วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2556

เสรี จนเสียรู้

                                             

                               "เสรี จนเสียหลัก" (lost freedom)


            ปัจจุบันพฤติกรรมของคนไทยกำลังไหลไปสู่การเรียกร้องระบบเสรีนิยม เพื่อให้เหมือนกับอารยธรรมแบบสากล เช่น ประเทศฝรั่งเศสได้ใช้คำเกี่ยวกับเสรีภาพว่า "เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ" อเมริกาก็เน้นคำว่าเสรีภาพ จึงมีเทพีเสรีภาพ และกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งประเทศเสรีภาพ และต้นศตวรรษที่ ๑๙ ก็เกิดกระแสเรียกร้องเสรีภาพด้านปัจเจกชนขึ้นมา เดวิด ฮูม ก็ได้กล่่าวถึงบทบาทของเสรีภาพของพลเมืองด้วย รวมทั้งรุสโซ ที่กล่าวถึงเสรีภาพด้วย การที่มนุษย์เรียกร้องเสรีภาพ อาจเนื่องมาจากการปกครอง การกดขี่ การเรียกร้องสิทธิของตนเองว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนควรเรียกร้องสิทธิส่วนตัวของตัวเอง ทุกคนมีสิทธิ มีเสรีภาพตั้งแต่เกิด แนวคิดนี้โดดเด่นมากในยุคหลังโมเดิน เพราะเรียกร้องเสรีภาพในแง่ส่วนตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ในสมัยกรีกก็เกิดกระแสในแบบปัจเจกบุคคลมาแล้วคือ แนวคิดของกลุ่มโซฟิสต์ ฉะนั้น เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างไร หากแต่เป็นแค่เหล้าเก่าในขวดใหม่นั่นเอง
           
                   ส่วนปัจจุบันคำว่า เสรีภาพ เกิดการแปรความหมายไปจากความหมายเดิมอยู่มาก คือ ตีความเอาตัวเองเป็นบันทัดฐานหรือเข้าข้างตัวเองมากไป ทำให้ไม่สนใจหรือไม่ใส่ใจว่าใครจะเสียหรือจะได้รับความเสียหายอย่างไร   หากเราแสดงเสรีภาพมากเกินไปจนไร้ขอบเขต เสรีภาพในบุคคลนั้นก็จะเกิดปัญหาได้ เนื่องจากว่า เป็นการใช้เสรีภาพเกินขอบเขตของสังคม จุดเริ่มต้นในการใช้เสรีภาพที่นำไปสู่การเสียศูนย์ความเป็นเสรีภาพคือ เกิดจากปัจเจกบุคคล โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ใช้ชีวิตแบบอิสระ โดยไม่สนใจผลเสียตามมา การใช้เสรีภาพที่บกพร่องของวัยรุ่นจะเกิดผลกระทบแก่ตนเองและชุมชนประเทศชาติ เช่น การใช้เสรีภาพในเรื่องส่วนตัว อยากกิน อยากเที่ยว การแต่งตัว การใช้เงินทอง การร้อง อยากทำ ตามใจตนแบบไร้ขอบเขต ผลเสียย่อมบังเกิดขึ้นแน่นอน เอาแค่นั้นการกินโดยไม่รู้จักขอบเขต เสรีภาพเกินพอดี โรคภัยจากการกินก็เกิดขึ้นได้ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน โรคหัวใจ กินเหล้า ก็เกิดโรคตับฯลฯ การแต่งตัวแบบอิสระโดยไร้จิตสำรวมในเรื่องกาล เทศะ  อาจเป็นเหตุให้เกิดการข่มขืนได้ หรือการพูดจนเกินขอบเขตก็อาจเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันได้ง่ายด้วย นี่คือ เสรีภาพที่เกินขอบเขต แล้วจะใช้เสรีภาพให้อยู่ในกรอบ กติกาของสังคม ชุมชนอย่างไร  

                   ๑. เสรีภาพอยู่ไหน ก่อนอื่นจะถามว่า ท่านรู้หรือไม่ว่า เสรีภาพอยู่ที่ไหน หากไม่รู้ท่านจะใช้เสรีภาพอย่างไร เพื่ออะไร ซึ่งนั่นเราจะต้องศึกษาประวัติความเป็นมาของเราเองว่า เราเกิดมาอย่างไร วิวัฒนาการในด้านการปกครองอย่างไรแล้วนำไปสู่การเรียกร้องเสรีภาพให้แก่ตัวเอง ในแง่ใดบ้าง เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องขั้นพื้นฐานในการด้านรัฐศาสตร์ ซึ่งนักปกครอง นักบริหารสังคมต้องเรียนรู้ กระนั้น ในด้านปัจเจกบุคคลก็ควรจะรับรู้ไว้บ้าง ให้เข้าใจในบทบาทหน้าที่ เสรีภาพของตนเอง เสรีภาพโดยธรรมชาติเกิดมาพร้อมตั้งแต่เราเกิด เช่น เรามีอิสระที่จะเดิน จะกิน จะพูด จะทำ หายใจได้เอง คิดเองได้อย่างเสรี แต่ภาวะเสรีนี้ต้องอยู่ภายใต้กฏ กติกาของสังคมนั้นๆ เมื่อไหร่ก็ตามเราอยู่กับคนอื่น ตั้งแต่สองคนขึ้นไป เสรีภาพย่อมถูกจำกัด เนื่องจากว่า เราไม่อาจใช้มือ เท้าของตนไปทำร้ายใครต่อใครได้อย่างอิสระเสรีตลอดเวลา เราจึงมีกติกาทางสังคมเป็นหลัก เมื่อเรามารวมกันเป็นกลุ่ม เป็นชุมชนก็ต้องมีกฏของชุมชนนั้นเป็นหลัก เมื่อรวมกันอยู่เป็นประเทศก็มีกฏเป็นหลักนั่นคนคือ กฏรัฐธรรมนูญ  เป็นแม่แบบแห่งชาติ เมื่อเราถูกกฏหมายครอบงำ แล้วเราจะใช้เสรีภาพได้ไหม คำตอบคือ ได้ ในขอบเขตของกฏหมาย นอกจากนั้น เรายังมีกฏศีลธรรม ค้ำจุ้นเราอยู่อีก เพื่อเตือนใจ มิให้กระทำหรือแสดงออกจนเลยเถิดหรือเกินขอบเขตของกันและกัน ยิ่งกว่านั้น เรายังต้องตระหนักถึงกฏ กติกา มารยาทในกิจกรรม ในกาละ เทศะ บุคคลต่างๆ ว่าเราจะแสดงออกหรือไม่แสดงออกอย่างเหมาะสมอย่างไร ควรหรือไม่ควรอย่างไร
      
                    ฉะนั้น มันเหมือนกับว่าเรากำลังหมดเสรีภาพลง ทำอะไรก็ผิดไปหมด ยิ่งปัจจุบันดูเหมือนว่าเรากำลังมีกฏหมายต่างๆ ออกมาเพื่อเอาผิดกันมากมาย แต่ละองค์กร บริษัท ชุมชน กรม กระทรวง ล้วนแต่มีกฏ กติกา มารยาททั้งสิ้น แม้แต่เล่นยังต้องมีกฏ กติกา เช่น การเล่นฟุตบอลเป็นต้น  นี่ยังไม่กล่าวถึงบุคคที่อยู่กรอบของศาสนาที่ต้องมีกฏ วินัย มีศีลธรรมที่เข้มงวดกว่าฆราวาสอีก แล้วทำไมพวกเขาจึงสามารถอยู่ได้ หรือไม่เรียกร้องเสรีภาพของตนเอง การใช้ชีวิตของมนุษย์ในยามปกติก็จะไม่ตระหนักถึงเสรีภาพ เพราะเราดำเนินชีวิตไปตามกฏกติกาของสังคม แต่เมื่อไหร่เราละเมิดกติกา กฏหมายของสังคม เช่น ไปฆ่าคนตาย ทำร้ายคนอื่น ลักขโมยของใครเข้า เมื่อเจ้าหน้าที่จับได้ เขาก็จะถูกจับใส่กุญแจมือและนำไปขังไว้ในคุก ซึ่งจะรู้สึกสูญเสียเสรีภาพทันที หากทำผิดร้ายแรงเขาอาจถูกประหารชีวิต นั่นแสดงว่า เขาใช้เสรีภาพเกินไปหรือไม่ ในกรณีอื่นเช่น บุคคลที่ถูกกดขี้ กดดัน ดูถูก หรือเป็นลูกจ้าง อาจถูกดันเหมือนกำลังถูกริดรอนด้านเสรีภาพ ดังนั้น จึงควรหันมาสนใจตั้งคำถามว่า เสรีภาพอยู่ที่ไหน เราจะใช้มันอย่างไรให้เกิดคุณ ไม่เกิดโทษแก่ตนเอง  
                 ๒. กฏ ศีลธรรม มนุษย์ควรยึดเอากฏ กติกา เป็นที่พึ่งพิงบ้าง กฏ กติกา มารยาท หรือกฏศีลธรรมจะเป็นเครื่องป้องกันซึ่งกันและกัน แม้ในระยะแรกกฏเหล่านี้จะจำกัดสิทธิของเรามิให้ทำโน่นนี่ก็ตาม แต่นั่นเป็นการห้ามมิให้คนอื่นใช้เสรีภาพของเขามาละเมิดสิทธิ์ส่วนตัวของเราเช่นกัน หากสังคมใดปราศจากกฏ กติกา ศีลธรรมของสังคม ประชาชนก็จะเดือดร้อนเพราะพฤติกรรมของผู้คนนั่นเอง ซึ่งแน่นอนไม่มีใครชอบอยู่ในภาวะจำกัดเสรีภาพ แต่เสรีภาพในด้านสังคมต้องอยู่บนพื้นฐานที่ไม่มีเสรีภาพแบบสมบูรณ์หรือแบบอิสระเกินตัว เพราะผู้ที่เรียกร้องเสรีภาพแบบไร้ขอบเขต นั่นหมายความว่า ไม่ใช่โลกเสรีแน่นอน ในอเมริกา คือ สัญลักษณ์แห่งโลกเสรี แต่ก็มีข้อจำกัดมากมายเช่นกัน เสรีภาพที่ว่า มันอยู่บนกฏหมายที่ละเอียดยิบ แล้วมันเสรีภาพส่วนไหน คำตอบคือ การแสวงหาความรู้ การค้า การแสดงความคิดเห็น การแสดงออกในด้านการนับถือ แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ก็อยู่บนฐานความถูกต้องเสมอ ปัญหาของสังคมก็อยู่ตรงที่การใช้เสรีภาพก้าวล้ำสิทธิ์คนอื่นหรือละเมิดเสรีภาพคนอื่น แม้จะมีกฏหมายตราไว้ก็ตาม ดูเหมือนผู้คนไม่ค่อยหวาดกลัวกัน ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงต้องอาศัยอาวุธมาป้องกันทรัพย์สิน ชีวิตของตนเอง คิดดูหากแต่ละคนไม่เกรงกลัวกฏหมายบ้านเมือง พกอาวุธเที่ยวก่อความเดือดร้อนให้ใครต่อใครหรือใช้อาวุธข่มขู่เอาทรัพย์สินเงินทอง ย่อมก่อให้เกิดความวุ่นวายแก่สังคมอย่างแน่นอน
                 อย่างไรก็ตาม กฏหมายก็มีทางออกให้แก่ผู้ไม่มีเจตนาทำผิด หรือมีทางออกเพื่อปกป้องคนที่ถูกกลั่นแกล้งหรือคนที่อ่อนแอหรือคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการของรัฐ เรียกว่าทนายความหรือศาล องค์กรที่ว่านี้เป็นองค์กรที่จะแก้ต่างหรือทำหน้าที่แทนผู้กระทำผิด และผู้ถูกกลั่นแกล้ง แต่ก็นั่นแหละความยุติธรรมสำหรับคนจนแทบจะไม่มี คนที่รอดจากการจับกุมของเจ้าที่หน้าของรัฐคือ คนรวยหรือเจ้าหน้าที่เอง นี่คือ สาเหตุหนึ่งที่เรียกร้องกันในสังคมในเรื่องความยุติธรรม ที่กล่าวนี้กล่าวถึงบริบทของสังคมที่มีกฏหมายเป็นหลัก ซึ่งกฏหมายเหล่านี้อาศัยมนุษย์เป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งไม่ได้เป็นมาตรฐานที่จะรับรองในความยุติธรรมแก่ทุกคน เนื่องจากมนุษย์มีจุดอ่อนในเรื่องการเห็นแก่ตัว เห็นแก่ประโยชน์จากกิจกรรมในสังคมที่สัมพันธ์กันนั่นเอง บางทีนี่คือ เส้นทางที่อุดมไปด้วยผลประโยชน์อย่างเป็นล่ำเป็นสัน แต่มีกฏหนึ่งที่ไม่อิงอาศัยมนุษย์ขับเคลื่อนนั่นคือ กฏแห่งกรรม กฏตัวนี้เป็นกฏเฉพาะที่ทุกคนต้องได้รับเอง ไม่มีตำรวจ ไม่มีทนาย ไม่มีคนใดได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ เป็นกฏที่ยุติธรรมที่สุด แต่ก็นั่นแหละ กฏนี้ไม่แสดงผลตามใจมนุษย์ จึงทำให้มนุษย์ไม่ค่อยหวาดเกรงเท่าไหร่

                 ๓. เสรีภาพบนกฏ การที่มนุษย์เรียกร้องหาความอิสระ ย่อมหมายความว่า ขาดความอิสระในตัวเอง ความอิสระไม่ได้อยู่ที่การไม่มีกฏหมายใดๆ หรือมีกฏหมายที่มอบสิทธิให้เรามีเสรีภาพเหมือนรัฐธรรนูญตราไว้ว่า ทุกคนเกิดมาย่อมมีเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเหมือนกันทุกคน แต่ในเวลาปฏิบัติ ความแตกต่างระหว่างคนจน คนรวยก็ยังคงแตกต่างกันเช่นเคย ในแง่ศาสนาบอกว่า มนุษย์เกิดมาจากพระเจ้า พระพรหมหรือกรรมเป็นผู้ให้กำเนิด  นั่นหมายความว่า เราไม่ไมีเสรีภาพมาตั้งแต่ก่อนเกิดด้วยซ้ำไป แต่นักปรัชญาบางกลุ่มบอกว่า เราเกิดมาพร้อมกับเสรีภาพ แต่รุสโซ่มองว่า เราเกิดมาพร้อมด้วยเสรีภาพก็จริง แต่กลับต้องถูกล่ามโซ่อยู่ทุกๆ ที่อยู่ดี ส่วนในแง่จิตวทิยา ซิกมัน ฟอร์ยด์ บอกว่าเราเกิดมาพร้อมด้วยยีนแห่งสัญชาตญาณดิบทุกคน ในขณะศาสนาพราหมณ์มองว่า ชีวิตมีอัตมันน้อยสิงอยู่ภายใน และคอยก่อกวนมิให้เราอิสระ ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราเกิดมาเพื่อกำจัดเยื่อใยที่ห่อหุ้มสุมใจเราอยู่ มิให้อิสระ ด้วยวิธีต่างๆ นานา ชาวคริสต์เองก็โหยหาผู้นำ (เมตสิอะห์) อยู่ในยีนทุกรุ่น แม้กระทั่งปัจจุบัน ก็ยังโหยหาผู้นำด้านจิตวิญญาณอยู่ มนุษย์ทุกคนจึงเหมือนกำลังโหยหาผู้นำชีวิต นำพาสังคม ต่อมาจึงกลายเป็นกษัตริย์หรือประธานาธิบดีหรือนายกฯ ในที่สุด แต่ในโลกแห่งจิต เราต้องการอะไร ชาวพุทธเหมือนกำลังกำจัดสิ่งที่อยู่ในใจของตัวเอง ให้กลายเป็นจิตที่อิสระเสรีหรือหลุดพ้นจากวังวนแห่งวัฏจักร คือ การเกิด การตาย  ทั้งหมดนี้ก็ต้องผ่านกระบวนการของโลกนั่นคือ กฏ นั่นเอง
                 คำว่า กฏ พุทธทาสแปลว่า God หมายถึง ผู้กำหนดชีวิต พุทธศาสนากล่าวว่า นิยาม กฏ คือ ทิศทางหรือแนวทางของธรรมชาติที่สรรพสิ่งต้องดำเนินไปสู่เช่นนั้น เช่น กฏของกาลเวลา กฏของแรงโน้มถ่วง กฏของการหมุนวน กฏหมาย กฏต่างๆ เหล่านี้ เป็นกฏที่สัตว์ สิ่งมีชีวิตต้องสยบยอม แม้ไม่ชอบก็ตาม ส่วนกฏที่ใกล้เคียงกับการดำเนินชีวิตคือ กฏหมายบ้านเมือง กฏของฤดูกาล กฏของการอยู่ การกิน การบำบัด ซึ่งสัตว์กำลังดำเนินไปอยู่ หน้าที่หลักของการดำเนินชีวิตคือ การเอาตัวรอด หรือให้มีเสรีภาพในการอยู่บนโลกนี้ไปยาวนาน ส่วนการเรียกร้องทางจิตใจ เพื่อให้เกิดความอิสระทางจิตใจ มิให้เกิดความกดดันหรือเป็นทุกข์หรือตีบตัน เราจะต้องเริ่มต้นแบบใด อันนี้ต้องเริ่มกระบวนการเป็นขั้นตอนและมีเงื่อนไขอยู่ในทุกสถานที่ เพราะต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า เราเกิดมาในเงื่อนไขที่ไม่อาจจะยกเว้นให้ เป็นเหมือนกฏตายตัวที่เราไม่ได้กำหนดเอง จึงต้องทำใจยอมรับความเป็นจริงที่เรามีปมด้อยในชีวิตตั้งแต่เกิดแล้ว กระนั้น เราก็สามารถมีอิสระได้ด้วยกฏ หรือเงื่อนไขทางสังคม แต่ถ้าเราต้องการเสรีภาพแบบสมบูรณ์แบบ ก็ต้องดิ้นรนให้สุดโต่งตามหลักศาสนานั่นคือ นิพพาน  แต่กายของท่านก็ยังสัมพันธ์อยู่กับโลกอยู่ดี ในที่นี่ จิตเราหลุดพ้นแล้ว กายจะดำเนินไปเช่นไรก็ให้มันดำเนินไปตามบาทวิถีของมัน 

                ๔. เสรีภาพที่สมบูรณ์แบบ คือ เสรีภาพแบบนี้เป็นภาวะที่สุดเหนือภาวะทั้งปวง มันเหมือนกับคนบ้า ซึ่งแสดงออกเหนือการรับรู้โลกสมมติ แต่แสดงออกไปตามอิสระที่ต้องการ โดยไม่ติดกรอบอะไร แต่ก็ใช้ว่าจะกระทบกฏหรือไปเสียดแทงกับใคร ไม่ใส่ใจกับคนบ่นด่าหรือคำพูด คำชม คำสรรเสริญ ปล่อยให้ใจไหลไปตามยถาธรรม ที่ไม่ฝืน เหมือนยืนบนยอดเขา ลักษณะที่ว่านี้เหมือนนักคิด นักศิลปิน ที่มักปล่อยกาย ปล่อยใจให้ดำเนินไปตามจินตนาการของตน แต่สภาวะหรือคุณภาพทางจิตใจมีความสมบูรณ์ในความเป็นมนุษย์เกินร้อย ในขณะกลุ่มคนเมืองที่หลงไหล แสดงออกตามแรงดึงดูดของกระแสสังคม แต่งตัว เสพสุข กินเที่ยว เล่น บริโภควัตถุต่างๆ ตามกระแสโลก จนจิตถูกครอบงำด้วยรสนิยมหรือรสชาติของการเสพอุปกรณ์ที่ทันสมัย อย่างนี้ถือว่า อยู่ในโลกเสรีภาพหรือไม่ มันเหมือนกำลังถูกสาปหรืออยู่ในอารมณ์ต้องมนต์ที่อบอวนอยู่ จนนิยามตัวเองไม่ถูก จนกว่าจะเสพสิ่งนั้น จนอิ่มเอมและอ๊วกออกมา เมื่อถึงวัยกลางคน เวลานั้นจะนิยามเสรีภาพได้เองอย่างชัดเจนว่า มันเสรีภาพแบบสุดโต่งหรือไม่
                 ดังนั้น คำว่า เสรีภาพที่ผู้คนเสพอยู่ อาจแยกไม่ได้ระหว่าง เสรีภาพกับความต้องการส่วนตัว หรือความว่างเปล่ากับเสรีภาพทางจิต หากเปรียบเทียบระหว่างจิตที่อิงกฏที่อยู่บนความระวัดระวังมิให้ปล่อยจิตเสียดุลในการควบคุม กับจิตที่เรียกร้องหาสิ่งที่ต้องการอย่างเสรีอย่างไร้ขอบเขต อันไหนสุภาพและยั่งยืนกว่ากัน อนึ่ง คำว่าเสรีภาพทางจิต หมายถึงในปัจจุบันขณะหรือหมายถึงการสิ้นสุดในโลกหน้า ตามพุทธคติที่ว่าไม่เกิดหรือตายอีกต่อไป แต่ใครจะวางอุดมคติเช่นนี้ได้ ดูแล้วมันไม่สนุก ไม่ตื่นเต้นเลย สู้มีอิสระเสรีแบบตามใจตัวเองเหมือนลัทธิจารวากดีกว่าเยอะเลย  
โดย ส.รตนภักดิ์ : ๒๕๕๖

วันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2556

ผู้ใดรู้ทัน ผู้นั้นรู้ธรรม

                                         ผู้ใดรู้ทัน ผู้นั้นรู้ธรรม
                 ๑. รู้?
                  ๒. เห็น ?
                     ๓. รู้เห็นอะไร?
                        ๔. อะไรทำให้เห็น/รู้ไม่ได้

วันนี้เป็นวันสำคัญอีกวันที่ชาวพุทธได้มีโอกาสมาสร้างบุญกุศล บำเพ็ญทาน การให้สละเพื่อสร้างปารมี เพื่อจะได้เป็นมูลนิธิกุศลให้กับตัวเองทั้งชาตินี้และชาติหน้า เป็นการสืบทอดพิธีการศาสนาให้ลูกหลานได้ปฏิบัติสืบไป อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนพระภิกษุสามเณรให้ดำรงอยู่ได้ให้ยาวนาน วัดเพลง ภาษีเจริญ ได้เอื้อสถานที่ ให้ญาติโยมได้เสียสละทาน การสร้างกุศลนี้ เพราะเราได้รู้จักที่ๆทำบุญ สร้างกุศล เพราะเราได้รู้จากการบอกเล่า บอกต่อสืบๆกันมา บ้างได้รู้ประจักษ์ด้วยตัวเอง นี่คือ การรู้จักผ่านทางประสาทตา และยังได้ลงมือกระทำด้วยตัวเองอีกด้วย จึงถือกันเป็นประเพณีไปแล้ว การที่เราได้มีโอกาสมาทำบุญเช่นนี้ เราจะต้องแสดงท่าทีหรือการกระทำที่ถูกต้องตามหลักศาสนาให้ถ่องแท้ มิฉะนั้น เราจะก็จะทำตามแบบอย่างที่ไม่รู้อะไร และอาจจะไม่รู้เป้าหมายที่แท้จริงทางศาสนาก็ได้ แต่กลับอาศัย สายทาน ศรัทธา ความเลื่อมใส แสดงกิจกรรมเกี่ยวกับบุญกุศลแบบหลงบุญ ติดบุญหลงบุญ เลยไม่รู้ว่า ทำบุญคือ อะไร เพราะฉะนั้น วันนี้เราจะรู้จักบุญ รู้จักวัด รู้จักวิธีการทำบุญนี้ ก็เพราะเรามีประสาทที่สามารถรับรู้ มีตา มีหู ที่รับเอาข้อมูลมาไว้แล้วก็แสดงออกตามที่ตัวเองต้องการ

      วันนี้ จึงอยากชี้แจงแสดงเรื่อง การรู้ การเห็นเพื่อสืบสาวไปสู่การรับข้อมูลที่ถูกต้องและข้อมูลที่เป็นจริงตามหลักพระพุทธศาสนา เพื่อให้เข้าใจว่า พระพุทธศาสนาเน้นการเรียนรู้จากทั้งสองนี้อย่างไร ก่อนอื่นอยากจะถามว่า รู้ คือ อะไร รู้อะไรกันแน่ รู้จากไหน รู้ได้อย่างไร การรู้ เกิดมาจากประสาทที่เรามีอยู่ ประสาทในที่นี้คือ ประสาทภายใน เรียกว่า อายตนะภายใน กับวัตถุสิ่งของที่อยู่ภายนอก เรียกว่า อายตนะภายนอก สิ่งที่เรารู้ก็คือ

. สิ่งที่อยู่ในตัวเรา นั่นคือ อายตนะภายใน โดยมีใจเป็นประธานใหญ่ ผลจากที่เรารู้จากสิ่งที่อยู่ภายในคือ อารมณ์ ความรู้สึก ความนึกคิด นี่คือ คุณสมบัติที่อ่อนไหวต่อสิ่งภายนอก และมันคือ ตัวตนของเราเอง เวลาเราโกรธ เกลียด รัก เสียใจ ดีใจ คิด เราก็อาศัยสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงตัวเอง สิ่งที่ประกอบเราให้โดดเด่นขึ้นมาอย่างตระหนักรู้คือ สติ สัมปชัญญะ จิตสำนึก มโนธรรม ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เกิดจากการขัดเกลา ฝึกฝนให้มีให้เป็น เมื่อเราหยุดจากอารมณ์ภายนอกมาสนใจภายในคือ ตัวเอง เราก็จะตรึงไว้กับอารมณ์เดียวหรืออยู่ในเอกกัคตาส่วนมากเราจะใช้ลมหายใจ เพื่อการฝึกฝนเรียนรู้สิ่งที่อยู่ภายในตัวเอง นั่นก็คือ การรู้จากตัวเอง ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะจับงานหรือเตรียมการที่จะทำอะไรสักอย่างในงานลำดับต่อไป เพื่อมิให้ใจหรือตัวเองซัดส่ายไหล ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์อื่น เพราะเราประสบกับสิ่งที่อยู่ภายนอกมากมาย
. สิ่งที่อยู่นอกตัวเรา คือ สิ่งที่เรียกว่า สิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลต่ออิทธิพลต่อชีวิตเรามากมาย ทำไมเราต้องเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ เหตุผลก็คือ ชีวิตเราอยู่ได้ เพราะมัน เช่น ลมหายใจ ร่างกายเราต้องการน้ำ อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักโรค นอกจากนี้ เรายังต้องการสิ่งที่เป็นของเล็กๆ ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น ฉะนั้น การที่เราจะใช้มัน เราเองก็จำเป็นอยู่ดีที่จะต้องทำความรู้จักมันให้ดี มิฉะนั้น เราเองจะได้รับอันตรายจากมัน เราต้องเรียนรู้ทั้งสองด้านคือ ข้อดี ข้อเสียของมัน เพราะมันมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของตัวเรา นี่คือ สิ่งที่เราต้องรู้ก่อน

. รู้ถึงความสัมพันธ์ทั้งสอง เมื่อรู้แต่ละส่วนแล้วเราก็ควรรู้ถึงความสัมพันธ์ของกันและกันว่า มีส่วนที่เกี่ยวโยงต่อการดำเนินชีวิตอย่างไร เพราะว่าสิ่งต่างๆที่อยู่ในโลกนี้ ไม่ได้เกิดมาอย่างลอยๆ แต่อุบัติมาโดยเกี่ยวพันกัน เพื่อความอยู่รอด เช่น จักรวาล + ดวงอาทิตย์ + โลก + เวลา + อากาศ + น้ำ + ต้นไม้ + สิ่งมีชีวิต + วัตถุต่างๆ ทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรอยู่อย่างอิสระเลย เมื่อเราอยากรู้ว่ามันเกี่ยวข้องอย่างไร ทางเดียวก็คือ เรียนรู้มันอย่างละเอียด หรือแม้แต่อวัยวะส่วนต่างๆในร่างกายเรา ล้วนแต่มีส่วนที่สัมพันธ์กันทั้งสิ้น เมื่อย่อลงก็จะได้แค่ กาย + ใจ + สิ่งแวดล้อม เพราะอะไรมันจึงมีความสัมพันธ์เช่นนี้ ทางต่อไปก็คือ ต้องเรียนรู้ข้อต่อไป


. รู้เงื่อนไขที่นำไปสู่ความรู้คือ แก่นสาร กาล เทศะ เหตุ-ปัจจัย สิ่งต่างๆที่กล่าวมานั้น เป็นสิ่งที่เราแยกกันไม่ออกในเชิงระบบหรือกลไก แต่การที่มันจะเกี่ยวโยงกันนั้น มันก็มีเหตุมีปัจจัยในการเชื่อมโยงกันอยู่ เพราะคุณสมบัติแต่อย่างจะปรับเข้าหากัน อาศัยกันโดยอาศัยคุณสมบัติของตัวเอง อาศัยคุณลักษณะ กาลเวลาที่ต้องมีการปรับตัวเองเข้าหาสิ่งอื่น เช่น พืชอาศัยน้ำ แมลง สัตว์ อาศัยพืช น้ำ อากาศ พืช น้ำ ต่างก็อาศัยกัน พืชบางชนิดต้องการสัตว์ช่วยการแผ่ขยายกระจายพันธุ์ ทั้งหมดนี้ คือ มีเหตุและมีผลรองรับ เมื่อมีสิ่งนี้ สิ่งอื่นก็อุบัติตามมา มนุษย์อาศัยสิ่งแวดล้อมโดยไม่เจาะจง เพราะเราเกี่ยวข้องโดยการกินพื้นที่กว้าง นี่คือ สิ่งจำเป็นที่เราจะต้องรู้ก่อนถึงมุมที่กว้างๆก่อน เพื่อให้ได้มุมมองว่า มีทางคิด ทางเอาตัวรอดอย่างไร จะหลุดพ้นมันได้อย่างไร โดยไม่ปฏิเสธมัน


. รู้มรรคหลุดพ้น การรู้วิธีสุดท้ายเป็นการรู้แบบเอาตัวรอดจากสิ่งที่เราเกี่ยวข้องด้วย เพราะเราจะต้องพัฒนาการในตัวเองให้เกิดการผ่าเหล่ากอสัตว์เดรัจฉานให้ได้อย่างสิ้นเชิง เพราะสัตว์และเราหากไม่มีทางอื่นๆหรือทางที่สามารถคุมตัวเอง หรือมีคุณสมบัติบางอย่างมาขัดเกลาเรา เราเองก็จะไม่แตกต่างจากสัตว์เหล่านั้น ทางที่จะข้ามให้ได้นั่นคือ มรรควิถีในการผ่าเหล่า หมายความว่า การอาศัยความรู้ในตัวเราที่เกิดมาจากการรู้สิ่งแวดล้อม รู้แบบรู้ตัว โดยอาศัยศาสนาเข้ามาช่วยนั่นคือ ธรรมะ ธรรมะคือ เครื่องนำพาเราหลุดพ้นจากที่เดิม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็จะต้องอาศัยการฝึกฝนขัดเกลาตัวเองให้ฉลาดรู้เท่าทันตัวเอง สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างตัวเองและสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ เหตุผลที่เราจะต้องอยู่เหนือ หรือรู้เหนือสิ่งเหล่านี้คือ ๑) ตัวเราเองคือ สายใยที่สัมพันธ์กับมันอยู่ ๒) จิตใจที่เป็นของเรายังอ่อนแอต่อระบบธรรมชาติอยู่ ๓) เรายังไม่มีเครื่องมือในการยับยั้งความอยากที่ตอบสนองตัวเองอยู่ประจำ ๔) หากเราต้องการเรียกตัวเองว่า มนุษย์ที่ประเสริฐ จงอย่าพอใจที่ตัวเอง ที่สัมพันธ์กับสิ่งต่างๆอย่างน่ายินดี ๕) สิ่งต่างๆเหล่านี้ไม่มีผลที่น่าพอใจสำหรับนักปฏิวัติตัวเอง ๖) ทุกอย่างล้วนแต่เป็นไปตามกระแสของมัน หากเราไม่รู้กระแสมันเราก็จะไหลไปอย่างลืมตัวชั่วชีวิต ๗) อยู่กับมันอย่างรู้เท่าทันคือ เป้าหมายของผู้รู้ นั่นเอง


เมื่อเราทราบแล้วว่า รู้อะไร ต่อมาเราก็มาทำความรู้อีกระดับสอง คือ รู้จากไหนบ้าง ความรู้ที่เราได้มา รู้มา เราก็ต้องใส่ใจมันด้วยว่า มาจากไหน เพื่อจะได้ทราบต้นตอกอเหล่ามันถูก หาแหล่งมันได้ ในที่นี้ขอชี้แจง อย่างคือ ๑) จากข้อมูล ๒) จากการคิดใคร่ครวญ ๓) จากสื่อกลาง ๔) จากประสาททั้ง๕


. จากข้อมูล ในชีวิตของเราทุกๆวัน เราได้ทราบ ได้เก็บข้อมูลจากตา หู จมูก กลิ่น สัมผัสอยู่เสมอ ตั้งแต่เด็กทารกแล้ว เพราะฉะนั้น ในสมองของเราจะมีข้อมูลที่สะสมเอาไว้มากมายหลายอย่าง ข้อมูลเหล่านี้ มีทั้งดีไม่ดี อันนี้เราเรียกว่า ประสบการณ์ เช่น เราเห็นแก้วแตก เรายังไม่ทันเหยียบแต่เราก็สึกว่า กลัวแล้ว เห็นสายไฟฟ้า เราก็ไม่กล้าเสี่ยงเข้าใกล้หรือจับ เห็นมะนาว มะขาม ที่เขาผ่าเราก็รู้แล้วว่ามันเปรี้ยวเสียวฟัน นี่เพราะว่า เรามีข้อมูลอยู่แล้ว ในชีวิตเรา สิ่งที่เรารู้นั้น ส่วนหนึ่งมาจากข้อมูลเดิม อีกส่วนเป็นข้อมูลใหม่นั่นเอง


. การคิดใคร่ครวญ เวลาเราทำอะไรมากมายหลายอย่าง เรามักจะลืมบางอย่างไปด้วย จริงๆชีวิตเราในแต่ละวัน ก็สาละวนอยู่กับกิจกรรมต่างๆ ทางประสาททั้ง ทางความคิด เดี๋ยวเรื่องโน้น เรื่องนี่สารพัด พอเราจะทำอะไรให้เกิดความจำ เกิดสมาธิให้แน่วแน่ ต้องใช้ความรู้ ใช้ความคิด ทบทวนเอาสิ่งต่างๆที่ทำลงไป เพื่อเรียกความทรงจำกลับมา หรือถ้าหากเราต้องการอยากรู้ อยากเข้าใจเรื่องบางเรื่อง เราต้องใช้ความคิด ความจำ การคิดเชื่อมโยงใยกับสิ่งต่างๆ การประมวลเอาความรู้นั้น ต้องอาศัยการไตร่ตรอง มองให้กว้างๆ อย่างละเอียดอย่างเงียบๆ หรือนิ่งๆ ส่วนการใช้ปัญญา การใคร่ครวญ การใช้โยนิโสมนสิการนั้น เป็นการคิดแบบแสวงหาความจริง แสวงหาความเหตุหาผล เราจึงจะสามารถกล่าวได้ว่า การแสวงหาความรู้ การแสวงหาความจริง ฉะนั้น ความรู้จึงยืนยันได้แน่นอนว่า เกิดมาจากการคิด ใคร่ครวญ ซึ่งมันคือ คุณสมบัติของมนุษย์นั่นเอง

.จากสื่อกลาง ลองนึกดูว่า ความรู้มันผ่านมาทางไหน อาศัยอะไรเป็นเครื่องมือสื่อสารออกมาบ้าง อะไรคือ สื่อที่เป็นตัวช่วยให้เราสามารถรู้โดยอาศัยสิ่งอื่นบ้าง จากฐานความรู้ที่เรารู้ คือ ตัวเอง สิ่งแวดล้อม เงื่อนไข ความสัมพันธ์และกลไกต่างๆ ในตัวเรามีระบบประสาทที่เอื้อต่อการรู้คือ ตา หู จมูก ลิ้น ผัสสะ และการคิด ตาเรานั้นต้องการแสงจึงจะมองเห็นชัดเจน จึงจะทราบได้แน่นอนว่า สิ่งที่เห็นนั้นคือ อะไร บางทีสิ่งที่เราเห็นอาจจะเลือนลางไม่ชัดเจน นั่นเพราะแสงไม่พอ เราดูหนัง ดูละคร ก็อาศัยสี แสงเป็นหลัก หู เราก็อาศัยเทศะคือ สถานที่อยู่ไกลหรือใกล้ เสียงดัง เสียงค่อย อาศัยอากาศและเครื่องกีดขวางในการส่งเสียงหรือกั้นเสียง ฯลฯ นี่คือ สื่อกกลางในการช่วยให้เรารู้ จะเห็นว่า หูคนเราจึงมีลักษณะรูปทรงเป็นโพรง และมีกระดูกอ่อนเป็นหลุมปุ่มโปนเพื่อกันเสียงให้เลยหูนั่นเอง ในสัตว์เราจะพบเห็นชัดเจนเช่น สุนัข แมว เสือ ช้าง หมาไน มีหูใหญ่เพื่อการฟังเสียง


. ประสาทรับรู้ นี่คือ ส่วนที่สำคัญที่สุดในการสร้างองค์ความรู้ หากเราขาดประสาทส่วนนี้ เราจะไม่สามารถรู้อะไรเลย หรือหากระบบประสาทของเราล้มเหลว หรือไม่ก็พิการ เราก็จะลำบากในกรอง สิ่งภายนอก เพราะระบบส่วนประสาท คือ ระบบสร้างความรับเพื่อสื่อเอาสารไปกรองในสมอง แล้วเราก็จะได้ความรู้ขึ้นมา เช่น การฟัง เพราะหูเราไม่พิการ ไม่หนวก ประสาทการรับจึงสามารถส่งข้อความผ่านระบบประสาทไปสู่สมองได้ พระพุทธศาสนาจึงถือเอาการฝึกหัดเรื่อง การอ่าน การฟัง การสัมผัส การเคลื่อนไหว คือ ฐานการสร้างปัญญา เรียกว่า พหูสูต หมายความว่า เป็นผู้ที่ได้ยิน ได้ฟัง ได้คิด ได้จดจำเอาไว้มาก เช่น พระอานนท์ที่ได้ยิน ได้ฟังเทศนาจากพระพุทธเจ้าอยู่บ่อยๆ จึงเป็นพหูสูต ความรู้ในเบื้องต้น จึงเกิดมาจากประสาทจุดนี้นี่เอง


มีคำถามว่า เราได้ความรู้มาได้อย่างไร ขอชี้แจงดังนี้คือ ๑) เราได้ความรู้มาจากการคิดไตร่ตรองเอง หาเหตุหาผลในตัวเอง เรียกว่า ใช้ระบบโยนิโสมนสิการ หมายความว่า คิดโยงเป็น คิดสาวเหตุและผลเป็น และคิดวางกรอบหรือหลักเป็น ๒) ต้องเป็นผู้ได้ยิน ได้อ่าน ได้ศึกษา ได้ปฏิบัติมาพอสมควรเรียกว่า มีประสบการณ์ และ ๓) ต้องรู้จักนำมาลองพิสูจน์ตรวจสอบ ฝึกฝน ปฏิบัติดูว่า เป็นจริง เห็นจริงหรือไม่ หากความรู้ที่เราได้มาผ่านขั้นตอนสามระดับนี้ มันก็จะเกิดเป็นความรู้ขึ้นมาทันที จะอย่างไรก็ตาม ความรู้เหล่านี้ ไม่สามารถรับประกันว่า เรารู้จริง รู้ถูกต้อง เราจะต้องอาศัยการเข้าใจ การรู้แจ้งแทงตลอดทะลุให้ได้ เราจึงจะได้ชื่อว่า เรารู้ เราเห็น เหมือนที่พุทธเจ้าท่านสอนเรา ว่าการรู้แจ้งแทงตลอดนั้นคือ การเห็นธรรม วิธีการที่จะเรียนรู้ธรรม การเห็นธรรมนี้ ในสมัยพุทธกาลก็มีวิธีอยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะเจ้าสำนักทั้ง ซึ่งพอสรุปวิธีการที่เขาแสวงหาความรู้สามประการคือ ความรู้แบบประจักษ์ คือ ความรู้ที่ได้มาจากระบบประสาททั้ง๕ นั่นเอง ความรู้แบบอนุมาน คือ ความรู้แบบการคาดการเอา จากสิ่งที่เห็นหรือสิ่งที่รู้ทั้งหมดแล้วประมวลเอาและความรู้แบบบอกเล่า คือ ความรู้ที่ได้จากการอ่านจากคัมภีร์ การได้รู้จากคนอื่นบอกเล่าที่สืบทอดกันมา ส่วนในทางพระพุทธศาสนา มีวิธีในการแสวงหาความรู้อยู่เช่นกัน คือ ความรู้เกิดมาจากการใช้ประสาททั้ง๕ เหมือนกัน จะเรียกว่า เป็นพหูสูตก็ได้ สอง ความรู้ที่ได้จากการคิด การใช้โยนิโสมนสิการ คือ คิดหาเหตุหาผล คิดใคร่ครวญ อย่างมีหลักที่สามารถเชื่อมโยงกับสิ่งๆต่างที่อยู่รอบตัวได้อันนี้จะเรียกว่า จิตวิธี ก็ได้ และทางที่สามคือ การใช้วิธีภาวนาโดยการลงมือปฏิบัติ ลงมือฝึกฝนนี่เรียกว่า หลักสมถะและวิปัสสนานั่นเอง หากทำได้เช่นนี้ ก็จะได้ชื่อว่า ผู้เห็นธรรม รู้ทางธรรม เข้าใจหลักในศาสนาได้ ส่วนการที่จะรู้แจ้งเห็นจริงนั้น ต้องอาศัยวิธีอีกเช่นกัน


การเห็นนั้น ต้องอาศัยสายตา เป็นตัวบอก ตามีตานอกและตาใน ตานอกใช้มอง มองรู้ มองเห็น ส่วนตาในก็เป็นตารู้ ตาเห็นเช่นกัน แต่แตกต่างกัน เห็นอะไร เห็นสิ่งต่อไปนี้ ตัวเอง ธรรมชาติ กฏธรรมชาติ เห็นทางไปสู่การหลุดพ้น เห็นจริง (วิปัสสนา) จึงจะเรียกว่า เห็นจริง เห็นแจ้ง เห็นจากไหน ก็เห็นจากประสาททั้ง ๕ นี่เป็นการเห็นแบบสัญชาตญาณธรรมดาของสัตว์ เห็นจากการใช้จินตนาการ นี่เป็นการเห็นแบบวิเคราะห์ เห็นแบบคาดการณ์ หรืออาศัยประสบการณ์คำนวณเอาบางทีอาจจะใช้แบบคาดเดาก็มี และเห็นจากการใช้ภาวนาจากปัญญา การเห็นลักษณะเช่นนี้เป็นการเห็นที่มีระบบ มีขั้นตอนและมีที่สิ้นสุด คือ ปัญญา เรียกว่าตาที่สามนั่นเอง

เห็นได้อย่างไร

      
     ประสาททำงานเป็นปกติ เวลาตาดี หูดี เราก็คิดว่า สิ่งที่เราฟัง สิ่งที่เราเห็นนั้น ไม่ดี เราไปโทษสิ่งที่อยู่นอกตัว แต่เมื่อเวลาตาไม่ดี หูไม่ดี เรากลับมาโทษว่า ตาและหูไม่ดี ความจริงเพราะประสาทการทำงานของระบบที่สัมพันธ์กับสิ่งต่างๆนั้น เพราะประสาทมีระบบที่ทำงานเป็นปกติ เราจึงสามารถเห็นได้ ฉะนั้น การเห็น จึงเกิดมาจากประสาทที่เป็นปกติดี ไม่พิการ ไม่บกพร่อง สิ่งที่เราเห็นจึงเป็นภาพจริง จากสายตาเราเอง

   
     เพราะมีแสงสว่าง เมื่อเราเห็นสิ่งนั้น เพราะอะไร เพราะโลกนี้มีแสงสว่าง ส่องสาดให้ตาเรากำหนดเอาสิ่งต่างๆได้ สีที่เราเห็นเพราะมีแสงสะท้อนให้เกิดการรู้ว่านั่นสีอะไร เวลากลางวันเราสามารถเห็นวัตถุได้ดี ส่วนเวลากลางคืน เรากลับมองอะไรไม่ชัดเจน แม้แต่ในระบบร่างกายของเรา เมื่อทุกส่วนหมดสภาพลง ไม่ว่าตา หู ฟัน หนัง การรับรู้ทางระบบประสาท ก็เสื่อมลง ตาที่ว่าดี ก็ฝ้าฟาง หูที่ดีก็ตึง ฟันที่เรียงกันสวยงามก็หลุดคลอน หนังที่สวยงามก็เหี่ยวย่นลง เพราะกาลเวลาได้ทำลายเนื้อเยื่อต่างๆภายในร่างกายเรา อันนี้เป็นการเห็นที่ใช้ตาในและตานอก เพราะฉะนั้น การเห็นจึงอยู่ในรัศมีการเห็นดังนี้คือ

   
                        เห็นร่างกาย-ใจตัวเอง

                        เห็นลมปราณมีอยู่

                        เห็นธรรม เห็นทัน


บุคคลที่รู้และเห็นนอกจากนี้แล้ว จะเรียกว่า รู้ผิด และเห็นผิด การรู้แบบผิดมิได้เกิดจากระบบประสาทแต่เกิดเพราะข้อมูลผิด ที่เกิดจากการถูกครอบงำแบบผิดๆ แล้วก็ไม่มีปัญญากรองตรองตามได้ จึงจบลงที่การเห็นรอยคล้อยตามสิ่งที่ครอบงำ การเห็นแบบนี้ส่วนมากอาศัยการใช้ตาในมอง เมื่อตาในมืดบอด การมองก็เลยไม่ชัดเจน ทำให้เกิดการแสดงออกทางกาย การสื่อสาร การคิด การเชื่อแบบผิดๆไป เชื่อว่าตัวเองเห็นถูก การเห็นที่ถูก จะต้องมีหลักในการยึดเป็นมาตรฐานว่าไม่ผิดนั่นคือ ความเห็นผิด มี ๑๐ ข้อคือ โลกเที่ยง /ไม่เที่ยง โลกมีที่สุด/ ไม่มีที่สิ้นสุด/วิญญาณกับกายอันเดียวกัน/ไม่ใช่อันเดียวกันอรหันต์หลังตาย ไม่อยู่ /ไม่มีอยู่ทั้งมีอยู่และ ไม่มีอยู่/ทั้งมีก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่


       ส่วนการรู้ผิดก็มีหลักที่ควรยึดเป็นมาตรฐานในการรับรองทางพระพุทธศาสนา นี่คือ แนวคิดที่ไม่ควรมองว่าการรู้ว่าถูกต้อง เพราะมันขัดแย้งกับหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วก็คือ พุทธศาสนาสอนให้รู้จักการรู้ความจริง ไม่ใช่รู้มาจากเทพเจ้า ไม่ใช่มาจากพระพรหม แต่รู้ตามสภาวะที่เป็นจริงอย่างที่ตาในมองเห็น ด้วยศักยภาพมันสมองของเราเอง เพราะทุกสิ่งล้วนตกอยู่ภายใต้ ทุกข์ ความแปรปรวนและไร้ตัวตน จึงไม่น่ายึดถือว่าสวยงามตามที่ตานอกเห็น ส่วนใครจะมองนอกเหนือจากนี้ ก็ถือว่าเป็นการมองที่น่าจะต่อยอดได้ การรู้ผิดพอประมวลได้ดังนี้

                    รู้ผิดคือ รู้สิ่งที่ไม่เที่ยง ว่าเที่ยง รู้ว่าสิ่งที่ทุกข์ว่า เป็นสุข

                    รู้ว่าสิ่งที่ไม่ใช่อนัตตาเป็น อัตตา รู้ว่าสิ่งที่ไม่งาม ว่างาม

      
     สรุป การรู้ การเห็น แบบพุทธคือ การรู้ด้วยปัญญาจากการฝึกฝน สังเกตจากสิ่งรอบๆ ตัวและในตัวเอง แม้จากทัศนะต่างๆ จะมองกันคนละมุมก็ตาม เช่น คริสต์มองว่า ผู้รู้คือ พระเจ้าคนเดียวเท่านั้น พราหมณ์ มองว่าการเห็นหรือรู้สิ่งที่เที่ยงแท้ไม่แปรผัน เรียกว่า อาตมัน หรือวิชชา ผู้รู้จริงคือ พระพรหมเท่านั้น ส่วนชาวจีนมองว่า ผู้ที่รู้ความเป็นไปทั้งหมดคือ ฟ้าดินนั่นเอง พระพุทธศาสนามองว่า การเห็นสิ่งนั้นว่าเป็นสิ่งเที่ยงแท้นั้นคือ อวิชชาหรือความไม่รู้ ผู้ที่รู้ดีทั้งหมดคือ ตัวเอง หมายถึง ปัญญานั่นเอง แม้จะใกล้เคียงกับชาวฮินดูที่มองว่า อัตตาคือ ผู้รู้จริงในตัวเอง แต่ชาวพุทธมองว่า การใช้อัตตามองว่ารู้จริงนั้น ไม่ได้ใช้ปัญญาตัวเอง การรู้เหนืออัตตาคือ การรู้แม้แต่ตัวอัตตาว่า ไม่มีความเป็นอมตะ สิ่งที่เป็นแก่นสาระในชีวิตคือ การรู้จักทุกข์ รู้จักชีวิต เพราะ รู้ทุกข์ คือ รู้ชีวิต และการเห็นธรรม คือ เห็นกฎสากล หมายถึง การเข้าใจในความจริง เข้าใจในสภาวะที่เป็นอยู่อย่างที่มันเป็นโดยแท้

โดย ส. รตนภักดิ์ :๒๕๕๖