วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ร่ำรวย จนสุก

ร่ำรวย จนสุก
                              ๑. ทำไมคนไทยจึงอยากรวย
                              ๒. เหตุที่ทำให้รวยและจน
                              ๓. ศาสนากับการสร้างความรวย
                              ๔. ท่าทีพุทธกับความรวย
            ปัจจุบันในแต่ละประเทศกำลังวัดกันว่า ประเทศไหนมีฐานะร่ำรวย โดยดูจากค่าเฉลี่ยรายได้มวลรวมของประเทศคือ ค่า GDP (Gross Domestic Product) ประเทศใดมีค่าจีดีพีสูง นั่นหมายความว่า ประเทศนั้นมีเศรษฐกิจดี ผู้คนจะอยู่ดีกินดี รัฐบาลทุกประเทศล้วนอิงตัวเลขนี้เป็นมาตรฐานในการบริหารประเทศ แล้วประชาชนจะเช่นนั้นจริงหรือ ประเทศไทยก็เป็นเช่นกันยึดเอาตัวเลขนี้เป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจในประเทศด้วย  ปีนี้ GDP ๕.๕ % การอ้างตัวเลขที่ว่านี้ไม่ได้เป็นเครื่องประกันความอยู่ดีกินดีของชาวบ้านเลย แต่รัฐรับประกันรายได้จากระบบการจัดเก็บภาษีและผลผลิตทั้งประเทศเป็นตัวตั้ง ผู้ที่ร่ำรวยจริงๆ คือ นักธุรกิจ พ่อค้า นักลงทุนต่างหาก ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงดิ้นรนเพื่อหาเงินให้ได้เยอะๆ เหมือนรัฐทำ
            แนวคิดเช่นนี้ทำให้ประชาชนเกิดความอยาก อยากเป็นคนรวย อยากเป็นเศรษฐี คิดว่าเมื่อมีเงินมากๆ จะทำให้มีความสุข ความจริงความสุขมิได้เกิดจากการมีเงินมาก แต่เกิดมาจากความพอใจต่างหากด ด้วยเหตุนี้   ประชาชนกำลังถูกวิถีสังคมเมืองครอบงำ โดยพึ่งพาเงินตราเป็นหลัก จึงกระตุ้นให้คนชนบทถูกบีบคั้นให้หาเงิน แรงบีบคั้นนี้มิได้มีแต่เฉพาะชาวบ้านเท่านั้น ยังลุกลามเข้าไปในศาสนาด้วย สาเหตุเพราะในสังคมยุคใหม่เชื่อมโยงกัน และอาศัยกันในรูปแบบแลกเวียนเปลี่ยนกัน คือ ใช้แรงงานแลกเงิน จึงกลายเป็นพลังขับเคลื่อนไปสู่การเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายทั่วโลก (Network) กิจกรรมชีวิตจึงถูกโลกพาไปด้วย การค้า อาหาร ค่านิยม การเมือง วิถีชีวิต ฯ ทุกกิจกรรมทุกอย่างจึงมุ่งเพื่อรายได้ เพื่อเงิน เงิน เงิน อย่างเดียว มันจึงเหมือนเส้นเลือดให้กับชีวิตผู้คนทั่วไป
            ในทางกลับกัน มนุษย์จะอยู่ด้วยความไม่รวยได้หรือไม่ เราคงทิ้งวิถีแบบดั้งเดิมตามบรรพบุรุษของเราที่เคยอยู่ป่าอยู่เขามาก่อน พวกเขาก็คงไม่มีเงินตราอะไรมากมายที่จะกำหนดกันว่าร่ำรวย แต่สามารถดำรงชีพอยู่ได้  มีกรณีตัวอย่าง ที่มีแนวคิดแบบเก่าที่สวนทางในปัจจุบันอยู่ คือ อยู่โดยปราศจากเงินทอง (Moneyless man)   ชื่อว่า นายมาร์ก บอยล์ (Mark Boyle) เขาเป็นคนอังกฤษ เป็นนักเขียน นักกิจกรรม ได้วางแผนการดำรงชีวิตแบบไม่ใช้เงินมา ๔ ปีแล้ว แนวคิดนี้เขาได้มาจากมหาตมคานธีของอินเดีย และได้ก่อตั้งชุมชมเศรษฐกิจอิสระ (Free-economy village) ในปีพ.ศ.๒๕๔๘ และสร้างหมู่บ้านชื่อ หมู่บ้านเศรษฐกิจอิสระขึ้นมา นอกจากนี้ยังอีกที่คือ หมู่บ้านเศรษฐกิจ (Eco-village) ที่อยู่ในแคนนาดา และอังกฤษ ที่มีแนวคิดการอยู่แบบอิงระบบธรรมชาติให้มากที่สุด ไม่ได้อยู่ในลักษณะอิงทุนนิยมหรือเทคโนโลยี แต่เน้นที่วัสดุท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการอยู่อย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง และมีการอยู่ร่วมกันด้วยหลักศีลธรรม ผู้ก่อตั้งคือ โรเบิร์ต กิลแมน (Robert Kilman) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔ แม้ในประเทศไทย ก็มีกลุ่มที่ยึดถือการอยู่แบบพึ่งพาตัวเอง พึ่งพาการช่วยเหลือกันในชุมชน โดยไม่ได้นึดเอาเงินตราเป็นตัวตั้ง นั่นคือ กลุ่มสันติอโศกและกลุ่มศีรษะอโศก หรือกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงที่ชาวบ้านดำเนินตามวิถีโดยไม่พึ่งพากระแสเมือง แต่ดำเนินไปตามกระธรรมชาติในกรอบของครอบครัว นี่คือ ตัวอย่างที่มนุษย์พยายามกลับไปสู่วิถีดั้งเดิมของบรรพบุรุษของตนในอดีต ก็เป็นสิ่งพิสูจน์เช่นกันว่า การดำรงชีพแบบไม่พึ่งพาทรัพย์สินเงินทองก็สามารถเป็นไปได้ ซึ่งแตกต่างในทางเอเชียที่กำลังหลงใหลเงินทองว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดในการดำรงชีวิตยุคใหม่ ต่างก็มุ่งหาเงินทอง เสพบริโภควัตถุจนขาดไม่ได้แล้ว
            ๑. ทำไมคนไทยจึงอยากรวย พื้นฐานประเทศไทย เป็นเกษตรกรรมมาตลอด ต่อมารัฐอยากให้ประเทศกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรม จึงส่งเสริมให้เกิดเป็นแดนอุตสาหกรรมขึ้น ผลคือ เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างเกษตรกรรมชนบทกับอุตสาหกรรมในชุมชนคนเมือง ในด้านการเอารัดเอาเปรียบ เกิดพ่อค้าคนกลาง การส่งเสริมไม่เท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม เป้าหมายทั้งสองคือ “รายได้” (Income) เนื่องไทยไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวยมาก่อน ในขณะเดียวกัน ก็เป็นประเทศเปิด จึงทำให้อิทธิพลต่างชาติ (แนวคิด ค่านิยม) กระตุ้นให้คนไทยทะเยอทะยานอยากเป็นคนรวยกับคนอื่น (ประเทศ)
         ปัจจุบันชุมชนคนเมืองมีการพัฒนาโครงสร้างทางกายภาพไปเร็วมาก วิถีชีวิตก็เปลี่ยนไปด้วย เนื่องจากว่า มีคนร่ำรวยมากขึ้น คนรวยเหล่านั้นจึงบริโภควัตถุนิยม ซึ่งเป็นสิ่งอำนวยความสุข เช่น มีบ้าน มีรถ ที่ดิน มีเงิน และอื่นๆ การอยู่ การกิน การเดินทาง การแต่งตัวจึงกลายเป็นต้นแบบให้คนจนเลียนแบบ ผลคือ มีรถเต็มถนน (รถติด) คนจนดิ้นรนหาเงินทุกวิถีทางแบบรวยเร็ว (ทุจริต) คนรวยก็อยากได้มากขึ้น (ทุจริต) จนทำให้เกิดความเครียด และความกดดันในใจ ส่วนมากผู้คนที่ร่ำรวย จึงไม่ค่อยมีความสุขทางใจอย่างถาวร กระนั้น ต่างคนต่างก็อยากได้เงินมากๆ กันทุกคน จึงเกิดคำอวยพรว่า “ขอให้ร่ำ ขอให้รวย” อีกอย่างหนึ่งเป็นสิ่งสะท้อนว่า คนไทยยังยากจนอยู่ จากสถิติมีคนจนที่สุดอยู่ราว ๗ ล้านกว่าคน
            ๒. เหตุที่ทำให้รวยและจน  เมื่อใครก็ตาม ถูกเรียกว่า “คนรวย” (Rich man) เรามักจะคิดว่า เขาคนนั้นต้องมีทรัพย์สินเงินทองและสิ่งอำนวยความสะดวกแน่นอน คนที่ร่ำรวยมักจะแสดงฐานะหรือโชว์สิ่งที่ตนมีไว้กับตัวเองเสมอ เช่น มีรถขับ รถคือสัญลักษณ์ทางสถานะว่า รวยจริงหรือไม่ รถยี่ห้อธรรมดาทั่วไป ราคาไม่แพง นั่นก็บอกได้ อยู่ในฐานะระดับใด หากขับรถเบ๊นซ์ รถสปอร์ต ราคาแพงๆ บ่งบอกในตัวว่า มีฐานะดี ตามร่างกาย เป็นที่บ่งบอกให้เห็นว่า ร่ำรวยได้ เช่น ข้อมือมีนาฬิการาคาแพง ๆ กระเป๋ายี่ห้อดัง รองเท้าอย่างดี เสื้อผ้าตราแบนอย่างดีมีระดับ สร้อยคอ แหวนเพชรฯ  ก็ล้วนสะท้อนถึงฐานะทั้งสิ้น  บางคนอาจไม่ได้ขับรถหรือมีเครื่องประดับมากมายหรือไม่มีเลย แต่ไม่ได้แปลว่าจน เพราะยังมีอีกอย่างที่บอกให้รู้ว่าร่ำรวย นั่นคือ บัญชีเงินฝากในธนาคาร และแน่นอนสิ่งที่บอกว่ารวยที่ประจักษ์ทางสายตาได้คือ เงินสดหรือธนบัตร ที่จับต้องได้
            สาเหตุที่ทำให้รวย  ความร่ำรวยที่มนุษย์ต้องการ เป็นเหมือนเป้าหมายที่วาดหวังของทุกคน แต่ทำไมมนุษย์จึง ร่ำรวยบ้าง ยากจนบ้าง ทำไมไม่มีมาตรฐานที่เหมือนกัน เพราะอะไร ความร่ำรวยไม่ใช่สายเลือด แต่เป็นคุณสมบัติภายนอกของชีวิตที่สามารถสร้างได้ มิใช่ปารมี มิใช่บุญ มิใช่โชค แต่เป็นเพราะการเข้าใจและการลงมือกระทำ แต่อย่างไรก็ตาม หากไม่เอาความเชื่อทางศาสนาและความเชื่อส่วนตัวมาผูกมัดแล้ว ความร่ำรวยมาจากวิทยาศาสตร์ของกรรมลิขิต หมายความว่า ความร่ำรวย มิใช่อำนาจบุญหรือไม่ใช่เทพเจ้าใดๆ แต่เป็นผลมาจากการกระทำของเราในแง่การกระทำ ด้วยแรงงานของการเสียพลังงานและการวางแผน บริหาร จัดการพฤติกรรมของตนเอง  โดยมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบ จึงพอสรุปความร่ำรวยมาจากสาเหตุดังนี้ ๑) พ่อแม่สร้างพื้นฐานให้ เช่น พ่อแม่มีฐานะดีมาก่อน เป็นผู้มีความรู้ ความเข้าใจวิถีชีวิตมาก่อน แล้ววางรากฐานให้ลูกดำเนินไปตามขั้นตอน ๒) มาจากมีหลักการ มีความรู้ต่างๆ มีความมุ่งมั่น ที่จะกระทำอะไรที่ถูกต้อง จริงจัง ขยัน อดทน อดออม มีวิสัยทัศน์  ๓) อยู่ในที่เหมาะสมเช่น มีพลเมืองที่ดี มีภูมิ (ที่ดิน) ที่สามารถเหมาะแก่การเพาะปลูก ค้าขาย ไม่เกิดสงคราม ๔) การรู้จักคบเพื่อนที่ดี ไม่เที่ยวอบายมุข มีศีลธรรม ๕) มีงานทำหรือกิจกรรมที่สามารถหารายได้เลี้ยงครอบครัวได้ ๖) เผื่อแผ่เจือจาน แบ่งบันสิ่งของให้แก่คนอื่นบ้าง เพื่อสร้างมิตรไมตรีในการอยู่ร่มกัน หากอาศัยหลักเหล่านี้ จะช่วยให้เราเกิดความร่ำรวยได้ และรวยอย่างถาวรพร้อมมีความสุขใจด้วย
            สาเหตุที่ทำให้จน สาเหตุที่ทำให้จนก็ตรงกันข้ามกับข้างบน เนื่องจากว่า ความยากจนมีพื้นฐานอยู่ในทุกๆ คน เพราะไม่มีใครเกิดมาแล้วร่ำรวยกับชีวิต เมื่อเกิดมาแล้วเท่านั้นจึงมีเงินทอง เรากอบโกย แสวงหาเงินทองเองทั้งสิ้น ทีนี่เมื่อเกิดมาเรากลับเจอสิ่งล่อลวงหรือสิ่งกวนใจให้หลงใหลตามแรงกระตุ้นตามสิ่งแวดล้อมและสิ่งกระตุ้นจากสัญชาตญาณทั้งสิ้น เราจึงไม่สามารถข้ามพ้นสิ่งยั่วยวนใจ จึงตกอยู่ในอำนาจของสิ่งล่อลวงจนหมดทางที่จะต่อสู้กับอุปสรรคในการทำมาหากิน ในที่สุดก็ใช้ชีวิตแบบกิน เที่ยว พักผ่อน อย่างไม่ต้องคิด ไม่ต้องแสวงหาด้วยพลังงานของตนเอง แต่กลับสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่นคือ จี้ ปล้น ลักขโมย กินเหล้า เมายา หลงสตรี เที่ยวสนุกไปวันๆ จนเสียเวลาในการสร้างฐานะของตน จนกลายเป็นคนอ่อนแอเกินไปที่จะต่อสู้กับกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างฐานะให้ร่ำรวยได้
            อย่างไรก็ตาม ความรวย กลายเป็นอุดมคติ ของมนุษย์ไปแล้ว ซึ่งจะเกิดช่องว่างระหว่างคำว่า ยากจน กับ ร่ำรวย หากประชาชนมีฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งมากเท่าไหร่ ก็จะเกิดช่องว่างมากขึ้นตามมา จนมองไม่เห็นความสัมพันธ์ระหว่างกัน และยิ่งกว่านั้น จะมองไม่เห็นรอยต่อระหว่างสองขั้ว จนอาจนำไปสู่การขาดมุมมองที่ไกล่เกลี่ยหรือประสานกันได้ ที่สำคัญคือ อาจไม่มีใครมองเห็นสารัตถะของการครองชีวิตให้อยู่ได้บนโลกนี้อย่างไร เพราะจะมองเห็นแต่ความร่ำรวยเป็นเป้าหมายหรือพยายามหนีให้พ้นคำว่า ยากจน แต่ไม่มีใครแสวงหาความสงบสุขอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม ความร่ำรวย ดูเหมือนจะสร้างแรงจูงใจได้มากกว่าสิ่งทั้งหมด เพราะอะไรหรือ
            เมื่อคนที่ร่ำรวยสามารถมองเห็นเป็นรูปธรรมได้ตามที่กล่าวมานั้น คนมีบ้าน มีรถ มีที่ดิน มีแก้วแหวนเงินทอง และสมบัติต่างๆ จะบอกให้รู้ว่าเป็นคนรวยได้ จากวัตถุที่ถูกตีค่าในคำว่า “รวย”  ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เนื่องจากว่า มนุษย์มักจะอวดหรือแสดงฐานะตนด้วยการแสดงออกมาทางใด ทางหนึ่ง เพื่อต้องการให้คนอื่นยอมรับว่าตนรวย หรือเพื่อให้คนอื่นให้เกียรติตน  และเคารพตน การแสดงออกเช่นว่านั้น เป็นการแสดงอัตเสรีภาพออกมาอย่างแท้จริง ว่าตนอยากได้อะไร หวังอะไร ก็สมหวังอย่างราบรื่นไม่มีอุปสรรค เสรีภาพจากความร่ำรวยนี้เอง บางครั้งก็อาจส่งผลต่อคนอื่นได้ เช่น รวยแล้วไม่รู้จักเคารพคนอื่น ชอบใช้อำนาจทางเงินตราข่ม ไม่รู้จักพอใจในความอยาก จนอาจนำไปสู่การสร้างอำนาจหรืออิทธิพลทางในสังคมได้ ถ้าร่ำรวยเพราะวัตถุต่างๆ ดังกล่าว มันก็ควรจะมีมาตรฐานเดียวกันว่า บุคคลที่มีวัตถุเงินทอง ทรัพย์สินจำนวนมาก ถือว่าเป็นมาตรฐานสากลในความหมายว่า “รวย” ได้หรือไม่ และนิสัย พฤติกรรมของคนนั้น เป็นมาตรฐานสากลไปด้วยหรือไม่ ถ้าไม่ อะไรคือ มาตรฐาน
            ค่านิยมเรื่องความรวยนี้ ยังไม่ยุติลงง่ายๆ คำถามคือ มันช่วยยกระดับจิตใจให้มีการพัฒนาอย่างไรบ้าง มันช่วยให้เรามีความสุขหรือพัฒนาไปมากเท่ากับปริมาณวัตถุ ทรัพย์สินที่มีอยู่หรือไม่ ในที่สุดมันจะเป็นเครื่องชี้วัดได้ไหมว่า ความรวยจะก่อความสุขหรือความดีเลิศไปกว่าคนจนๆ อย่างแท้จริง เราในฐานะมนุษย์ควรจะยกระดับจิตใจให้รู้เท่าทันกับวัตถุนิยมว่า เงินมีค่าต่อชีวิตมากน้อยแค่ไหน เราตกอยู่ภายใต้อำนาจเงินจนขาดการสำรวจตัวเองไปหรือไม่  ในขณะเดียวกัน ยังมีสิ่งอื่นที่ช่วยยกจิตให้สูงขึ้น พัฒนาขึ้น แทนวัตถุนิยมเหล่านั้นหรือไม่ ความสุขแท้จริงหาเจอหรือไม่ ไม่ใช่สุขจากการบริโภคตามโลกเสรี ประเทศภูฏานเป็นประเทศเล็กไม่ได้ร่ำรวย แต่มีการวัดค่าความสุขจากประชาชนเรียกว่า GNH (Gross national Happiness) โดยอิงหลักทางศาสนาพุทธในการครองชีวิตเพื่อให้ได้คุณค่าอย่างแท้จริง
๓. ศาสนากับการสร้างความรวย  ในทางศาสนาไม่มีการสอนเรื่อง อุดมการณ์การสร้างความร่ำรวยให้กับชีวิต โดยตรง แต่สอนเรื่องการปฏิบัติตัวเองให้ดำรงชีวิตอย่างมีความสุขด้วยตัวเอง และสอนให้รู้จักสมาคมกับผู้อื่นอยู่อย่างกลมกลืนกัน โดยอยู่บนพื้นฐานการเข้าใจโลกทัศน์ตามระบบของธรรมชาติ เช่น ศาสนาฮินดู สอนให้บูชาพระเจ้า เพื่อความสงบสุขทางจิตวิญญาณ มิได้สอนเพื่อมุ่งหาทรัพย์สินเงินทอง แต่สอนให้สละหรือสลัดออกจากชีวิตให้น้อยลง ส่วนศาสนาเชน ยิ่งสอนแบบเคร่งครัดในเรื่องทรัพย์สิน ไม่มีแม้แต่ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้าอาภรณ์ก็ยังต้องสละออก ไม่มีกฎใดที่สอนให้ร่ำรวยเลย ส่วนศาสนาอิสลาม สอนให้รู้จักเสียสละเรียกว่า “ซะกาต” แก่คนยากจน ทำอะไรไม่มีผลกำไร มุ่งสอนให้ชาวมุสลิมเอาจิตผูกมัดกับพระเจ้าทั้งสิ้น ในขณะศาสนาคริสต์ สอนให้ผู้คนรักสามัคคีกัน ในบัญญัติ ๑๐ ประการ ก็ไม่มีการสอนเรื่องความร่ำรวยใดๆ ส่วนศาสนาพุทธมีอุดมการณ์ สอนเรื่องการดับทุกข์ของชีวิตอย่างสิ้นเชิง ไม่มีการสอนเรื่องการทำให้ร่ำรวยโดยตรงเช่นกัน
ความคิดอยากรวยเกิดมาจากผู้คนในสังคมโลกที่เห็นว่า การมีทรัพย์สินเงินทองจำนวนมาก จะทำให้เกิดมีวัตถุที่อำนวยความสะดวก และสร้างความสุขให้กับชีวิตได้ การที่มนุษย์คิดและเชื่อเช่นนี้ ก็เนื่องมาจากเห็นคนร่ำรวยในประเทศต่างๆ หรือในประเทศตนที่มีฐานะ มีคนนับถือ มีคนรู้จัก และมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ จึงคิดว่า อยากได้อะไร ปรารถนาอะไรคงสมหวังเป็นแน่  สิ่งฝัน สิ่งที่อยากได้ก็คงได้ ส่วนคนจนที่ไม่มีเงินจะหาซื้ออาหาร กลับต้องอดอยาก ทนหิว คนจนเหล่านั้น แต่ก่อนอยู่ในชนบทก็ไม่อดอยากมากนัก แต่พออยากร่ำรวยเหมือนคนอื่น จึงดิ้นรนเข้าเมืองหางานทำ งานก็หายาก เงินจึงหายาก เมื่อไม่มีเงินก็ไม่มีอาหาร ไม่มีเงินพอที่จะซื้อบ้าน ซื้อรถ ซื้อสิ่งที่อยากได้ คนจนที่คิดจะเลียนแบบคนเมืองนั้น จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีทางเท่าเทียมกันได้
ในขณะที่มนุษย์อาศัยความอยากของตนเอง จากการเห็นแม่แบบคนอื่นร่ำรวย จึงถูกกระตุ้นให้เกิดความอยาก ความฝัน อยากมี อยากได้ ไม่พอใจในสถานะของตน ความอยากจึงมีอยู่ในใจกันทุกคน แต่สิ่งที่มนุษย์ไม่มีเท่าเทียมกันนั่นคือ ปัญญา ความสุขุมรอบคอบ ปัญญาและคติความคิด เหล่านี้ เป็นคุณสมบัติที่ได้มาจากทางศาสนา ที่จะชี้ทิศทางหรือแนวทางในการทบทวนหรือสำรวจตัวเองได้ เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ เกาะเกี่ยวมิให้ตนเองเดินทางในทิศทางใดทางหนึ่งอย่างอิสระเกินไป จนเตือนหรือคุมตัวเองไม่ได้ ดังนั้น แม้ศาสนาไม่ได้สอนเรื่องความร่ำรวยไว้ แต่ศาสนามักจะสอนในเรื่องความจริงที่เป็นสารัตถะของชีวิต สอนเรื่องจิตใจ มากกว่าเรื่องภายนอก ที่สามารถแก้กลบความอยากได้ ละลายความอยากที่มีให้บางเบาลง อนึ่ง ยังเป็นการสอนให้รู้จักแยกแยะในการใช้ชีวิตในระยะยาวโดยตั้งคำถามว่า อะไรคือ แก่นสารที่แท้จริงของชีวิต
๔. หลักพุทธกับความร่ำรวยแบบสมดุล ความร่ำรวยไม่มีใครปฏิเสธได้ เพราะมันจะตอบสนองความต้องการของตนต่อโลกได้อย่างอิสระ หากศึกษาในแง่องค์ประกอบในการดำรงชีวิตอยู่ได้ มนุษย์อาศัยแรงขับภายในกระตุ้นหลอกตัวเองอยู่เสมอนั่นคือ “ความอยาก” (Desire) มันจะสร้างจินตนาการ ความฝัน และความทะเยอทะยาน เพื่อไปหาเป้าหมายของตนเอง นี่คือ แรงขับภายใน มีนักปรัชญาคนหนึ่งชื่อ โชเปนฮาวเออ (Schopenhauer: ๑๗๘๘-๑๘๖๐) ชาวเยอรมัน เชื่อว่า มันมี “เจตจำนง” ในตัวเอง (Will to live) ตามสัญชาตญาณ เพื่อที่จะให้มันอยู่รอด และนักปรัชญาชาวกรีกชื่อ เพลโต (Plato : ๔๒๘-๓๔๘) กล่าวว่า แรงขับมาจากความปรารถนาภายในนั่นคือ “ความอยาก” (Appetite) เพราะถูกครอบงำด้วยอวิชชาและความอยากกระตุ้น จนทำให้จิตวิญญาณเดิมที่บริสุทธิ์เสียไป
ในศาสนาฮินดู กล่าวไว้ว่า สิ่งที่กระตุ้นให้มนุษย์เป็นไป เพราะความไม่รู้ จึงเกิดตัณหาขึ้นมา เมื่อกายที่เป็นอนุอัตตาถูกปิดบัง จึงเกิดความมืดบอดทางปัญญาที่จะหาทางไปสู่ปรมาตมันเดิมได้ ส่วนศาสนาคริสต์ กล่าวว่า พระเจ้าสร้างมนุษย์มาอย่างบริสุทธิ์แล้ว แต่เมื่อมาอยู่ในสวนอีเดน กลับถูกหลอกล่อจากซาตานให้กินผลไม้บาป มนุษย์จึงเกิดบาปติดตัวมาตั้งแต่ครั้งนั้น บาปนี่เองที่คอยทำลายตัวเอง เพราะความอยากแท้ๆ ส่วนพระพุทธศาสนา สอนว่า ปัญหาของโลกและชีวิต ล้วนมาจากตัณหาทั้งสิ้น มาประสานกับความไม่รู้ จึงทำให้สัตว์เกิดความมืดบอดในการกระทำของตน นอกจากนั้น ก็มาจากส่วนของสิ่งแวดล้อมที่กระตุกกระตุ้นให้มนุษย์คล้อยตามหรือถูกบีบคั้นจนต้องยอมสยบกับสิ่งรอบข้าง
แนวคิดจากที่กล่าวมานั้น เป็นแนวคิดกว้างๆ จากมุมมองของนักปรัชญาและคติทางศาสนา แม้จะไม่ได้บอกวิธีการแสดงท่าทีต่อความร่ำรวยไว้ก็ตาม เราคงพอมองเห็น รากเหง้าเค้ามูลของความอยากในใจเราได้ว่า มาจากไหนบ้าง ตรงนี้ ขอให้เครดิตในหลักการพระพุทธศาสนาที่แนะแนวในการรับมือกับความร่ำรวยจากการมีทรัพย์ และการบริโภคทรัพย์ อย่างที่บอกแล้วว่า พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้มนุษย์ร่ำรวย แต่สอนให้มนุษย์รู้จักหลักการในดำรงชีวิต ที่จะเอื้อให้เกิดการหาทรัพย์ การเก็บรักษาทรัพย์ และใช้จ่ายทรัพย์อย่างชาญฉลาดตามหลักพุทธศาสนา ในหลักการขอแบ่งออกเป็น ๒ ทาง คือ ๑) การใช้จ่ายทรัพย์เพื่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ๒) การมองทรัพย์ที่ใช้เป็นเพียงเครื่องมือของชีวิตเท่านั้น มิใช่แก่นสาร มิใช่เป้าหมายของการมีชีวิตอยู่
การใช้ทรัพย์มาจากการหาทรัพย์ ในหลักพุทธศาสนา มีหลักในการหาทรัพย์คือ ๑) มีศีลห้า ศีลจะเป็นพื้นฐานในการครองชีวิตให้เป็นปกติ โดยไม่มีคดีความ ไม่เป็นเหตุให้เสียทรัพย์ เสียเวลา เสียสุขภาพ แล้วก็เป็นฐานสำคัญในการใช้ร่างกายหาทรัพย์ได้ ๒) การรู้จักคบเพื่อนที่ดี มิตรที่ไม่ดี จะพาไปตกอบายมุขหรือก่อทะเลาะวิวาทกัน อันจะพาให้เสียทรัพย์ เสียเวลา เสียสุขภาพ ๓) มีหลักธรรมประจำตน เช่น ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ อดทน อดออม อันจะนำมาซึ่งทรัพย์และไร้กังวลใจ ๔) การใช้จ่ายทรัพย์เป็น คือ เก็บไว้เพื่อตัวเอง เก็บไว้เพื่อลงทุนทำกิจการ เก็บไว้เลี้ยงญาติพี่น้อง และเก็บไว้ ทำบุญอุทิศหรือทำประโยชน์ในทางสังคม ๕) เว้นอาชีพที่ผิดกฎหมายและศีลธรรม เช่น ค้ายาเสพติด ค้าเหล้า ค้าคน ค้ายาพิษ ค้าของเถื่อน ซึ่งจะทำให้เสียทรัพย์ และเสียโอกาสในการทำมาหากินแบบยั่งยืน ทั้งหมดเป็นทางในการหาทรัพย์บริโภคทรัพย์และเว้นทางเสื่อมของตนในทางโลกวิสัย (worldly view)
เมื่อหาทรัพย์มาได้และบริโภคทรัพย์นั้น ก็ควรมีหลักในการเสพอย่างมีปัญญา หลักการของพระพุทธศาสนาสอนว่า โลก คือ ที่อยู่ของสัตว์ โลกคือ สมบัติเพียงชั่วคราว ชีวิตอิงอาศัยโลก ซึ่งมีระยะเวลาจำกัด เมื่อสิ้นสุดเงื่อนไข ชีวิตก็ต้องล้มหายตายจากทรัพย์และจากโลก การใช้ชีวิตอยู่ในโลกจึงไม่มีอะไรที่ควรยึดถือเป็นจริงเป็นจัง ทรัพย์ที่ได้มาก็ควรใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตตนและสังคมให้มากที่สุด แม้ร่างกายที่เป็นแหล่งเกิดทรัพย์ก็จะกลายเป็นที่เสียทรัพย์ในที่สุด การปล่อยวางจากมือและจากใจ นี่คือการแสดงท่าทีที่เข้าใจต่อความจริงของโลกมากที่สุด โดยนึกถึงหลักสากลธรรมชาติไว้เพราะทรัพย์เป็น อนิจจัง (ไม่ยั่งยืน) ทุกขัง (ฝืนกฎ) และอนัตตา (หมดรูป) ดังนั้น ร่างกาย ทรัพย์ ต้องแปรปรวนไปตามเงื่อนไขของมัน การเข้าใจและการวางใจเช่นนี้ ถือว่าเป็นการมองแบบปรมัตถวิสัย   (Transcended view)
กระนั้น มนุษย์ก็ยังเป็นมนุษย์และยังมีกระแสความต้องการไปตามวิถีโลก คือ อยากได้ อยากมี อยากเป็นเช่นคนอื่นเขา ในมุมมองของชาวพุทธในการใช้ชีวิต ก็ควรจะนำเอาหลักพุทธเป็นบรรทัดฐานในการใช้ทรัพย์ด้วย โดยที่นี่ขอเสนอการดำรงชีวิตด้วยการมีทรัพย์อย่างสมดุลทั้งทางโลกและสังคมดังนี้ การสร้างความสมดุลทางโลกวิถี คือ ๑) การแสวงหาทรัพย์ส่วนหนึ่งเพื่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ๒) มีสิ่งอำนวยความสะดวกเท่าที่จำเป็น ๓) รู้จักวางตัวตามฐานะของตน  ๔) เรียนรู้หลักธรรมชาติ เพื่อให้เข้าใจวิถีทางโลก สังคม และตนเองตามกลไกธรรมชาติ คือ ไม่ฝืนหรือไม่ค้านจนเกินไป
ส่วนการสร้างความสมดุลทางสังคม คือ ๑) การไม่ปล่อยให้ตนเองมีอิสระจนเกินไป  ๒) เคารพหลักธรรมและกฎหมายบ้านเมือง ๓) รู้วิถีชีวิตวัฒนธรรม และ๔) รู้จักคุณค่าของทรัพย์สิน หลักการเบื้องต้นเหล่านี้ จะช่วยสนับสนุนฐานะทางเศรษฐกิจให้เป็นคนมองชีวิตที่กว้างและรอบคอบขึ้น มิใช่ร่ำรวยแล้วดูถูกคนอื่น ไม่สนใจใครและไม่เคารพกฎกติกาใดๆ
ดังนั้น ความร่ำรวยที่ผู้คนต้องการ ควรจะรู้จักลักษณะที่เกิด คุณค่า หลักการใช้ของมันก่อน เพื่อจะได้แสดงท่าทีหรือปรับตัวให้เป็นคนอยู่เหนือทรัพย์ จะได้ไม่ตกเป็นทาสทรัพย์ตลอดไป พระไพศาล วิสาโลกกล่าวว่า "เงิน เป็นข้ารับใช้ที่ดี แต่เป็นนายที่เลว ถ้าเราปล่อยให้เงินเข้ามาควบคุมบงการชีวิตเรามากเกินไป เพราะความพลั้งเผลอและไม่มีสติ จนปล่อยให้ความโลภเข้ามาครอบงำ ชีวิตเราจะหาความเจริญได้ยาก ในขณะหมอประเวศ วะสีกล่าวว่า “เงินเป็นของมีคม” พระพุทธองค์ก็ทรงเตือนสาวกว่า “เงินคือ อสรพิษ” เช่นกัน จึงพอกล่าวได้ว่า อยากร่ำรวยนั่นไม่ผิดวิสัยโลก แต่ควรจะตระหนักว่า โลกแห่งวัตถุไม่มีใจเดียวแก่เรา มันย่อมพร้อมจะสยบแก่ทุกคน พระพุทธองค์จึงสอนเรื่องหลักการให้รู้ทันโลกว่า สิ่งต่างๆ อยู่ในโลกธรรม ๘ มีด้านสว่างและด้านมืดเสมอ  หากปรารถนาหรือครอบครองมัน ควรรู้นิสัยมันด้วยจะได้ไม่เสียดุลความเป็นมนุษย์ผู้มีปัญญา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น