วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

มีเงิน มีอำนาจจริงหรือ

                                 "เงินคือ พระเจ้าจริงหรือ"

                              ๑) เงินคืออะไร
                              ๒) เป้าหมายความร่ำรวยคืออะไร
                              ๓) เหนือร่ำรวยคืออะไร
                              ๔) แก่นของการโหยหาของใจคืออะไร
          
         ปรากฎเหตุการณ์ของสังคมเมืองที่ผู้คนกำลังอยู่ด้วยความกังวล หวาดผวา และไม่ค่อยปลอดภัยคือ การลักขโมย จี้ ปล้น มีอยู่ทุกหน ทุกแห่ง มีข่าวไม่เว้นแต่ละวัน บ้างเสียทรัพย์ เจ็บตัว เสียชีวิต ทำให้การดำเนินชีวิตไม่ค่อยสงบราบรื่นนัก เพราะต้องคอยระวังอยู่ตลอดเวลา ครั้นจะพึ่งพาตำรวจ เจ้าหน้าที่ ก็เสียเวลาและเสียความรู้สึกที่ต้องวาดหวังวว่าตำรวจจะช่วยได้ จึงต้องหาทางป้องกันตัวเอง ตั้งแต่บ้านต้องมีรั้วล้อมอย่าหนาแน่น บ้านต้องมีประตูแน่นหนา มีกุญแจใส่ มีกล้องวงจรติดไว้จับผู้ร้ายเข้าบ้าน เมื่อออกจากนั้น มีรถที่เป็นที่ส่วนตัว เป็นบ้านเคลื่อนที่ กระนั้น ก็ไม่ปลอดภัยที่ขโมยจะทุบเอาทรัพย์สิน หรืออยู่คนเดียว เดินทางไปไหนมาไหน ก็เสี่ยงที่จะถูกปล้น ถูกจี้ แสดงว่าบ้านเมืองในสังคมเมือง ไม่มีความมั่นคงในทรัพย์และชีวิตแล้วหรือ

          นี่คือ ภาพแห่งความจริงที่สังคมเมืองเผชิญอยู่ทุกวี่วัน เป็นเพราะอะไร จะแก้ไขอย่างไรกัน ปัญหานี้ถูกหมักหมกมานานหลายทศวรรษ เกิดมาจากระบบโครงสร้างทางสังคม สิ่งแวดล้อมและปัจเจกบุคคล ไม่มีอะไรที่เป็นปัญหาที่เป็นประมุขใหญ่ ต่างก็ล้วยอาศัยกัน เกื้อกูลหนุนส่งให้เกิดปัญหาถาวร มองไปทางไหน ระบบใดก็ล้วนเปราะบาง พังเพกันไปหมด จะหาหลักอิงที่เป็นมาตรฐานในสากลของประเทศไม่ได้ ส่วนหนึ่งต้องยอมรับกันทุกคนว่า เราทุกคนคือ ชนวนเหตุของปัญหาทั้งสิ้น จากปัจจัยข้างนอก ไปสู่ปัญหาด้านใน ไม่ต้องโทษหน่วยงานหรือองค์กรใด เพราะทุกคนคือ กลไกหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้เราทำไมไม่แก้ปัญหากัน นั่นคือ คำที่ก้องอยู่ในหัวทุกคน แต่ก็ต้องทน ต้องรอผู้นำสักคนมีแนวคิดที่จะจัดการ สะสางปัญหาเหล่านี้ไปได้ และนั่นคือ ความหวังของเราทุกคนที่รอคอย แต่เมื่อไหร่ละ

          โดยภาพรวมแล้วปัญหาต่่างๆ ในสังคมก็เกิดมาจากสังคมนั่นเองเป็นผู้กำเนิดขึ้น โดยเฉพาะสังคมเมือง เพราะเมืองคือ ต้นแบบของสังคมรอบข้าง ไปจนถึงชนบท เช่น การบริหารงาน การขนส่ง การศึกษา เศรษฐกิจ การเมือง การเงิน สื่อ ฯ ล้วนมาจากแม่แบบจากเมืองที่มีอิทธิพลไปยังท้องถิ่น รวมไปถึงทัศนะ ความคิด กระแส ค่านิยม พฤติกรรม การกิน การอยู่ ความเชื่อ ฯ ล้วนได้รับจากคนเมืองทั้งสิ้น จึงทำให้บ้านเมืองมีปัญหากระจุกอยู่ที่เมืองใหญ่ๆ ทั้งสิ้น เช่น การอพยพเข้าเมือง การหางานทำ เมื่อคนจำนวนกในที่แคบๆ ก็เกิดการแข่งขัน แย่งกัน ทำให้คนช่องว่างในทางโอกาสและศักยภาพ ที่แตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้คนจน คนด้อยโอกาส จึงต้องสำแดงความกดดันและความทุกข์ ที่กดขี่จากคนมีโอกาสทำลาย เป็นเหตุให้พวกเขาต้องฉวยโอกาสแบบผิดระบบหรือละเมิดกฎต่างๆ ของสังคม เพราะเขาเชื่อว่า นี่คือทางที่เขาสามารถอยู่รอดได้ ในขณะคนรวย คนมีอำนาจ คนมีโอกาสที่ดีกว่า เสวยสุข โอ้อวดด้วยวัตถุเคลื่อนที่ จนน่าหมั่นไส้

           เมื่อสังคมเกิดปัญหากระทบกันไปทั่วทุกที่ ก็ไม่มีใครต้องมารับผิดชอบ เนื่องจากว่า สังคมกว้างเกินไปที่จะจำกัดที่ในการสะสางปัญหา ทำให้เกิดความหละหลวมและเกิดภาวะรอยต่อระหว่างความดี ความถูกต้องกับความอยู่รอด ความเสมอภาคขึ้น เมื่อนานเข้าช่องว่างนี้เริ่มขยายกว้างออกไปเรื่อยๆ จึงเป็นเหตุให้เกิดอาชญากรรม ลักปล้นจี้ ฆ่ากัน ยิงกันบ่อยขึ้น เหมือนบ้านเมืองขาดศีลธรรม ไร้กฎหมายบ้านเมือง เมื่อสิ้นความตระหนักในปัญหา ไร้จิตสำนึกในศีลธรรม ไร้สำนึกถึงบาป การสำนึกผิดหรือมโนธรรม ปัญหาต่างๆ ก็จะรุมเร้า บีบคั้นให้การดำเนินชีวิตผู้คนคับแค้นใจ กดดันมากขึ้น จนกลายเป็นปัญหาสังคม ประเทศได้ ในขณะรัฐเข้าใจแต่ว่า การทำให้ประชาชนอยู่ดี กินดี มีรายได้เพิ่มขึ้น ร่ำรวยขึ้น จะสร้างความสงบสุข ความร่มเย็นให้กับสังคมได้ แต่เท่าที่เห็นเป็นเพียงกลไกที่ทำให้รายได้ขององค์กรของรัฐ เอกชน รัฐวิหากิจ มีรายได้เพิ่มขึ้น เก็บภาษีเพิ่มขึ้น จึงนำไปเป็นดัชนี้ชี้วัดว่า ประเทศมั่นคง หรือเศรษฐกิจดีขึ้น นี่ก็เป็นเครื่องชี้ได้ว่า เงินทอง ฐานะที่ร่ำรวยมิใช่เป้าหมายของพลเมืองที่จะอยู่ร่วมกันให้สงบหรือผาสุก

          เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งและซับซ้อนทางจิตใจและเป็นเรื่องคุณภาพด้านสติ ปัญญามากกว่าที่จะเสนอเงินก้อนโตแล้วเขาจะสงบสุข มันเป็นเรื่องที่ถูกล้างสมองมานานแล้วว่า การหาเงินได้มากๆหรือเป็นเศรษฐีแล้วจะมีความสุขหรือทำให้บ้านเมืองร่มเย็น เป็นการปลูกฝังกันมานานแล้ว นายแพทย์ประเวศ วะสี เตือนอยู่เสมอว่า การที่ถือเอาเงินเป็นตัวตั้งนั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่รัฐและชาวบ้านก็ยังมองแต่วัตถุนิยมว่าคือ พื้นฐานของการครองชีวิตให้เกิดความสุข นั่นเพราะชาวบ้านถูกหลอกหรือเห็นแม่แบบจากคนร่ำรวย ขี้รถ มีบ้าน มีอิสระที่ทำอะไรได้ จนเหมือนว่า นั่นคือ อุดมคติของคนจน จึงต้องแสวงหาเงิน หาทอง หาสมบัติให้มากๆ เพื่อจะได้เกิดความสุข ความสบายขึ้น แต่พอครั้นมีเงิน มีทอง มีทรัพย์สมบัติกลับต้องนอนสะดุ้ง อยู่อย่างระวัง กังวลใจอยู่ตลอดเวลา ไม่มีความสุขเลย จึงต้องตั้งทัศนะต่อเงินตราเสียใหม่ว่า เงินคือ อะไรกันแน่ จำเป็นสำหรับเราแค่ไหน ปลอดภัยหรือไม่ถ้ามี

          ๑. เงิน คือ อะไร  "เงิน" ตามทัศนะส่วนตัว คือ สิ่งของที่สมมติ (สัง = ร่วมกัน มติ = ลงความเห็น สัญญา) ร่วมกัน เพื่อนำไปแลกเปลี่ยนสิ่งของหรือกำหนดค่าสิ่งนั้นๆ ชนิดของเงินที่สมมติใช้ในปัจจุบันคือ แร่เงิน แร่ทอง กระดาษพิเศษ (แบงค์) หรือเชค ที่กำหนดเป็นจำนวนราคา ทั้งหมดถูกตราขึ้นมาตามกฎหมาย เพื่อนำไปแลกเปลี่ยนกันได้ ถือว่าเป็นเงินแท้ แต่ตัวมันเองไม่มีค่า ที่กำหนดคุณสมบัติเข้าไปคือ ๑) ตัวเลขที่กำกับบอกว่าเงินนั้นมีค่าตัวเลขเท่าไร ๒) มีกฎหมายรับรองถือว่าถูกต้อง ของแท้ ไม่ใช่เงินปลอม ๓) มีความต้องการของมนุษย์อย่างมาก ของที่ไม่ต้องการจะมีค่าน้อย ยิ่งดีมานด์มาก ของนั้นจะยิ่งมีราคา เช่น น้ำมัน ทอง เป็นต้น ทีนี่เมื่อกำหนดเงินขึ้นมา ผู้คนก็คิดว่า เงินคือ พระเจ้า ผู้ยิ่งใหญ่ ที่จะซื้อหรือแลกเอาอะไรก็ได้ ข้อเสียหรือจุดอ่อนของเงินคือ ๑) ไม่มีค่าในตัวเอง ๒) กินเป็นอาหารไม่ได้ ๓) เมื่อเกิดวิกฤติเช่นสงคราม ภัยพิบัติ เงินเหล่านี้ไร้ค่าไปทันที ๔) เมื่อยู่ในที่ที่ไม่เหมาะสมเช่น ป่า ถ้ำ กลางทะเล นอกอวกาศ เงินทองไร้ความหมายอย่างสิ้นเชิง ๕) เงินทองเหล่านี้ยังเป็นพาหะความโชคร้ายหรือความวิบัติมาสู่ตนด้วย เช่น ถูกจี้ ปล้น ถูกว่าจ้างให้ทำร้ายกันเอง ๖) เงินทองซื้อความสุขของใจไม่ได้ ๗) ซื้อชีวิตใหม่ไม่ได้ ๘) นำติดตัวไปสู่ปรโลกไม่ได้เลย ดังนั้น เงินมีทั้งคุณและโทษ อยู่ที่สติ ปัญญาของเราว่า จะนำไปใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์แก่ตนและคนอื่น

          ๒) เป้าหมายความร่ำรวยคืออะไร  อุดมคติเรื่องความร่ำรวยก็ยังคงสถิตอยู่ในใจของมนุษย์เสมอ จึงต้องวางเจตคติให้ถูกต้องเสียใหม่ว่า เงินมีไว้ทำไร มีเป้าหมายอะไรบ้าง ในวิถีชีวิตดั้งเดิมของมนุษย์สมัยอยู่ป่า อยู่เขา อยู่ถ้ำ ไม่ได้มีวัตถุเหล่านี้เป็นเครื่องมือ มันจึงไม่จำเป็นที่ต้องใช้ และมันก็ไร้ความหมาย เมื่อมนุษย์ออกมาจากป่าเขา มาสร้างบ้านเมือง ครอบครัวในสังคมใหม่ การทำมาหากิน การดำรงชีพต้องอาศัยการพึ่งพากันและกัน จึงจำเป็นต้องหาสิ่งของมาสนองให้เกิดความสัมพันธ์ต่อกันให้มั่นคง นานเข้ามาถึงปัจจุบัน การอยู่ร่วมกัน กลายเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการต่อสู่ดิ้นรนเอาตัวรอด ปลอดภัย เมื่อมนุษย์มากขึ้น การเป็นอยู่ก็ลำบาก แออัดไปด้วยผู้คน จึงเกิดการแย่งชิง การกอบโกย เพื่อตัวเอง เพื่อให้มาซึ่งสิ่งของที่เป็นอาหาร สิ่งของ ข้าวของ สิ่งต่างๆ เพื่ออำนวยแก่ชีวิต มนุษย์จึงรู้การสะสม แสวงหาสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตขึ้น สิ่งของหล่านั้น เมื่อนำไปแลกสิ่งของอื่นๆ ย่อมได้ผลคุ้มค่า มนุษย์จึงรู้จักการแลกเปลี่ยน ซึื้อขายกันขึ้น เงินทอง จึงกลายเป็นลำดับชั้นสูงสุดของการแลกเปลี่ยน เมื่อแลกแล้วก็นำมาบริโภค ใช้สอย แต่สิ่งจำเป็นของชีวิตในแต่ละวันคือ อาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย ชีวิตจึงต้องหาสิ่งเหล่านี้ไว้มากๆ เพื่อรับประกันว่า มีอาหารกินพอ

          ต่อมาเงินทองกลับมีคุณสมบัติเพิ่มขึ้น นั่นคือ เกิดอำนาจต่อรองในเจ้าของ เกิดการยอมรับในฐานะที่มีมาก น่าเคารพนับถือกว่ามีน้อยไป ผู้คนจึงยอมสยบกับคนร่ำรวยไป ทำให้ความต้องการของคนไม่มีต้องอ่อนน้อม ยอมปฏิบัติเยี่ยงทาสต่อคนมี ในที่สุดกลายเป็นอำนาจของเจ้าของ ที่จะใช้คนไม่มีอย่างไรก็ได้ นี่คือ คุณสมบัติที่เกิดมาในยุคใหม่นี้ ดูเหมือนว่า แทบทุกคนจะยอมสยบกับเงินตรา หาน้อยมากที่จะยอมทรยศกับมัน ถ้าหากเจ้าหน้าที่ทำงานไปเพื่อเงินทอง อย่างไม่นำพาเรื่องคุณธรรมหรือไม่สนใจเรื่องจริยธรรมละอะไรจะเกิดขึ้น เราคงได้ยินบ่อยๆ ว่า โกงชาติ ฉ้อราษฎร์บังหลวง ทุจริต ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาจริยธรรมในบ้านเมืองได้ หรือถ้าประชาชนทั่วไปไร้คุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม ไร้จิตสำนึก ทำอะไรไปเพื่อเงินทองละ อะไรจะเกิดขึ้นแก่สังคมบ้าง ทุกวันนี้เราก็พอทราบอยู่ 

          ดังนั้น เป้าหมายที่แท้จริงของเงินทองคือ เพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งของให้แก่ชีวิตดำเนินไปอย่างสะดวกเท่านั้น ส่วนอำนาจ การยอมรับนั่นเป็นสิ่งจอมปลอม เป็นสิ่งที่หาค่าไม่ได้ เป็นค่่านิยมผิดๆ ที่บอกว่า เงินทำได้ทุกอย่าง คนรวยทำอะไรไม่ผิด นั่นแสดงว่าพวกเขาตกเป็นทาสเงินอย่างไร้การไตร่ตรองแล้ว 

            ๓)  การอยู่เหนือเงินทอง เป็นเรื่องยากและค่อนข้างแก้ยากที่สังคมล้วนมีกระแสไปในทิศทางเดียวกันไปหมดแล้ว ไม่เว้นแต่ทางศาสนาด้วย ปัญหาคือ ปริมาณผู้คนเพิ่มขึ้น การทำมหากิน การเอาตัวรอดเป็นเรื่องจำเป็น ขอให้ตนเองรอดก็ได้ โดยไม่สนว่าจะผิดกฎหมายหรือศีลธรรม ไม่ต้องกล่าวเรื่องอุดมคติของชีวิต อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่า ไม่มีทางเป็นไปได้ แม้โลกจะเจริญก้าวหน้าไปไกล และมีผู้คนปริมาณมากก็ตาม ก็ยังมีผู้ที่มีใจที่เด็ดเดี่ยว มั่นคงในอุดมคติในการครองชีวิต โดยไม่อิงกับเงินเป็นหลัก ไม่ยอมเป็นทาสของเงิน อยู่แบบไม่ต้องง้อเงินทองก็อยู่ได้ โดยเฉพาะชนบท ข้าวปลาอาหารคือ สิ่งจำเป็นที่สุด มิใช่เงิน เพราะเงินกินไม่ได้ ส่วนคนในเมืองใหญ่คงยากที่จะหักดิบกับวิถีตนเองให้อยู่ในเงื่อนไขที่สุดโต่งได้ แต่ถ้าทำได้จะสร้างเสรีภาพให้แก่ตัวเองอย่างท้าทายที่สุด ดังนั้น จุดที่พอประนีประนอมคือ ใช้มันให้คุ้ม ไม่จำเป็นต้องถือว่าเงินคือ สิ่งจำเป็น ในเมืองใช่แน่ แต่ควรจะเผื่อใจไว้บ้างในยามวิกฤติหรือยามเดินทางไกล อยู่ในชนบทที่ขาดการแลกเปลี่ยนกัน เพราะเงินจะมีค่าก็ต่อเมื่อเกิดความต้องการ ถ้าไม่มีใครต้องการแล้วมันก็ไร้ค่า ฉะนั้น การอยู่เหนือกฎเกณฑ์ทางสังคม ต้องมองให้ลึกและมองให้เห็นประโยชน์อย่างแท้จริิงของมัน มิใช่แค่ผิวเผิน เพราะที่สุดแล้วมันก็นำไปกับเราหลังตายไม่ได้ เราคิดบ้างไหมว่า เราจะอ่อนแอเมื่อเรามีเงินมากๆ เพราะจะใช้เงินเป็นทาส ในขณะเดียวกัน เรากำลังตกเป็นทาสมันอย่างไม่รู้ตัวเช่นกัน แล้วยังคิดว่าตัวเองยังอิสระอยู่อีกหรือ 

          ๔) แก่นแท้ของการโหยหาเป้าหมายใจ  มองชีวิตให้รอบด้าน และรู้รอบจะพบแก่นสารของการมีชีวิตอยู่ การใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่ก่อให้เกิดความสุข ความจริงได้ แต่ถ้ามัวมองในสิ่งที่มัวเมาและลุ่มหลง ไม่มีทางที่ก้าวพ้นในกับดักใจนี้ได้ หนู แมลง สัตว์ตัวเล็ก มักจะหลงเหยื่อหรือเมาอยาก จนตัวเองติดจั่นหรือกับดักจนตาย มนุษย์คือ  สัตว์ประเภทเดียวที่รู้จักจุดหมายปลายทางของการกระทำของตนได้ และย่อมรู้ดีว่า เป้าหมายของร่างกายมีเส้นทางอย่างไร หากยังมัวเมาในโลกหรือในใจที่หลงใหล สิ่งต่างๆ หรือเยื่อใยในรสชาติของโลกละก็ โลกทัศน์ ชีวทัศน์จะสิ้นสูญอย่่างไร้วิสัยทัศน์ เพราะชีวิตในโลกล้วนปกคลุมไปด้วยมายา ส่วนที่เป็นจริงคือ สิ่งที่ผลึกในสมองที่เรียกว่า ใจ ที่มีคุณสมบัติที่รู้ได้ วิเคราะห์ได้ เรียกว่า ปัญญา  ร่างกายมันต้องการสิ่งปลอบโยนเสมอ ต้องการสิ่งกระตุ้นอยู่ตลอด และต้องเติมเต็มให้มันเสมอๆ ไม่มีวันจบ เว้นเสียแต่สิ้นลม แต่เมื่อร่างกายแก่ชรา เสื่อมสภาพลง ความต้องการ ความอยากก็พลอยลดลง แต่ยังไม่หมดไปอย่างสิ้นเชิง จนกระทั่งกายดับสูญไป นี่คือ เป้าหมายของมัน  แล้วชีวิตนั้นยังมีเยื่อใยหรือมีเป้าหมายอื่นอีกหรือไม่ คำตอบคือ มี ตามพุทธคติ คือ มนุษย์ที่ยังไม่พ้นวัฎต้องเวียนว่าย ตายเกิดอยู่ร่ำไป ดังนั้น ใจหรือจิต ที่ยังไม่พ้นวัฎ จำเป็นต้องเกิดอีกเป็นแน่ แต่แนวคิดนี่เริ่มจะหมดมนต์ขลัง เนื่องจากว่า ยุคใหม่แนวคิดนี้กำลังถูกหักล้างด้วยทางวิทยาศาสตร์ ผู้คนจึงมีอุดมคติแค่โลกใบนี้เท่านั้น แสดงว่าลัทธิจารวากกำลังถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกแน่นอน

           ดังนั้น ทิศทางของเป้าหมายของใจที่โหยหาในขณะยังมีชีวิตคือ ความสงบสุข ความเป็นอิสระ ความเสมอภาคนั่นเอง มิใช่เงินทอง ส่วนเป้าหมายในอนาคตคือ ไปที่ดี (สุ= ดี คติ= ที่ไป) ส่วนมากไปที่สวรรค์ นิพพานไม่ค่อยมี ทั้งสองเป้าหมายมิใช่จะได้ จะมี อย่างง่ายๆ แต่ต้องกำหนดทิศทาง เจตคติ ทัศนคติ (ทิฎฐุชุกัม) ที่ดี เหมาะสม ถูกต้องตามหลักศาสนาก่อนหรือหลักปัจเจกก่อนด้วยความมุ่งมั่นในกิจนั้น จึงจะสมหมายในปลายทางได้ มิใช่แค่ขอพร ขอภาวนาเท่านั้น

โดย ส.รตนภักดิ์ : ๒๕๕๖


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น