป็นทุกข์หรือตีบตัน เราจะต้องเริ่มต้นแบบใด อันนี้ต้องเริ่มกระบวนการเป็นขั้นตอนและมีเงื่อนไขอยู่ในทุกสถานที่ เพราะต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า เราเกิดมาในเงื่อนไขที่ไม่อาจจะยกเว้นให้ เป็นเหมือนกฏตายตัวที่เราไม่ได้กำหนดเอง จึงต้องทำใจยอมรับความเป็นจริงที่เรามีปมด้อยในชีวิตตั้งแต่เกิดแล้ว กระนั้น เราก็สามารถมีอิสระได้ด้วยกฏ หรือเงื่อนไขทางสังคม แต่ถ้าเราต้องการเสรีภาพแบบสมบูรณ์แบบ ก็ต้องดิ้นรนให้สุดโต่งตามหลักศาสนานั่นคือ นิพพาน  แต่กายของท่านก็ยังสัมพันธ์อยู่กับโลกอยู่ดี ในที่นี่ จิตเราหลุดพ้นแล้ว กายจะดำเนินไปเช่นไรก็ให้มันดำเนินไปตามบาทวิถีของมัน 

                ๔. เสรีภาพที่สมบูรณ์แบบ คือ เสรีภาพแบบนี้เป็นภาวะที่สุดเหนือภาวะทั้งปวง มันเหมือนกับคนบ้า ซึ่งแสดงออกเหนือการรับรู้โลกสมมติ แต่แสดงออกไปตามอิสระที่ต้องการ โดยไม่ติดกรอบอะไร แต่ก็ใช้ว่าจะกระทบกฏหรือไปเสียดแทงกับใคร ไม่ใส่ใจกับคนบ่นด่าหรือคำพูด คำชม คำสรรเสริญ ปล่อยให้ใจไหลไปตามยถาธรรม ที่ไม่ฝืน เหมือนยืนบนยอดเขา ลักษณะที่ว่านี้เหมือนนักคิด นักศิลปิน ที่มักปล่อยกาย ปล่อยใจให้ดำเนินไปตามจินตนาการของตน แต่สภาวะหรือคุณภาพทางจิตใจมีความสมบูรณ์ในความเป็นมนุษย์เกินร้อย ในขณะกลุ่มคนเมืองที่หลงไหล แสดงออกตามแรงดึงดูดของกระแสสังคม แต่งตัว เสพสุข กินเที่ยว เล่น บริโภควัตถุต่างๆ ตามกระแสโลก จนจิตถูกครอบงำด้วยรสนิยมหรือรสชาติของการเสพอุปกรณ์ที่ทันสมัย อย่างนี้ถือว่า อยู่ในโลกเสรีภาพหรือไม่ มันเหมือนกำลังถูกสาปหรืออยู่ในอารมณ์ต้องมนต์ที่อบอวนอยู่ จนนิยามตัวเองไม่ถูก จนกว่าจะเสพสิ่งนั้น จนอิ่มเอมและอ๊วกออกมา เมื่อถึงวัยกลางคน เวลานั้นจะนิยามเสรีภาพได้เองอย่างชัดเจนว่า มันเสรีภาพแบบสุดโต่งหรือไม่
                 ดังนั้น คำว่า เสรีภาพที่ผู้คนเสพอยู่ อาจแยกไม่ได้ระหว่าง เสรีภาพกับความต้องการส่วนตัว หรือความว่างเปล่ากับเสรีภาพทางจิต หากเปรียบเทียบระหว่างจิตที่อิงกฏที่อยู่บนความระวัดระวังมิให้ปล่อยจิตเสียดุลในการควบคุม กับจิตที่เรียกร้องหาสิ่งที่ต้องการอย่างเสรีอย่างไร้ขอบเขต อันไหนสุภาพและยั่งยืนกว่ากัน อนึ่ง คำว่าเสรีภาพทางจิต หมายถึงในปัจจุบันขณะหรือหมายถึงการสิ้นสุดในโลกหน้า ตามพุทธคติที่ว่าไม่เกิดหรือตายอีกต่อไป แต่ใครจะวางอุดมคติเช่นนี้ได้ ดูแล้วมันไม่สนุก ไม่ตื่นเต้นเลย สู้มีอิสระเสรีแบบตามใจตัวเองเหมือนลัทธิจารวากดีกว่าเยอะเลย  
โดย ส.รตนภักดิ์ : ๒๕๕๖

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น