วันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

รัก มาจากไหนบ้าง

“รัก” มาจากไหน?
                    คำว่า “รัก” (Love) ไม่มีความหมายที่ลงตัวหรือเป็นมาตรฐานที่แน่ชัด เพราะแต่ละคนจะให้นิยามความหมายเอาตามประสบการณ์ที่ตนมีอยู่ และไม่รู้ว่า มันมาจากไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่จริงหากศึกษาและสังเกตให้ดีอย่างรอบคอบ รอบด้าน จะพบว่ามันมาจากพฤติกรรมของมนุษย์นี่เอง แต่เนื่องจากว่า ชีวิตในโลกนี่มีอะไรที่น่าศึกษาและน่าตื่นเต้นมากกว่า และมันก็ฝังอยู่ในยีนของทุกๆ คน จนไม่รู้สึกว่ามันมีอยู่
รัก มาจากภาษา
           สิ่งแรกที่เรารู้จักคำว่า “รัก” คือ ภาษา หมายถึงภาษาของแต่ละเผ่าพันธุ์ของตนเอง ที่เรียนรู้และเข้าใจในความหมายพร้อมกริยา ท่าทาง พฤติกรรมของกันและกันในแต่ละวัน จนเกิดภาพกริยา อาการ การแสดงออกของแต่ละเฟรม ของการเคลื่อนไหวร่างกาย สีหน้า อารมณ์ จิตใจ และเจตจำนง  จนนำไปสู่การเรียนรู้ พร้อมสร้างกระบวนการติดต่อ สื่อสารออกมาโดยเลียนแบบกัน ในที่สุดก็ถ่ายทอดกันเป็นรุ่นแล้วรุ่นเล่า
           ในหัวข้อนี้มุ่งเน้นที่จะรู้ว่า ความรักมาจากไหน เริ่มอย่างไร จึงต้องอธิบายที่มา ที่เกิดจากจุดกำเนิดของมนุษย์เองในเชิงวิเคราะห์ หากใครศึกษาด้านชีววิทยา ย่อมจะได้เปรียบที่มีทุนของชีวิต อันจะนำไปสู่การอธิบายให้เข้าใจว่า รักมันมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำเนิดของชีวิตด้วย ตั้งคำถามเล่นๆก่อนว่า ชีวิตที่เกิดมามันมีเส้นทางไปในลักษณะใด สัมพันธ์กับอะไรบ้าง เกิดอะไรขึ้นบ้าง แน่นอน โดยประสบการณ์ของผู้ที่เกิดมานาน ย่อมรู้ดีว่า ชีวิตกำเนิดจากบิดา มารดาในเบื้องต้น เติบโต ในท่ามกลาง และตายลงในที่สุด หากจัดให้เข้ากับเวลาได้ ๓ กาลคือ อดีต ปัจจุบัน อนาคต และในช่วง ๓ กระเปาะที่ว่านี้ คือ ช่วงแห่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชีวิตในแต่ละวัน จนกลายเป็นไตรกาล แล้วนำไปสู่กระบวนการคิด จิตนาการ ความอยาก การเคลื่อนไหว ดิ้นรนต่อสู้ กินอยู่หลับนอนสืบพันธุ์ สร้างที่อยู่ สร้างครอบครัวขึ้นมา สุดท้ายก็ต้องลาจากโลกไป
           กระบวนการเช่นนี้ สำหรับเยาวชนจะไม่ค่อยเห็นภาพเฟรมของชีวิตในแต่ละช่วงได้ เนื่องจากว่า สมองยังมีข้อมูลไม่พอที่จะประมวลโลกทัศน์ได้ชัดเจน จึงต้องอาศัยการเรียนรู้ ลองรู้ ลองเสี่ยงเอาเอง จึงไม่มีข้อมูลความหมายของโลกที่เข้มข้น ทำให้มองเห็นแต่ความอยากรู้ อยากลอง อยากเสี่ยง แม้แต่เรื่อง ความรัก ที่เทเอียงที่วัยรุ่นอยู่ตลอดเวลา นั่นคือ ที่มาที่เราจะศึกษาว่า มันเกิดขึ้นอย่างไร มาจากไหนกันแน่
รัก มาจากพ่อแม่
           ก่อนหน้านี้ บอกว่า ชีวิตกำเนิดมาจากพ่อแม่ นั่นคือ ต้นกำเนิดของร่างกายของสิ่งชีวิตในเชิงกายภาพ เพราะสรรพสัตว์ทุกชนิดล้วนเกิดมาจากต้นแบบของตัวเองคือ พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตที่ต้องอาศัยเพศสืบพันธุ์ ก็เพื่อมิให้สายพันธุ์ของตนเองหดหายหรือกลายพันธุ์ไป ในระยะเวลาที่ยาวนาน นี่คือ เหตุผลหลักในการวางแผนที่แยบยลของสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนโลก หากสิ่งมีชีวิตไม่อาศัยเพศอื่นสืบพันธุ์ สายพันธุ์อาจสูญพันธุ์ในเวลาไม่นาน ด้วยเหตุนี้เอง สัตว์จึงถูกกาลเวลาวิวัฒนาการให้ปรับตัวอยู่บนโลกได้ยาวนาน จนทำให้เกิดลูกหลานและถ่ายทอดดีเอนเอ ยีน ที่เป็นต้นแบบมาสู่ลูกได้อย่างไม่ปิดเพี้ยน ทั้งนี้ก็รวมไปถึงพฤติกรรม สัญชาตญาณด้วย
รัก มาจาก ธาตุต่างๆ ของโลก
           แต่เมื่อศึกษาไล่ที่มาจริงๆ เรากลับเห็นต้นธาตุ ต้นแบบมาจากธาตุทั้งมวลของโลกที่เราอยู่อาศัย เป็นตัวต้นกำเนิดร่างกายของพ่อแม่เราเอง หมายความว่า ร่ายกายของสายพันธุ์เองก็กำเนิดมาจากธาตุต่างๆ ของโลก สะท้อนอีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตของลูกหลาน มาจากธาตุต่างๆ นั้นด้วยเช่นกัน ถ้ามองว่า ความรักมาจากพ่อแม่ แล้วพ่อแม่มาจากไหน คำตอบคือ ธาตุต่างๆ ของโลกนั่นเอง
รัก มาจากอดีตภพ
           กระนั้น เมื่อศึกษาสาวไปอีกว่า อะไรคือต้นเหตุให้ธาตุต่างๆ บังคับให้เราถูกหล่อหลอมมาเป็นรูปทรงของมนุษย์หรือมีปลายทางที่มนุษย์ คำตอบที่พอเป็นไปได้คือ วิญญาณ หรือผลกรรมของชีวิต ที่มาจากอดีตกาลหรือภพก่อนหรือมีต้นแบบที่ส่งบรรพบุรุษของเรามาเกิดด้วย  เราถูกสอนว่า ชีวิตที่เกิดมาได้ เพราะเราได้กรรมไว้ในอดีตและยังมีกิเลส มีเหตุคือ อวิชชาและตัณหา ที่ยังไม่หมด จึงต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก การมองเช่นนี้ เป็นการมองที่ต่างออกไปถึงข้ามภพ ข้ามชาติ นั่นหมายความว่า ความรัก คู่ครอง โชคชะตา ย่อมพัดพาให้มาคู่กันจากชาติปางก่อนก็ได้
รัก มาจากความเชื่อทางศาสนา
           จุดนี้เองที่อาจกลายเป็นปัญหาถามได้ว่า ยังมีอำนาจอื่นที่ดลให้มนุษย์เกิดมาครองคู่กันได้ไหม คำตอบคือ มี ในศาสนาคริสต์มีความเชื่อว่า มนุษย์ถูกพระเจ้าสร้างมาและกำเนิดให้มนุษย์คู่แรกคือ อีฟและอีวา หมายความว่า พระเจ้าสร้างมนุษย์ให้มาคู่กัน แต่ในพระพุทธศาสนาบอกว่า เพราะอดีตชาติได้สร้างบุญร่วมกัน เรียกว่า บุพเพสันนิวาส แต่ในแง่วิทยาศาสตร์คำกล่าวเหล่านี้คงไม่พอที่เชื่อถือได้ เนื่องจากไร้หลักฐานเชิงวิทยาศาสตร์พิสูจน์
           การพบที่มาของชีวิตเช่นนี้ ทำให้เราไม่มั่นใจว่า ปัจจุบันอย่างเดียวคงไม่สามารถให้คำตอบได้รอบด้านนัก มันจึงเกี่ยวโยงไปถึงกาลอื่นด้วย  นั่นหมายความว่า ต้องศึกษาค้นคว้าจากอดีต จากตำรา ตำนาน คัมภีร์ ช่วยให้เห็นมุมมองจากคนรุ่นเก่าว่า มีความเชื่อ มีมุมมองอย่างไร
รัก มาจากความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก
           เมื่อวิญญาณของชีวิตกำเนิดลงสู่ครรภ์ อยู่ครบ ๙ เดือน ก็คลอดออกมสู่โลก ในช่วงนี้ความรักริเริ่มกำเนิดขึ้นมาแล้วจากสายใยของแม่และลูก นั่นคือ สายใยใจรักของแม่ การสัมผัสจากอ้อมกอด ไออุ่นจากร่างกายแม่ จากน้ำนมของแม่ จากความรัก ความเมตตา อาทรของแม่ ที่ห่วงใยลูก อยากให้ลูกเติบโต จนเป็นเทวดาของพ่อแม่ รวมถึงกริยา ภาษาพูด ภาษากายของแม่ที่แสดงออกต่อลูก ทำให้ลูกซึมซับเอาความรู้สึกดีๆ มาปลูกไว้ในตัว จนกลายเป็นสัญชาตญาณไป นี่คือ จุดเริ่มแห่งรากรัก ที่เจริญเติบโต ขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เพื่อพัฒนาไปสู่ความรัก การอยู่ครองคู่ และมีสายเลือดสืบสกุลอีกรุ่นต่อไป
ใจที่บกพร่อง รักเสมอ
           สรรพสัตว์ที่เกิดมาล้วนมีเข็มทิศแห่งรัก สายพันธุ์ กระตุ้นให้เกิดการหาคู่ สืบพันธุ์ทั้งสิ้น เราสามารถคาดการณ์ได้ว่า สัตว์ย่อมมีทางเดินไปเช่นนี้เสมอ เมื่อยังเด็กพวกเขายังไม่ได้แสดงออก ต่อเมื่อโตเป็นหนุ่ม สาว เริ่มดำเนินไปตามทิศทางของตัวมันเอง แม้จะกฎห้าม มีกฎหมาย กฎศีลธรรมคอยกำกับมิให้มนุษย์ละเมิดคู่กันก็ตาม มนุษย์ก็ยังละเมิดหรือผิดกฎกันอยู่ มันสะท้อนให้รู้ว่า แรงขับภายในของร่างกายนั้น มีอำนาจพอที่จะทำร้ายคนอื่น ข่มเหงคนอ่อนแอ หรือฆ่าแกงกันได้  เนื่องจากว่า สัญชาตญาณแห่งรัก ความใคร่ ความอยาก ความหลง จะทำให้ผู้คนหลงกลความรัก ความใคร่ ที่เหมือนมันบกพร่องอยู่เช่นนี้ตลอดไป ดังนั้น ผู้คนในโลกจึงโหยหา เรียกร้อง เรียกหาความรัก คู่ครองมาเชยชม นั่นเพราะแรงขับจากสัญชาตญาณแห่งสายพันธุ์นั่นเอง
           จากภาพทั้งหมดของสัตว์โลก ที่แสดงพฤติกรรม หมกหมักอยู่ในวงเวียนแห่งสายพันธุ์ ทำให้พวกเขาไม่สามารถกำหนดทิศทางของวิถีชีวิตที่ดีกว่า เหนือกว่าไม่ได้ จึงได้บ่น ทนทุกข์ กดดันอยู่ในภาวะซึมเศร้า เหงาหงอยอยู่จนตลอดชีวิต ไม่คิดว่า ชีวิตที่ดำเนินไปสู่อริยชีวีมีอยู่หรือไม่ จึงขาดความเชื่อมั่นในหลักการหรือทฤษฎีอื่น ทำให้ขาดวิสัยทัศน์ที่จะหาโอกาสได้หลุดพ้นโลกียวิสัย พ้นเยื่อใยแห่งรักอย่างสิ้นเชิงได้  เมื่อไม่รู้ชีวิต ไม่รู้ก้าวย่างทางชีวิต ความเชื่อมั่นก็ไม่เกิดขึ้น อันที่จริงเราไม่ได้เชื่อมั่นในตัวเองเพียงพอ จึงต้องแสวงหาครูสอน เพราะมนุษย์เกิดมาหากไม่รู้จักตัวเองดีพอ ย่อมท้อแท้งอแงง่าย แต่ถ้าค้นหาตัวเองเป็น จะพบขุมพลังที่ลึกลับสิงอยู่ในตัวเราเอง รวมไปถึงความรักที่เป็นเพียงมายา หลอนหลอกตัวเอง มองไม่ออกว่า มันคือ คนตาบอดที่นั่งสั่งการอยู่ภายในเรานี่เอง
           กว่าเราจะเข้าใจและรู้ดี มันก็ผ่านชีวิตไปครึ่งหนึ่งแล้ว เมื่อหันกลับมามองชีวิตที่ผ่านมา จึงพบว่า นั่นคือ ลูกโป่งที่ถูกเป่าลมเข้าไป โดยไม่มีอะไรอยู่ข้างในเลย แน่นอนว่า วัยผู้ใหญ่ ย่อมจะเข้าใจชีวิตได้ดีกว่าเด็กวัยรุ่นแน่นอน จึงทำให้ต่างวัยแสดงความรู้สึกเรื่อง รักต่างกันไปคนละมุม หากเราใช้ประสบการณ์เรียนรู้เอง ก็จะรู้เห็นต้นเหตุแห่งความรักที่เกิดจากตัวเองทั้งสิ้น แล้วใครจะคิดขัดแย้งแรงสัญชาตญาณ ที่สะสมมาหลายแสนปีละ นั่นหมายความว่า เรากำลังจะทรยศทรยศสายพันธุ์ของตนเอง ให้จบสิ้นลง และนั่นเป็นการปีนเกลียวกระแสโลกอย่างสุดโต่งด้วย
           ดังนั้น ความรักตามทัศนของคนเหนือโลก มันคือความคิดที่จอมปลอมที่หลอกหลอนเจ้าของให้ลุ่มหลง งมงายในโลกสัญชาตญาณ ที่แท้จริงที่เป็นแก่นสารที่ไร้ตัวตน ส่วนคนที่ตามกระแสโลก ความรักคือ แก่นแห่งการพึ่งพาของคนที่อ่อนแอ ที่บกพร่องกำลังใจตลอดเวลา ยากที่หลีกเร้น ในรสชาติที่หอมหวาน น่าตื่นเต้นอย่างนั้น จึงพอสรุป รักในทัศนะต่างมุมมองดังนี้
           ความรักจากพุทธศาสนารียกว่า “รักด้วยความเมตตา” (Loving kindness) กรุณาต่อกัน หวังดีต่อกัน ไม่มีความใคร่ในการแสวงหาความสุขทางโลกีย์กันและกัน
           ความรักจากพระเจ้าเรียกว่า “อกาเป” (Agape) ซึ่งเป็นความรักสากล ที่เอาใจผูกพัน สัญญาว่าจะทำ จะคิด เพื่ออุดมคติในการอยู่ร่วมกับพระเจ้าเมื่อสิ้นใจ เรียกอีกอย่าง่า อยู่ในภราดรภาพ
           ความรักของของหนุ่มสาว “รักเพื่อสืบสายพันธุ์” (Sensuality) เพื่อความใคร่ ได้อยู่ร่วมกัน อย่างมั่นคงตลอดไป เป็นความรักแห่งสัญชาตญาณของสัตว์โลก
           ความรัก ที่เรียกว่า “รักษ์” (Protection) มาจากพ่อแม่ ที่ต้องการดูแล ปกป้อง รักษาสายเลือดของตนเองให้อยู่กับตนตลอดไป
           ส่วนความรักที่ยิ่งใหญ่ของสัตว์โลกที่ไร้สิ่งใดเสมอเหมือนคือ “รักตัวเอง” (Selfish) ในบรรดารักที่เกิดขึ้นทั้งหมด มารวมลงที่รักตัวเองทั้งสิ้น
         

วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

มีเงิน มีอำนาจจริงหรือ

                                 "เงินคือ พระเจ้าจริงหรือ"

                              ๑) เงินคืออะไร
                              ๒) เป้าหมายความร่ำรวยคืออะไร
                              ๓) เหนือร่ำรวยคืออะไร
                              ๔) แก่นของการโหยหาของใจคืออะไร
          
         ปรากฎเหตุการณ์ของสังคมเมืองที่ผู้คนกำลังอยู่ด้วยความกังวล หวาดผวา และไม่ค่อยปลอดภัยคือ การลักขโมย จี้ ปล้น มีอยู่ทุกหน ทุกแห่ง มีข่าวไม่เว้นแต่ละวัน บ้างเสียทรัพย์ เจ็บตัว เสียชีวิต ทำให้การดำเนินชีวิตไม่ค่อยสงบราบรื่นนัก เพราะต้องคอยระวังอยู่ตลอดเวลา ครั้นจะพึ่งพาตำรวจ เจ้าหน้าที่ ก็เสียเวลาและเสียความรู้สึกที่ต้องวาดหวังวว่าตำรวจจะช่วยได้ จึงต้องหาทางป้องกันตัวเอง ตั้งแต่บ้านต้องมีรั้วล้อมอย่าหนาแน่น บ้านต้องมีประตูแน่นหนา มีกุญแจใส่ มีกล้องวงจรติดไว้จับผู้ร้ายเข้าบ้าน เมื่อออกจากนั้น มีรถที่เป็นที่ส่วนตัว เป็นบ้านเคลื่อนที่ กระนั้น ก็ไม่ปลอดภัยที่ขโมยจะทุบเอาทรัพย์สิน หรืออยู่คนเดียว เดินทางไปไหนมาไหน ก็เสี่ยงที่จะถูกปล้น ถูกจี้ แสดงว่าบ้านเมืองในสังคมเมือง ไม่มีความมั่นคงในทรัพย์และชีวิตแล้วหรือ

          นี่คือ ภาพแห่งความจริงที่สังคมเมืองเผชิญอยู่ทุกวี่วัน เป็นเพราะอะไร จะแก้ไขอย่างไรกัน ปัญหานี้ถูกหมักหมกมานานหลายทศวรรษ เกิดมาจากระบบโครงสร้างทางสังคม สิ่งแวดล้อมและปัจเจกบุคคล ไม่มีอะไรที่เป็นปัญหาที่เป็นประมุขใหญ่ ต่างก็ล้วยอาศัยกัน เกื้อกูลหนุนส่งให้เกิดปัญหาถาวร มองไปทางไหน ระบบใดก็ล้วนเปราะบาง พังเพกันไปหมด จะหาหลักอิงที่เป็นมาตรฐานในสากลของประเทศไม่ได้ ส่วนหนึ่งต้องยอมรับกันทุกคนว่า เราทุกคนคือ ชนวนเหตุของปัญหาทั้งสิ้น จากปัจจัยข้างนอก ไปสู่ปัญหาด้านใน ไม่ต้องโทษหน่วยงานหรือองค์กรใด เพราะทุกคนคือ กลไกหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้เราทำไมไม่แก้ปัญหากัน นั่นคือ คำที่ก้องอยู่ในหัวทุกคน แต่ก็ต้องทน ต้องรอผู้นำสักคนมีแนวคิดที่จะจัดการ สะสางปัญหาเหล่านี้ไปได้ และนั่นคือ ความหวังของเราทุกคนที่รอคอย แต่เมื่อไหร่ละ

          โดยภาพรวมแล้วปัญหาต่่างๆ ในสังคมก็เกิดมาจากสังคมนั่นเองเป็นผู้กำเนิดขึ้น โดยเฉพาะสังคมเมือง เพราะเมืองคือ ต้นแบบของสังคมรอบข้าง ไปจนถึงชนบท เช่น การบริหารงาน การขนส่ง การศึกษา เศรษฐกิจ การเมือง การเงิน สื่อ ฯ ล้วนมาจากแม่แบบจากเมืองที่มีอิทธิพลไปยังท้องถิ่น รวมไปถึงทัศนะ ความคิด กระแส ค่านิยม พฤติกรรม การกิน การอยู่ ความเชื่อ ฯ ล้วนได้รับจากคนเมืองทั้งสิ้น จึงทำให้บ้านเมืองมีปัญหากระจุกอยู่ที่เมืองใหญ่ๆ ทั้งสิ้น เช่น การอพยพเข้าเมือง การหางานทำ เมื่อคนจำนวนกในที่แคบๆ ก็เกิดการแข่งขัน แย่งกัน ทำให้คนช่องว่างในทางโอกาสและศักยภาพ ที่แตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้คนจน คนด้อยโอกาส จึงต้องสำแดงความกดดันและความทุกข์ ที่กดขี่จากคนมีโอกาสทำลาย เป็นเหตุให้พวกเขาต้องฉวยโอกาสแบบผิดระบบหรือละเมิดกฎต่างๆ ของสังคม เพราะเขาเชื่อว่า นี่คือทางที่เขาสามารถอยู่รอดได้ ในขณะคนรวย คนมีอำนาจ คนมีโอกาสที่ดีกว่า เสวยสุข โอ้อวดด้วยวัตถุเคลื่อนที่ จนน่าหมั่นไส้

           เมื่อสังคมเกิดปัญหากระทบกันไปทั่วทุกที่ ก็ไม่มีใครต้องมารับผิดชอบ เนื่องจากว่า สังคมกว้างเกินไปที่จะจำกัดที่ในการสะสางปัญหา ทำให้เกิดความหละหลวมและเกิดภาวะรอยต่อระหว่างความดี ความถูกต้องกับความอยู่รอด ความเสมอภาคขึ้น เมื่อนานเข้าช่องว่างนี้เริ่มขยายกว้างออกไปเรื่อยๆ จึงเป็นเหตุให้เกิดอาชญากรรม ลักปล้นจี้ ฆ่ากัน ยิงกันบ่อยขึ้น เหมือนบ้านเมืองขาดศีลธรรม ไร้กฎหมายบ้านเมือง เมื่อสิ้นความตระหนักในปัญหา ไร้จิตสำนึกในศีลธรรม ไร้สำนึกถึงบาป การสำนึกผิดหรือมโนธรรม ปัญหาต่างๆ ก็จะรุมเร้า บีบคั้นให้การดำเนินชีวิตผู้คนคับแค้นใจ กดดันมากขึ้น จนกลายเป็นปัญหาสังคม ประเทศได้ ในขณะรัฐเข้าใจแต่ว่า การทำให้ประชาชนอยู่ดี กินดี มีรายได้เพิ่มขึ้น ร่ำรวยขึ้น จะสร้างความสงบสุข ความร่มเย็นให้กับสังคมได้ แต่เท่าที่เห็นเป็นเพียงกลไกที่ทำให้รายได้ขององค์กรของรัฐ เอกชน รัฐวิหากิจ มีรายได้เพิ่มขึ้น เก็บภาษีเพิ่มขึ้น จึงนำไปเป็นดัชนี้ชี้วัดว่า ประเทศมั่นคง หรือเศรษฐกิจดีขึ้น นี่ก็เป็นเครื่องชี้ได้ว่า เงินทอง ฐานะที่ร่ำรวยมิใช่เป้าหมายของพลเมืองที่จะอยู่ร่วมกันให้สงบหรือผาสุก

          เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งและซับซ้อนทางจิตใจและเป็นเรื่องคุณภาพด้านสติ ปัญญามากกว่าที่จะเสนอเงินก้อนโตแล้วเขาจะสงบสุข มันเป็นเรื่องที่ถูกล้างสมองมานานแล้วว่า การหาเงินได้มากๆหรือเป็นเศรษฐีแล้วจะมีความสุขหรือทำให้บ้านเมืองร่มเย็น เป็นการปลูกฝังกันมานานแล้ว นายแพทย์ประเวศ วะสี เตือนอยู่เสมอว่า การที่ถือเอาเงินเป็นตัวตั้งนั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่รัฐและชาวบ้านก็ยังมองแต่วัตถุนิยมว่าคือ พื้นฐานของการครองชีวิตให้เกิดความสุข นั่นเพราะชาวบ้านถูกหลอกหรือเห็นแม่แบบจากคนร่ำรวย ขี้รถ มีบ้าน มีอิสระที่ทำอะไรได้ จนเหมือนว่า นั่นคือ อุดมคติของคนจน จึงต้องแสวงหาเงิน หาทอง หาสมบัติให้มากๆ เพื่อจะได้เกิดความสุข ความสบายขึ้น แต่พอครั้นมีเงิน มีทอง มีทรัพย์สมบัติกลับต้องนอนสะดุ้ง อยู่อย่างระวัง กังวลใจอยู่ตลอดเวลา ไม่มีความสุขเลย จึงต้องตั้งทัศนะต่อเงินตราเสียใหม่ว่า เงินคือ อะไรกันแน่ จำเป็นสำหรับเราแค่ไหน ปลอดภัยหรือไม่ถ้ามี

          ๑. เงิน คือ อะไร  "เงิน" ตามทัศนะส่วนตัว คือ สิ่งของที่สมมติ (สัง = ร่วมกัน มติ = ลงความเห็น สัญญา) ร่วมกัน เพื่อนำไปแลกเปลี่ยนสิ่งของหรือกำหนดค่าสิ่งนั้นๆ ชนิดของเงินที่สมมติใช้ในปัจจุบันคือ แร่เงิน แร่ทอง กระดาษพิเศษ (แบงค์) หรือเชค ที่กำหนดเป็นจำนวนราคา ทั้งหมดถูกตราขึ้นมาตามกฎหมาย เพื่อนำไปแลกเปลี่ยนกันได้ ถือว่าเป็นเงินแท้ แต่ตัวมันเองไม่มีค่า ที่กำหนดคุณสมบัติเข้าไปคือ ๑) ตัวเลขที่กำกับบอกว่าเงินนั้นมีค่าตัวเลขเท่าไร ๒) มีกฎหมายรับรองถือว่าถูกต้อง ของแท้ ไม่ใช่เงินปลอม ๓) มีความต้องการของมนุษย์อย่างมาก ของที่ไม่ต้องการจะมีค่าน้อย ยิ่งดีมานด์มาก ของนั้นจะยิ่งมีราคา เช่น น้ำมัน ทอง เป็นต้น ทีนี่เมื่อกำหนดเงินขึ้นมา ผู้คนก็คิดว่า เงินคือ พระเจ้า ผู้ยิ่งใหญ่ ที่จะซื้อหรือแลกเอาอะไรก็ได้ ข้อเสียหรือจุดอ่อนของเงินคือ ๑) ไม่มีค่าในตัวเอง ๒) กินเป็นอาหารไม่ได้ ๓) เมื่อเกิดวิกฤติเช่นสงคราม ภัยพิบัติ เงินเหล่านี้ไร้ค่าไปทันที ๔) เมื่อยู่ในที่ที่ไม่เหมาะสมเช่น ป่า ถ้ำ กลางทะเล นอกอวกาศ เงินทองไร้ความหมายอย่างสิ้นเชิง ๕) เงินทองเหล่านี้ยังเป็นพาหะความโชคร้ายหรือความวิบัติมาสู่ตนด้วย เช่น ถูกจี้ ปล้น ถูกว่าจ้างให้ทำร้ายกันเอง ๖) เงินทองซื้อความสุขของใจไม่ได้ ๗) ซื้อชีวิตใหม่ไม่ได้ ๘) นำติดตัวไปสู่ปรโลกไม่ได้เลย ดังนั้น เงินมีทั้งคุณและโทษ อยู่ที่สติ ปัญญาของเราว่า จะนำไปใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์แก่ตนและคนอื่น

          ๒) เป้าหมายความร่ำรวยคืออะไร  อุดมคติเรื่องความร่ำรวยก็ยังคงสถิตอยู่ในใจของมนุษย์เสมอ จึงต้องวางเจตคติให้ถูกต้องเสียใหม่ว่า เงินมีไว้ทำไร มีเป้าหมายอะไรบ้าง ในวิถีชีวิตดั้งเดิมของมนุษย์สมัยอยู่ป่า อยู่เขา อยู่ถ้ำ ไม่ได้มีวัตถุเหล่านี้เป็นเครื่องมือ มันจึงไม่จำเป็นที่ต้องใช้ และมันก็ไร้ความหมาย เมื่อมนุษย์ออกมาจากป่าเขา มาสร้างบ้านเมือง ครอบครัวในสังคมใหม่ การทำมาหากิน การดำรงชีพต้องอาศัยการพึ่งพากันและกัน จึงจำเป็นต้องหาสิ่งของมาสนองให้เกิดความสัมพันธ์ต่อกันให้มั่นคง นานเข้ามาถึงปัจจุบัน การอยู่ร่วมกัน กลายเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการต่อสู่ดิ้นรนเอาตัวรอด ปลอดภัย เมื่อมนุษย์มากขึ้น การเป็นอยู่ก็ลำบาก แออัดไปด้วยผู้คน จึงเกิดการแย่งชิง การกอบโกย เพื่อตัวเอง เพื่อให้มาซึ่งสิ่งของที่เป็นอาหาร สิ่งของ ข้าวของ สิ่งต่างๆ เพื่ออำนวยแก่ชีวิต มนุษย์จึงรู้การสะสม แสวงหาสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตขึ้น สิ่งของหล่านั้น เมื่อนำไปแลกสิ่งของอื่นๆ ย่อมได้ผลคุ้มค่า มนุษย์จึงรู้จักการแลกเปลี่ยน ซึื้อขายกันขึ้น เงินทอง จึงกลายเป็นลำดับชั้นสูงสุดของการแลกเปลี่ยน เมื่อแลกแล้วก็นำมาบริโภค ใช้สอย แต่สิ่งจำเป็นของชีวิตในแต่ละวันคือ อาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย ชีวิตจึงต้องหาสิ่งเหล่านี้ไว้มากๆ เพื่อรับประกันว่า มีอาหารกินพอ

          ต่อมาเงินทองกลับมีคุณสมบัติเพิ่มขึ้น นั่นคือ เกิดอำนาจต่อรองในเจ้าของ เกิดการยอมรับในฐานะที่มีมาก น่าเคารพนับถือกว่ามีน้อยไป ผู้คนจึงยอมสยบกับคนร่ำรวยไป ทำให้ความต้องการของคนไม่มีต้องอ่อนน้อม ยอมปฏิบัติเยี่ยงทาสต่อคนมี ในที่สุดกลายเป็นอำนาจของเจ้าของ ที่จะใช้คนไม่มีอย่างไรก็ได้ นี่คือ คุณสมบัติที่เกิดมาในยุคใหม่นี้ ดูเหมือนว่า แทบทุกคนจะยอมสยบกับเงินตรา หาน้อยมากที่จะยอมทรยศกับมัน ถ้าหากเจ้าหน้าที่ทำงานไปเพื่อเงินทอง อย่างไม่นำพาเรื่องคุณธรรมหรือไม่สนใจเรื่องจริยธรรมละอะไรจะเกิดขึ้น เราคงได้ยินบ่อยๆ ว่า โกงชาติ ฉ้อราษฎร์บังหลวง ทุจริต ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาจริยธรรมในบ้านเมืองได้ หรือถ้าประชาชนทั่วไปไร้คุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม ไร้จิตสำนึก ทำอะไรไปเพื่อเงินทองละ อะไรจะเกิดขึ้นแก่สังคมบ้าง ทุกวันนี้เราก็พอทราบอยู่ 

          ดังนั้น เป้าหมายที่แท้จริงของเงินทองคือ เพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งของให้แก่ชีวิตดำเนินไปอย่างสะดวกเท่านั้น ส่วนอำนาจ การยอมรับนั่นเป็นสิ่งจอมปลอม เป็นสิ่งที่หาค่าไม่ได้ เป็นค่่านิยมผิดๆ ที่บอกว่า เงินทำได้ทุกอย่าง คนรวยทำอะไรไม่ผิด นั่นแสดงว่าพวกเขาตกเป็นทาสเงินอย่างไร้การไตร่ตรองแล้ว 

            ๓)  การอยู่เหนือเงินทอง เป็นเรื่องยากและค่อนข้างแก้ยากที่สังคมล้วนมีกระแสไปในทิศทางเดียวกันไปหมดแล้ว ไม่เว้นแต่ทางศาสนาด้วย ปัญหาคือ ปริมาณผู้คนเพิ่มขึ้น การทำมหากิน การเอาตัวรอดเป็นเรื่องจำเป็น ขอให้ตนเองรอดก็ได้ โดยไม่สนว่าจะผิดกฎหมายหรือศีลธรรม ไม่ต้องกล่าวเรื่องอุดมคติของชีวิต อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่า ไม่มีทางเป็นไปได้ แม้โลกจะเจริญก้าวหน้าไปไกล และมีผู้คนปริมาณมากก็ตาม ก็ยังมีผู้ที่มีใจที่เด็ดเดี่ยว มั่นคงในอุดมคติในการครองชีวิต โดยไม่อิงกับเงินเป็นหลัก ไม่ยอมเป็นทาสของเงิน อยู่แบบไม่ต้องง้อเงินทองก็อยู่ได้ โดยเฉพาะชนบท ข้าวปลาอาหารคือ สิ่งจำเป็นที่สุด มิใช่เงิน เพราะเงินกินไม่ได้ ส่วนคนในเมืองใหญ่คงยากที่จะหักดิบกับวิถีตนเองให้อยู่ในเงื่อนไขที่สุดโต่งได้ แต่ถ้าทำได้จะสร้างเสรีภาพให้แก่ตัวเองอย่างท้าทายที่สุด ดังนั้น จุดที่พอประนีประนอมคือ ใช้มันให้คุ้ม ไม่จำเป็นต้องถือว่าเงินคือ สิ่งจำเป็น ในเมืองใช่แน่ แต่ควรจะเผื่อใจไว้บ้างในยามวิกฤติหรือยามเดินทางไกล อยู่ในชนบทที่ขาดการแลกเปลี่ยนกัน เพราะเงินจะมีค่าก็ต่อเมื่อเกิดความต้องการ ถ้าไม่มีใครต้องการแล้วมันก็ไร้ค่า ฉะนั้น การอยู่เหนือกฎเกณฑ์ทางสังคม ต้องมองให้ลึกและมองให้เห็นประโยชน์อย่างแท้จริิงของมัน มิใช่แค่ผิวเผิน เพราะที่สุดแล้วมันก็นำไปกับเราหลังตายไม่ได้ เราคิดบ้างไหมว่า เราจะอ่อนแอเมื่อเรามีเงินมากๆ เพราะจะใช้เงินเป็นทาส ในขณะเดียวกัน เรากำลังตกเป็นทาสมันอย่างไม่รู้ตัวเช่นกัน แล้วยังคิดว่าตัวเองยังอิสระอยู่อีกหรือ 

          ๔) แก่นแท้ของการโหยหาเป้าหมายใจ  มองชีวิตให้รอบด้าน และรู้รอบจะพบแก่นสารของการมีชีวิตอยู่ การใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่ก่อให้เกิดความสุข ความจริงได้ แต่ถ้ามัวมองในสิ่งที่มัวเมาและลุ่มหลง ไม่มีทางที่ก้าวพ้นในกับดักใจนี้ได้ หนู แมลง สัตว์ตัวเล็ก มักจะหลงเหยื่อหรือเมาอยาก จนตัวเองติดจั่นหรือกับดักจนตาย มนุษย์คือ  สัตว์ประเภทเดียวที่รู้จักจุดหมายปลายทางของการกระทำของตนได้ และย่อมรู้ดีว่า เป้าหมายของร่างกายมีเส้นทางอย่างไร หากยังมัวเมาในโลกหรือในใจที่หลงใหล สิ่งต่างๆ หรือเยื่อใยในรสชาติของโลกละก็ โลกทัศน์ ชีวทัศน์จะสิ้นสูญอย่่างไร้วิสัยทัศน์ เพราะชีวิตในโลกล้วนปกคลุมไปด้วยมายา ส่วนที่เป็นจริงคือ สิ่งที่ผลึกในสมองที่เรียกว่า ใจ ที่มีคุณสมบัติที่รู้ได้ วิเคราะห์ได้ เรียกว่า ปัญญา  ร่างกายมันต้องการสิ่งปลอบโยนเสมอ ต้องการสิ่งกระตุ้นอยู่ตลอด และต้องเติมเต็มให้มันเสมอๆ ไม่มีวันจบ เว้นเสียแต่สิ้นลม แต่เมื่อร่างกายแก่ชรา เสื่อมสภาพลง ความต้องการ ความอยากก็พลอยลดลง แต่ยังไม่หมดไปอย่างสิ้นเชิง จนกระทั่งกายดับสูญไป นี่คือ เป้าหมายของมัน  แล้วชีวิตนั้นยังมีเยื่อใยหรือมีเป้าหมายอื่นอีกหรือไม่ คำตอบคือ มี ตามพุทธคติ คือ มนุษย์ที่ยังไม่พ้นวัฎต้องเวียนว่าย ตายเกิดอยู่ร่ำไป ดังนั้น ใจหรือจิต ที่ยังไม่พ้นวัฎ จำเป็นต้องเกิดอีกเป็นแน่ แต่แนวคิดนี่เริ่มจะหมดมนต์ขลัง เนื่องจากว่า ยุคใหม่แนวคิดนี้กำลังถูกหักล้างด้วยทางวิทยาศาสตร์ ผู้คนจึงมีอุดมคติแค่โลกใบนี้เท่านั้น แสดงว่าลัทธิจารวากกำลังถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกแน่นอน

           ดังนั้น ทิศทางของเป้าหมายของใจที่โหยหาในขณะยังมีชีวิตคือ ความสงบสุข ความเป็นอิสระ ความเสมอภาคนั่นเอง มิใช่เงินทอง ส่วนเป้าหมายในอนาคตคือ ไปที่ดี (สุ= ดี คติ= ที่ไป) ส่วนมากไปที่สวรรค์ นิพพานไม่ค่อยมี ทั้งสองเป้าหมายมิใช่จะได้ จะมี อย่างง่ายๆ แต่ต้องกำหนดทิศทาง เจตคติ ทัศนคติ (ทิฎฐุชุกัม) ที่ดี เหมาะสม ถูกต้องตามหลักศาสนาก่อนหรือหลักปัจเจกก่อนด้วยความมุ่งมั่นในกิจนั้น จึงจะสมหมายในปลายทางได้ มิใช่แค่ขอพร ขอภาวนาเท่านั้น

โดย ส.รตนภักดิ์ : ๒๕๕๖


 

วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

กลอนเวลา



                             "เวลา"

            เวลามา จากไหน ใครสรรค์สร้าง
มันเดินทาง สร้างแหล่ง แห่งหนไหน
พระเจ้าสร้าง วางฐานหรืออย่างไร
หรือว่าใน จักรกล คนผลิตมัน
            ต้นเหตุกาล ด่านกล บนท้องฟ้า
จักรวาล วิทยา ศึกษาสาน
ต้นกล ต้นระบบ สุริยัน
มีดาวเคราะห์ บริวาร แปดชั้นวน
           เมื่อดาวเคราะห์ เหาะลอย รายล้อมรอบ
เป็นเขตขอบ รัศมี พี่น้องต้น
เดินรอบ ตามกรอบปี ปริมณฑล
กลายเป็นกล แห่งกาล วันเวลา
           จากการหมุน ของดาวโลก หนึ่งยกใหญ่
กินเวลา ยาวไกล ได้หนึ่งหน้า
กลายเป็นปี เป็นเดือน เฉือนชีวา
ค่อยๆ คร่า อนาคต ให้หมดไป
           ยามเราเล็ก เป็นเด็กน้อย ค่อยๆ โต
เราก็โผ โอ้อวด สำแดงใหญ่
อยู่บนโลก โชกโชน ยลโลกไป
จนกาลกลาย กลืนกิน จนสิ้นกัลย์
           เราเรียกกาย แก่เกิน จะเดินก้าว
ใช้ไม้เท้า ก้าวเดินดัน ยันสังขาร
คนรุ่นใหม่ ไล่ล่า กล่าวหายัน
เรียกกายท่าน ว่าคนแก่ เหมือนแพพัง
           นี่คือกฎ แห่งกาล สังหารสัตว์
ไม่ว่าใคร ต้องถูกกัด ฟัดไม่ยั้ง
เมื่อเกิดมา ชีวาบ่าย ไปสู่ภังค์
สุดท้ายทาง คือจุดจบ กาลกลบกิน

โดย ส.รตนภักด์ : ๒๕๕๖ 

ร่ำรวย จนสุก

ร่ำรวย จนสุก
                              ๑. ทำไมคนไทยจึงอยากรวย
                              ๒. เหตุที่ทำให้รวยและจน
                              ๓. ศาสนากับการสร้างความรวย
                              ๔. ท่าทีพุทธกับความรวย
            ปัจจุบันในแต่ละประเทศกำลังวัดกันว่า ประเทศไหนมีฐานะร่ำรวย โดยดูจากค่าเฉลี่ยรายได้มวลรวมของประเทศคือ ค่า GDP (Gross Domestic Product) ประเทศใดมีค่าจีดีพีสูง นั่นหมายความว่า ประเทศนั้นมีเศรษฐกิจดี ผู้คนจะอยู่ดีกินดี รัฐบาลทุกประเทศล้วนอิงตัวเลขนี้เป็นมาตรฐานในการบริหารประเทศ แล้วประชาชนจะเช่นนั้นจริงหรือ ประเทศไทยก็เป็นเช่นกันยึดเอาตัวเลขนี้เป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจในประเทศด้วย  ปีนี้ GDP ๕.๕ % การอ้างตัวเลขที่ว่านี้ไม่ได้เป็นเครื่องประกันความอยู่ดีกินดีของชาวบ้านเลย แต่รัฐรับประกันรายได้จากระบบการจัดเก็บภาษีและผลผลิตทั้งประเทศเป็นตัวตั้ง ผู้ที่ร่ำรวยจริงๆ คือ นักธุรกิจ พ่อค้า นักลงทุนต่างหาก ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงดิ้นรนเพื่อหาเงินให้ได้เยอะๆ เหมือนรัฐทำ
            แนวคิดเช่นนี้ทำให้ประชาชนเกิดความอยาก อยากเป็นคนรวย อยากเป็นเศรษฐี คิดว่าเมื่อมีเงินมากๆ จะทำให้มีความสุข ความจริงความสุขมิได้เกิดจากการมีเงินมาก แต่เกิดมาจากความพอใจต่างหากด ด้วยเหตุนี้   ประชาชนกำลังถูกวิถีสังคมเมืองครอบงำ โดยพึ่งพาเงินตราเป็นหลัก จึงกระตุ้นให้คนชนบทถูกบีบคั้นให้หาเงิน แรงบีบคั้นนี้มิได้มีแต่เฉพาะชาวบ้านเท่านั้น ยังลุกลามเข้าไปในศาสนาด้วย สาเหตุเพราะในสังคมยุคใหม่เชื่อมโยงกัน และอาศัยกันในรูปแบบแลกเวียนเปลี่ยนกัน คือ ใช้แรงงานแลกเงิน จึงกลายเป็นพลังขับเคลื่อนไปสู่การเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายทั่วโลก (Network) กิจกรรมชีวิตจึงถูกโลกพาไปด้วย การค้า อาหาร ค่านิยม การเมือง วิถีชีวิต ฯ ทุกกิจกรรมทุกอย่างจึงมุ่งเพื่อรายได้ เพื่อเงิน เงิน เงิน อย่างเดียว มันจึงเหมือนเส้นเลือดให้กับชีวิตผู้คนทั่วไป
            ในทางกลับกัน มนุษย์จะอยู่ด้วยความไม่รวยได้หรือไม่ เราคงทิ้งวิถีแบบดั้งเดิมตามบรรพบุรุษของเราที่เคยอยู่ป่าอยู่เขามาก่อน พวกเขาก็คงไม่มีเงินตราอะไรมากมายที่จะกำหนดกันว่าร่ำรวย แต่สามารถดำรงชีพอยู่ได้  มีกรณีตัวอย่าง ที่มีแนวคิดแบบเก่าที่สวนทางในปัจจุบันอยู่ คือ อยู่โดยปราศจากเงินทอง (Moneyless man)   ชื่อว่า นายมาร์ก บอยล์ (Mark Boyle) เขาเป็นคนอังกฤษ เป็นนักเขียน นักกิจกรรม ได้วางแผนการดำรงชีวิตแบบไม่ใช้เงินมา ๔ ปีแล้ว แนวคิดนี้เขาได้มาจากมหาตมคานธีของอินเดีย และได้ก่อตั้งชุมชมเศรษฐกิจอิสระ (Free-economy village) ในปีพ.ศ.๒๕๔๘ และสร้างหมู่บ้านชื่อ หมู่บ้านเศรษฐกิจอิสระขึ้นมา นอกจากนี้ยังอีกที่คือ หมู่บ้านเศรษฐกิจ (Eco-village) ที่อยู่ในแคนนาดา และอังกฤษ ที่มีแนวคิดการอยู่แบบอิงระบบธรรมชาติให้มากที่สุด ไม่ได้อยู่ในลักษณะอิงทุนนิยมหรือเทคโนโลยี แต่เน้นที่วัสดุท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการอยู่อย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง และมีการอยู่ร่วมกันด้วยหลักศีลธรรม ผู้ก่อตั้งคือ โรเบิร์ต กิลแมน (Robert Kilman) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔ แม้ในประเทศไทย ก็มีกลุ่มที่ยึดถือการอยู่แบบพึ่งพาตัวเอง พึ่งพาการช่วยเหลือกันในชุมชน โดยไม่ได้นึดเอาเงินตราเป็นตัวตั้ง นั่นคือ กลุ่มสันติอโศกและกลุ่มศีรษะอโศก หรือกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงที่ชาวบ้านดำเนินตามวิถีโดยไม่พึ่งพากระแสเมือง แต่ดำเนินไปตามกระธรรมชาติในกรอบของครอบครัว นี่คือ ตัวอย่างที่มนุษย์พยายามกลับไปสู่วิถีดั้งเดิมของบรรพบุรุษของตนในอดีต ก็เป็นสิ่งพิสูจน์เช่นกันว่า การดำรงชีพแบบไม่พึ่งพาทรัพย์สินเงินทองก็สามารถเป็นไปได้ ซึ่งแตกต่างในทางเอเชียที่กำลังหลงใหลเงินทองว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดในการดำรงชีวิตยุคใหม่ ต่างก็มุ่งหาเงินทอง เสพบริโภควัตถุจนขาดไม่ได้แล้ว
            ๑. ทำไมคนไทยจึงอยากรวย พื้นฐานประเทศไทย เป็นเกษตรกรรมมาตลอด ต่อมารัฐอยากให้ประเทศกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรม จึงส่งเสริมให้เกิดเป็นแดนอุตสาหกรรมขึ้น ผลคือ เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างเกษตรกรรมชนบทกับอุตสาหกรรมในชุมชนคนเมือง ในด้านการเอารัดเอาเปรียบ เกิดพ่อค้าคนกลาง การส่งเสริมไม่เท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม เป้าหมายทั้งสองคือ “รายได้” (Income) เนื่องไทยไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวยมาก่อน ในขณะเดียวกัน ก็เป็นประเทศเปิด จึงทำให้อิทธิพลต่างชาติ (แนวคิด ค่านิยม) กระตุ้นให้คนไทยทะเยอทะยานอยากเป็นคนรวยกับคนอื่น (ประเทศ)
         ปัจจุบันชุมชนคนเมืองมีการพัฒนาโครงสร้างทางกายภาพไปเร็วมาก วิถีชีวิตก็เปลี่ยนไปด้วย เนื่องจากว่า มีคนร่ำรวยมากขึ้น คนรวยเหล่านั้นจึงบริโภควัตถุนิยม ซึ่งเป็นสิ่งอำนวยความสุข เช่น มีบ้าน มีรถ ที่ดิน มีเงิน และอื่นๆ การอยู่ การกิน การเดินทาง การแต่งตัวจึงกลายเป็นต้นแบบให้คนจนเลียนแบบ ผลคือ มีรถเต็มถนน (รถติด) คนจนดิ้นรนหาเงินทุกวิถีทางแบบรวยเร็ว (ทุจริต) คนรวยก็อยากได้มากขึ้น (ทุจริต) จนทำให้เกิดความเครียด และความกดดันในใจ ส่วนมากผู้คนที่ร่ำรวย จึงไม่ค่อยมีความสุขทางใจอย่างถาวร กระนั้น ต่างคนต่างก็อยากได้เงินมากๆ กันทุกคน จึงเกิดคำอวยพรว่า “ขอให้ร่ำ ขอให้รวย” อีกอย่างหนึ่งเป็นสิ่งสะท้อนว่า คนไทยยังยากจนอยู่ จากสถิติมีคนจนที่สุดอยู่ราว ๗ ล้านกว่าคน
            ๒. เหตุที่ทำให้รวยและจน  เมื่อใครก็ตาม ถูกเรียกว่า “คนรวย” (Rich man) เรามักจะคิดว่า เขาคนนั้นต้องมีทรัพย์สินเงินทองและสิ่งอำนวยความสะดวกแน่นอน คนที่ร่ำรวยมักจะแสดงฐานะหรือโชว์สิ่งที่ตนมีไว้กับตัวเองเสมอ เช่น มีรถขับ รถคือสัญลักษณ์ทางสถานะว่า รวยจริงหรือไม่ รถยี่ห้อธรรมดาทั่วไป ราคาไม่แพง นั่นก็บอกได้ อยู่ในฐานะระดับใด หากขับรถเบ๊นซ์ รถสปอร์ต ราคาแพงๆ บ่งบอกในตัวว่า มีฐานะดี ตามร่างกาย เป็นที่บ่งบอกให้เห็นว่า ร่ำรวยได้ เช่น ข้อมือมีนาฬิการาคาแพง ๆ กระเป๋ายี่ห้อดัง รองเท้าอย่างดี เสื้อผ้าตราแบนอย่างดีมีระดับ สร้อยคอ แหวนเพชรฯ  ก็ล้วนสะท้อนถึงฐานะทั้งสิ้น  บางคนอาจไม่ได้ขับรถหรือมีเครื่องประดับมากมายหรือไม่มีเลย แต่ไม่ได้แปลว่าจน เพราะยังมีอีกอย่างที่บอกให้รู้ว่าร่ำรวย นั่นคือ บัญชีเงินฝากในธนาคาร และแน่นอนสิ่งที่บอกว่ารวยที่ประจักษ์ทางสายตาได้คือ เงินสดหรือธนบัตร ที่จับต้องได้
            สาเหตุที่ทำให้รวย  ความร่ำรวยที่มนุษย์ต้องการ เป็นเหมือนเป้าหมายที่วาดหวังของทุกคน แต่ทำไมมนุษย์จึง ร่ำรวยบ้าง ยากจนบ้าง ทำไมไม่มีมาตรฐานที่เหมือนกัน เพราะอะไร ความร่ำรวยไม่ใช่สายเลือด แต่เป็นคุณสมบัติภายนอกของชีวิตที่สามารถสร้างได้ มิใช่ปารมี มิใช่บุญ มิใช่โชค แต่เป็นเพราะการเข้าใจและการลงมือกระทำ แต่อย่างไรก็ตาม หากไม่เอาความเชื่อทางศาสนาและความเชื่อส่วนตัวมาผูกมัดแล้ว ความร่ำรวยมาจากวิทยาศาสตร์ของกรรมลิขิต หมายความว่า ความร่ำรวย มิใช่อำนาจบุญหรือไม่ใช่เทพเจ้าใดๆ แต่เป็นผลมาจากการกระทำของเราในแง่การกระทำ ด้วยแรงงานของการเสียพลังงานและการวางแผน บริหาร จัดการพฤติกรรมของตนเอง  โดยมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบ จึงพอสรุปความร่ำรวยมาจากสาเหตุดังนี้ ๑) พ่อแม่สร้างพื้นฐานให้ เช่น พ่อแม่มีฐานะดีมาก่อน เป็นผู้มีความรู้ ความเข้าใจวิถีชีวิตมาก่อน แล้ววางรากฐานให้ลูกดำเนินไปตามขั้นตอน ๒) มาจากมีหลักการ มีความรู้ต่างๆ มีความมุ่งมั่น ที่จะกระทำอะไรที่ถูกต้อง จริงจัง ขยัน อดทน อดออม มีวิสัยทัศน์  ๓) อยู่ในที่เหมาะสมเช่น มีพลเมืองที่ดี มีภูมิ (ที่ดิน) ที่สามารถเหมาะแก่การเพาะปลูก ค้าขาย ไม่เกิดสงคราม ๔) การรู้จักคบเพื่อนที่ดี ไม่เที่ยวอบายมุข มีศีลธรรม ๕) มีงานทำหรือกิจกรรมที่สามารถหารายได้เลี้ยงครอบครัวได้ ๖) เผื่อแผ่เจือจาน แบ่งบันสิ่งของให้แก่คนอื่นบ้าง เพื่อสร้างมิตรไมตรีในการอยู่ร่มกัน หากอาศัยหลักเหล่านี้ จะช่วยให้เราเกิดความร่ำรวยได้ และรวยอย่างถาวรพร้อมมีความสุขใจด้วย
            สาเหตุที่ทำให้จน สาเหตุที่ทำให้จนก็ตรงกันข้ามกับข้างบน เนื่องจากว่า ความยากจนมีพื้นฐานอยู่ในทุกๆ คน เพราะไม่มีใครเกิดมาแล้วร่ำรวยกับชีวิต เมื่อเกิดมาแล้วเท่านั้นจึงมีเงินทอง เรากอบโกย แสวงหาเงินทองเองทั้งสิ้น ทีนี่เมื่อเกิดมาเรากลับเจอสิ่งล่อลวงหรือสิ่งกวนใจให้หลงใหลตามแรงกระตุ้นตามสิ่งแวดล้อมและสิ่งกระตุ้นจากสัญชาตญาณทั้งสิ้น เราจึงไม่สามารถข้ามพ้นสิ่งยั่วยวนใจ จึงตกอยู่ในอำนาจของสิ่งล่อลวงจนหมดทางที่จะต่อสู้กับอุปสรรคในการทำมาหากิน ในที่สุดก็ใช้ชีวิตแบบกิน เที่ยว พักผ่อน อย่างไม่ต้องคิด ไม่ต้องแสวงหาด้วยพลังงานของตนเอง แต่กลับสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่นคือ จี้ ปล้น ลักขโมย กินเหล้า เมายา หลงสตรี เที่ยวสนุกไปวันๆ จนเสียเวลาในการสร้างฐานะของตน จนกลายเป็นคนอ่อนแอเกินไปที่จะต่อสู้กับกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างฐานะให้ร่ำรวยได้
            อย่างไรก็ตาม ความรวย กลายเป็นอุดมคติ ของมนุษย์ไปแล้ว ซึ่งจะเกิดช่องว่างระหว่างคำว่า ยากจน กับ ร่ำรวย หากประชาชนมีฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งมากเท่าไหร่ ก็จะเกิดช่องว่างมากขึ้นตามมา จนมองไม่เห็นความสัมพันธ์ระหว่างกัน และยิ่งกว่านั้น จะมองไม่เห็นรอยต่อระหว่างสองขั้ว จนอาจนำไปสู่การขาดมุมมองที่ไกล่เกลี่ยหรือประสานกันได้ ที่สำคัญคือ อาจไม่มีใครมองเห็นสารัตถะของการครองชีวิตให้อยู่ได้บนโลกนี้อย่างไร เพราะจะมองเห็นแต่ความร่ำรวยเป็นเป้าหมายหรือพยายามหนีให้พ้นคำว่า ยากจน แต่ไม่มีใครแสวงหาความสงบสุขอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม ความร่ำรวย ดูเหมือนจะสร้างแรงจูงใจได้มากกว่าสิ่งทั้งหมด เพราะอะไรหรือ
            เมื่อคนที่ร่ำรวยสามารถมองเห็นเป็นรูปธรรมได้ตามที่กล่าวมานั้น คนมีบ้าน มีรถ มีที่ดิน มีแก้วแหวนเงินทอง และสมบัติต่างๆ จะบอกให้รู้ว่าเป็นคนรวยได้ จากวัตถุที่ถูกตีค่าในคำว่า “รวย”  ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เนื่องจากว่า มนุษย์มักจะอวดหรือแสดงฐานะตนด้วยการแสดงออกมาทางใด ทางหนึ่ง เพื่อต้องการให้คนอื่นยอมรับว่าตนรวย หรือเพื่อให้คนอื่นให้เกียรติตน  และเคารพตน การแสดงออกเช่นว่านั้น เป็นการแสดงอัตเสรีภาพออกมาอย่างแท้จริง ว่าตนอยากได้อะไร หวังอะไร ก็สมหวังอย่างราบรื่นไม่มีอุปสรรค เสรีภาพจากความร่ำรวยนี้เอง บางครั้งก็อาจส่งผลต่อคนอื่นได้ เช่น รวยแล้วไม่รู้จักเคารพคนอื่น ชอบใช้อำนาจทางเงินตราข่ม ไม่รู้จักพอใจในความอยาก จนอาจนำไปสู่การสร้างอำนาจหรืออิทธิพลทางในสังคมได้ ถ้าร่ำรวยเพราะวัตถุต่างๆ ดังกล่าว มันก็ควรจะมีมาตรฐานเดียวกันว่า บุคคลที่มีวัตถุเงินทอง ทรัพย์สินจำนวนมาก ถือว่าเป็นมาตรฐานสากลในความหมายว่า “รวย” ได้หรือไม่ และนิสัย พฤติกรรมของคนนั้น เป็นมาตรฐานสากลไปด้วยหรือไม่ ถ้าไม่ อะไรคือ มาตรฐาน
            ค่านิยมเรื่องความรวยนี้ ยังไม่ยุติลงง่ายๆ คำถามคือ มันช่วยยกระดับจิตใจให้มีการพัฒนาอย่างไรบ้าง มันช่วยให้เรามีความสุขหรือพัฒนาไปมากเท่ากับปริมาณวัตถุ ทรัพย์สินที่มีอยู่หรือไม่ ในที่สุดมันจะเป็นเครื่องชี้วัดได้ไหมว่า ความรวยจะก่อความสุขหรือความดีเลิศไปกว่าคนจนๆ อย่างแท้จริง เราในฐานะมนุษย์ควรจะยกระดับจิตใจให้รู้เท่าทันกับวัตถุนิยมว่า เงินมีค่าต่อชีวิตมากน้อยแค่ไหน เราตกอยู่ภายใต้อำนาจเงินจนขาดการสำรวจตัวเองไปหรือไม่  ในขณะเดียวกัน ยังมีสิ่งอื่นที่ช่วยยกจิตให้สูงขึ้น พัฒนาขึ้น แทนวัตถุนิยมเหล่านั้นหรือไม่ ความสุขแท้จริงหาเจอหรือไม่ ไม่ใช่สุขจากการบริโภคตามโลกเสรี ประเทศภูฏานเป็นประเทศเล็กไม่ได้ร่ำรวย แต่มีการวัดค่าความสุขจากประชาชนเรียกว่า GNH (Gross national Happiness) โดยอิงหลักทางศาสนาพุทธในการครองชีวิตเพื่อให้ได้คุณค่าอย่างแท้จริง
๓. ศาสนากับการสร้างความรวย  ในทางศาสนาไม่มีการสอนเรื่อง อุดมการณ์การสร้างความร่ำรวยให้กับชีวิต โดยตรง แต่สอนเรื่องการปฏิบัติตัวเองให้ดำรงชีวิตอย่างมีความสุขด้วยตัวเอง และสอนให้รู้จักสมาคมกับผู้อื่นอยู่อย่างกลมกลืนกัน โดยอยู่บนพื้นฐานการเข้าใจโลกทัศน์ตามระบบของธรรมชาติ เช่น ศาสนาฮินดู สอนให้บูชาพระเจ้า เพื่อความสงบสุขทางจิตวิญญาณ มิได้สอนเพื่อมุ่งหาทรัพย์สินเงินทอง แต่สอนให้สละหรือสลัดออกจากชีวิตให้น้อยลง ส่วนศาสนาเชน ยิ่งสอนแบบเคร่งครัดในเรื่องทรัพย์สิน ไม่มีแม้แต่ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้าอาภรณ์ก็ยังต้องสละออก ไม่มีกฎใดที่สอนให้ร่ำรวยเลย ส่วนศาสนาอิสลาม สอนให้รู้จักเสียสละเรียกว่า “ซะกาต” แก่คนยากจน ทำอะไรไม่มีผลกำไร มุ่งสอนให้ชาวมุสลิมเอาจิตผูกมัดกับพระเจ้าทั้งสิ้น ในขณะศาสนาคริสต์ สอนให้ผู้คนรักสามัคคีกัน ในบัญญัติ ๑๐ ประการ ก็ไม่มีการสอนเรื่องความร่ำรวยใดๆ ส่วนศาสนาพุทธมีอุดมการณ์ สอนเรื่องการดับทุกข์ของชีวิตอย่างสิ้นเชิง ไม่มีการสอนเรื่องการทำให้ร่ำรวยโดยตรงเช่นกัน
ความคิดอยากรวยเกิดมาจากผู้คนในสังคมโลกที่เห็นว่า การมีทรัพย์สินเงินทองจำนวนมาก จะทำให้เกิดมีวัตถุที่อำนวยความสะดวก และสร้างความสุขให้กับชีวิตได้ การที่มนุษย์คิดและเชื่อเช่นนี้ ก็เนื่องมาจากเห็นคนร่ำรวยในประเทศต่างๆ หรือในประเทศตนที่มีฐานะ มีคนนับถือ มีคนรู้จัก และมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ จึงคิดว่า อยากได้อะไร ปรารถนาอะไรคงสมหวังเป็นแน่  สิ่งฝัน สิ่งที่อยากได้ก็คงได้ ส่วนคนจนที่ไม่มีเงินจะหาซื้ออาหาร กลับต้องอดอยาก ทนหิว คนจนเหล่านั้น แต่ก่อนอยู่ในชนบทก็ไม่อดอยากมากนัก แต่พออยากร่ำรวยเหมือนคนอื่น จึงดิ้นรนเข้าเมืองหางานทำ งานก็หายาก เงินจึงหายาก เมื่อไม่มีเงินก็ไม่มีอาหาร ไม่มีเงินพอที่จะซื้อบ้าน ซื้อรถ ซื้อสิ่งที่อยากได้ คนจนที่คิดจะเลียนแบบคนเมืองนั้น จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีทางเท่าเทียมกันได้
ในขณะที่มนุษย์อาศัยความอยากของตนเอง จากการเห็นแม่แบบคนอื่นร่ำรวย จึงถูกกระตุ้นให้เกิดความอยาก ความฝัน อยากมี อยากได้ ไม่พอใจในสถานะของตน ความอยากจึงมีอยู่ในใจกันทุกคน แต่สิ่งที่มนุษย์ไม่มีเท่าเทียมกันนั่นคือ ปัญญา ความสุขุมรอบคอบ ปัญญาและคติความคิด เหล่านี้ เป็นคุณสมบัติที่ได้มาจากทางศาสนา ที่จะชี้ทิศทางหรือแนวทางในการทบทวนหรือสำรวจตัวเองได้ เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ เกาะเกี่ยวมิให้ตนเองเดินทางในทิศทางใดทางหนึ่งอย่างอิสระเกินไป จนเตือนหรือคุมตัวเองไม่ได้ ดังนั้น แม้ศาสนาไม่ได้สอนเรื่องความร่ำรวยไว้ แต่ศาสนามักจะสอนในเรื่องความจริงที่เป็นสารัตถะของชีวิต สอนเรื่องจิตใจ มากกว่าเรื่องภายนอก ที่สามารถแก้กลบความอยากได้ ละลายความอยากที่มีให้บางเบาลง อนึ่ง ยังเป็นการสอนให้รู้จักแยกแยะในการใช้ชีวิตในระยะยาวโดยตั้งคำถามว่า อะไรคือ แก่นสารที่แท้จริงของชีวิต
๔. หลักพุทธกับความร่ำรวยแบบสมดุล ความร่ำรวยไม่มีใครปฏิเสธได้ เพราะมันจะตอบสนองความต้องการของตนต่อโลกได้อย่างอิสระ หากศึกษาในแง่องค์ประกอบในการดำรงชีวิตอยู่ได้ มนุษย์อาศัยแรงขับภายในกระตุ้นหลอกตัวเองอยู่เสมอนั่นคือ “ความอยาก” (Desire) มันจะสร้างจินตนาการ ความฝัน และความทะเยอทะยาน เพื่อไปหาเป้าหมายของตนเอง นี่คือ แรงขับภายใน มีนักปรัชญาคนหนึ่งชื่อ โชเปนฮาวเออ (Schopenhauer: ๑๗๘๘-๑๘๖๐) ชาวเยอรมัน เชื่อว่า มันมี “เจตจำนง” ในตัวเอง (Will to live) ตามสัญชาตญาณ เพื่อที่จะให้มันอยู่รอด และนักปรัชญาชาวกรีกชื่อ เพลโต (Plato : ๔๒๘-๓๔๘) กล่าวว่า แรงขับมาจากความปรารถนาภายในนั่นคือ “ความอยาก” (Appetite) เพราะถูกครอบงำด้วยอวิชชาและความอยากกระตุ้น จนทำให้จิตวิญญาณเดิมที่บริสุทธิ์เสียไป
ในศาสนาฮินดู กล่าวไว้ว่า สิ่งที่กระตุ้นให้มนุษย์เป็นไป เพราะความไม่รู้ จึงเกิดตัณหาขึ้นมา เมื่อกายที่เป็นอนุอัตตาถูกปิดบัง จึงเกิดความมืดบอดทางปัญญาที่จะหาทางไปสู่ปรมาตมันเดิมได้ ส่วนศาสนาคริสต์ กล่าวว่า พระเจ้าสร้างมนุษย์มาอย่างบริสุทธิ์แล้ว แต่เมื่อมาอยู่ในสวนอีเดน กลับถูกหลอกล่อจากซาตานให้กินผลไม้บาป มนุษย์จึงเกิดบาปติดตัวมาตั้งแต่ครั้งนั้น บาปนี่เองที่คอยทำลายตัวเอง เพราะความอยากแท้ๆ ส่วนพระพุทธศาสนา สอนว่า ปัญหาของโลกและชีวิต ล้วนมาจากตัณหาทั้งสิ้น มาประสานกับความไม่รู้ จึงทำให้สัตว์เกิดความมืดบอดในการกระทำของตน นอกจากนั้น ก็มาจากส่วนของสิ่งแวดล้อมที่กระตุกกระตุ้นให้มนุษย์คล้อยตามหรือถูกบีบคั้นจนต้องยอมสยบกับสิ่งรอบข้าง
แนวคิดจากที่กล่าวมานั้น เป็นแนวคิดกว้างๆ จากมุมมองของนักปรัชญาและคติทางศาสนา แม้จะไม่ได้บอกวิธีการแสดงท่าทีต่อความร่ำรวยไว้ก็ตาม เราคงพอมองเห็น รากเหง้าเค้ามูลของความอยากในใจเราได้ว่า มาจากไหนบ้าง ตรงนี้ ขอให้เครดิตในหลักการพระพุทธศาสนาที่แนะแนวในการรับมือกับความร่ำรวยจากการมีทรัพย์ และการบริโภคทรัพย์ อย่างที่บอกแล้วว่า พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้มนุษย์ร่ำรวย แต่สอนให้มนุษย์รู้จักหลักการในดำรงชีวิต ที่จะเอื้อให้เกิดการหาทรัพย์ การเก็บรักษาทรัพย์ และใช้จ่ายทรัพย์อย่างชาญฉลาดตามหลักพุทธศาสนา ในหลักการขอแบ่งออกเป็น ๒ ทาง คือ ๑) การใช้จ่ายทรัพย์เพื่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ๒) การมองทรัพย์ที่ใช้เป็นเพียงเครื่องมือของชีวิตเท่านั้น มิใช่แก่นสาร มิใช่เป้าหมายของการมีชีวิตอยู่
การใช้ทรัพย์มาจากการหาทรัพย์ ในหลักพุทธศาสนา มีหลักในการหาทรัพย์คือ ๑) มีศีลห้า ศีลจะเป็นพื้นฐานในการครองชีวิตให้เป็นปกติ โดยไม่มีคดีความ ไม่เป็นเหตุให้เสียทรัพย์ เสียเวลา เสียสุขภาพ แล้วก็เป็นฐานสำคัญในการใช้ร่างกายหาทรัพย์ได้ ๒) การรู้จักคบเพื่อนที่ดี มิตรที่ไม่ดี จะพาไปตกอบายมุขหรือก่อทะเลาะวิวาทกัน อันจะพาให้เสียทรัพย์ เสียเวลา เสียสุขภาพ ๓) มีหลักธรรมประจำตน เช่น ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ อดทน อดออม อันจะนำมาซึ่งทรัพย์และไร้กังวลใจ ๔) การใช้จ่ายทรัพย์เป็น คือ เก็บไว้เพื่อตัวเอง เก็บไว้เพื่อลงทุนทำกิจการ เก็บไว้เลี้ยงญาติพี่น้อง และเก็บไว้ ทำบุญอุทิศหรือทำประโยชน์ในทางสังคม ๕) เว้นอาชีพที่ผิดกฎหมายและศีลธรรม เช่น ค้ายาเสพติด ค้าเหล้า ค้าคน ค้ายาพิษ ค้าของเถื่อน ซึ่งจะทำให้เสียทรัพย์ และเสียโอกาสในการทำมาหากินแบบยั่งยืน ทั้งหมดเป็นทางในการหาทรัพย์บริโภคทรัพย์และเว้นทางเสื่อมของตนในทางโลกวิสัย (worldly view)
เมื่อหาทรัพย์มาได้และบริโภคทรัพย์นั้น ก็ควรมีหลักในการเสพอย่างมีปัญญา หลักการของพระพุทธศาสนาสอนว่า โลก คือ ที่อยู่ของสัตว์ โลกคือ สมบัติเพียงชั่วคราว ชีวิตอิงอาศัยโลก ซึ่งมีระยะเวลาจำกัด เมื่อสิ้นสุดเงื่อนไข ชีวิตก็ต้องล้มหายตายจากทรัพย์และจากโลก การใช้ชีวิตอยู่ในโลกจึงไม่มีอะไรที่ควรยึดถือเป็นจริงเป็นจัง ทรัพย์ที่ได้มาก็ควรใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตตนและสังคมให้มากที่สุด แม้ร่างกายที่เป็นแหล่งเกิดทรัพย์ก็จะกลายเป็นที่เสียทรัพย์ในที่สุด การปล่อยวางจากมือและจากใจ นี่คือการแสดงท่าทีที่เข้าใจต่อความจริงของโลกมากที่สุด โดยนึกถึงหลักสากลธรรมชาติไว้เพราะทรัพย์เป็น อนิจจัง (ไม่ยั่งยืน) ทุกขัง (ฝืนกฎ) และอนัตตา (หมดรูป) ดังนั้น ร่างกาย ทรัพย์ ต้องแปรปรวนไปตามเงื่อนไขของมัน การเข้าใจและการวางใจเช่นนี้ ถือว่าเป็นการมองแบบปรมัตถวิสัย   (Transcended view)
กระนั้น มนุษย์ก็ยังเป็นมนุษย์และยังมีกระแสความต้องการไปตามวิถีโลก คือ อยากได้ อยากมี อยากเป็นเช่นคนอื่นเขา ในมุมมองของชาวพุทธในการใช้ชีวิต ก็ควรจะนำเอาหลักพุทธเป็นบรรทัดฐานในการใช้ทรัพย์ด้วย โดยที่นี่ขอเสนอการดำรงชีวิตด้วยการมีทรัพย์อย่างสมดุลทั้งทางโลกและสังคมดังนี้ การสร้างความสมดุลทางโลกวิถี คือ ๑) การแสวงหาทรัพย์ส่วนหนึ่งเพื่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ๒) มีสิ่งอำนวยความสะดวกเท่าที่จำเป็น ๓) รู้จักวางตัวตามฐานะของตน  ๔) เรียนรู้หลักธรรมชาติ เพื่อให้เข้าใจวิถีทางโลก สังคม และตนเองตามกลไกธรรมชาติ คือ ไม่ฝืนหรือไม่ค้านจนเกินไป
ส่วนการสร้างความสมดุลทางสังคม คือ ๑) การไม่ปล่อยให้ตนเองมีอิสระจนเกินไป  ๒) เคารพหลักธรรมและกฎหมายบ้านเมือง ๓) รู้วิถีชีวิตวัฒนธรรม และ๔) รู้จักคุณค่าของทรัพย์สิน หลักการเบื้องต้นเหล่านี้ จะช่วยสนับสนุนฐานะทางเศรษฐกิจให้เป็นคนมองชีวิตที่กว้างและรอบคอบขึ้น มิใช่ร่ำรวยแล้วดูถูกคนอื่น ไม่สนใจใครและไม่เคารพกฎกติกาใดๆ
ดังนั้น ความร่ำรวยที่ผู้คนต้องการ ควรจะรู้จักลักษณะที่เกิด คุณค่า หลักการใช้ของมันก่อน เพื่อจะได้แสดงท่าทีหรือปรับตัวให้เป็นคนอยู่เหนือทรัพย์ จะได้ไม่ตกเป็นทาสทรัพย์ตลอดไป พระไพศาล วิสาโลกกล่าวว่า "เงิน เป็นข้ารับใช้ที่ดี แต่เป็นนายที่เลว ถ้าเราปล่อยให้เงินเข้ามาควบคุมบงการชีวิตเรามากเกินไป เพราะความพลั้งเผลอและไม่มีสติ จนปล่อยให้ความโลภเข้ามาครอบงำ ชีวิตเราจะหาความเจริญได้ยาก ในขณะหมอประเวศ วะสีกล่าวว่า “เงินเป็นของมีคม” พระพุทธองค์ก็ทรงเตือนสาวกว่า “เงินคือ อสรพิษ” เช่นกัน จึงพอกล่าวได้ว่า อยากร่ำรวยนั่นไม่ผิดวิสัยโลก แต่ควรจะตระหนักว่า โลกแห่งวัตถุไม่มีใจเดียวแก่เรา มันย่อมพร้อมจะสยบแก่ทุกคน พระพุทธองค์จึงสอนเรื่องหลักการให้รู้ทันโลกว่า สิ่งต่างๆ อยู่ในโลกธรรม ๘ มีด้านสว่างและด้านมืดเสมอ  หากปรารถนาหรือครอบครองมัน ควรรู้นิสัยมันด้วยจะได้ไม่เสียดุลความเป็นมนุษย์ผู้มีปัญญา

การผูกพัทธสีมา ฝังลูกนิมิต

            “การผูกพัทธสีมา – ฝังลูกนิมิต”
     ๑. การสร้างวัด
     ๒. การผูกพัทธสีมา ฝังลูกนิมิต
     ๓. ภาษาและความหมาย
     ๔. วัฒนธรรมใหม่ (งานงอก)
          นับถอยหลังไปศตวรรษเศษๆ ในยุคสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ที่เกิดพิธีกรรมด้านการสร้างวัดอย่างอิสระ เพื่อตอบสนองศรัทธาของผู้มีทุนที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ประกอบกับพุทธศาสนาอิงอยู่กับระบบกษัตริย์ จึงกลายเป็นความศรัทธาของผู้สร้างวัด เนื่องจากพระราชาอาศัยหลักการทางศาสนาเป็นเครื่องมือในการปกครอง ดังนั้น จึงเกิดจำนวนผู้บวชและวัดมากมาย และกลายเป็นการสร้างวัดอย่างเป็นกิจจะลักษณะขึ้นมา วัดจึงปรากฏอยู่ทุกที่ของเมืองไทย โดยเฉพาะภาคกลางที่อยู่ใกล้พระเนตรพระกรรณของพระราชา จะพบว่าแต่ละรัชกาลมีการสร้างวัดประจำพระองค์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในความสมบูรณ์แบบในการปกครองแบบธรรมราชา

          ด้วยเหตุนี้ จึงมีการกำหนดสีมาหรือขอบเขตในการสร้างวัด เพื่อถวายความสะดวกแก่พระสงฆ์ทำสังฆกรรมอย่างอิสระ ในยุคต้นมีการแบ่งการปกครองออกเป็นประเภทคือ วัดบ้าน เรียกว่า คามวาสี และวัดป่า เรียกว่า อรัญญวาสี วัดเป็นเขตพุทธาวาส สำหรับพระสงฆ์อาศัยและทำสังฆกรรมในวันสำคัญ แต่การสร้างวัด มิใช่จะสร้างเอาเองโดยอิสระ ต้องอาศัยฝ่ายบ้านเมืองและคณะสงฆ์ร่วมมือกันสร้างให้ถูกต้องตามพระวินัยและนิตินัย ตามพรบ.คณะสงฆ์ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ระบุว่า วัดมี ๒ ประเภทคือ วัดที่เรียกว่า วัดถูกต้องตามพระวินัย และนิตินัย เรียกว่า วิสูงคามสีมา และมีอุโบสถเป็นเขตสังฆกรรม ส่วนวัดที่เรียกว่า สำนักสงฆ์ ได้รับการแต่งตั้งถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่ได้รับวิสูงคามสีมา จึงเป็นวัดที่ไม่มีอุโบสถนั่นเอง    วัดที่ได้รับวิสูงคามสีมาแล้ว เรียกอีกอย่างว่า วัดหลวง ถือว่าเป็นวัดประเภท ๑ ส่วนวัดประเภท ๒ เรียกว่า วัดราษฎร์

          คำว่า วัด คำเดิมมาจากคำว่า วัตร พระวิสุทธิวงศาจารย์ เจ้าคณะภาพ ๗ วัดปากน้ำฯ ให้ความหมายว่า การถือปฏิบัติ ข้อวัตรปฏิบัติ โดยอาศัยสถานที่กำหนดขึ้นมาเป็นที่อาศัยของคณะสงฆ์ เมื่อที่นั้นกลายเป็นที่แสดงธรรม ประกอบกิจกรรมบ่อยๆ จึงกลายเป็นวัตรประจำ ต่อมาเมื่อเขียนและพูดเพี้ยนไปจึงกลายเป็นวัดในที่สุด แต่ก่อนวัดมิได้เป็นเหมือนปัจจุบัน เป็นเพียงป่า หรืออาคารที่พักเล็กๆ สำหรับพำนักเท่านั้น ต่อมาจึงมีวิวัฒนาการสร้างเป็นวัดอย่างถาวรหรือเป็นตึกในปัจจุบัน แต่ก็ยังมีให้เห็นอยู่เช่น โบสถ์วัดสวนโมกข์ และวัดสวนแก้ว

          ในพระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ข้อที่ ๑๕๗, ๑๗๓-๑๗๖ หน้า ๑๗๒-๑๗๓ พระพุทธองค์ตรัสอนุญาตว่า “เราอนุญาตให้สมมติวิหาร เรือนมุงแถบเดียว เรือนชั้น เรือนโล้นหรือถ้ำ ที่สงฆ์จำนงให้เป็นโรงอุโบสถได้” ในครั้งพุทธกาลไม่มีวัดอาศัยเหมือนปัจจุบัน แต่ให้อยู่ตามป่า โคนไม้ ในถ้ำ เมื่อสาวกออกไปเผยแผ่ธรรม จึงอยู่ลำบาก เมื่อเดินทางไกลห่างออกไป ยิ่งเกิดความลำบากมากขึ้น ต่อมาจึงมีประวัติการสร้างวัดแห่งแรกคือ พระเจ้าพิมพิสารที่ปกครองแคว้นมคธ ได้ถวายสวนป่าไผ่และได้สร้างวัดเรียกว่า “วัดเวฬุวนาราม” เป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา แต่ระเบียบการสร้างไม่ได้กล่าวไว้ชัดเจน อีกกรณีหนึ่งที่ปรากฏในพระไตรปิฎกคือ พระมหากัสสปะเดินทางจากอินทกวินทวิหาร เพื่อเดินไปเมืองราชคฤห์ เพื่อไปทำอุโบสถ ระหว่างทางเกือบถูกน้ำพัดไป ทำให้ผ้าเปียกชุ่ม พระสงฆ์จึงกราบทูลพระพุทธเจ้า พระองค์จึงอนุญาตให้สมมติสีมาให้มีเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน และสมมติที่นั้นเป็นที่อยู่โดยไม่ปราศไตรจีวร บางที่อาศัยที่พระราชาถวายแล้วก็กลายเป็นที่พักของพระสงฆ์ไป ไม่เหมือนในปัจจุบันที่มีระเบียบเป็นขั้นเป็นตอน   

          คำว่า อุโบสถ พระพรหมคุณาภรณ์ บอกว่า มาจากคำเต็มว่า อุโบสถัคคะ แปลว่า โรงอุโบสถ ส่วนพระธรรมกิตติวงศ์กล่าวว่า “เป็นที่ประชุมสงฆ์ เพื่อทำสังฆกรรม” มี ๓ คำที่แตกต่างคือ อุโบสถ หมายถึง สถานที่พระสงฆ์ทำสังฆกรรม พระอุโบสถ หมายถึง สถานที่เป็นพระอารามหลวง ที่ได้รับพระราชทานวิสูงคามสีมา และคำว่า โบสถ์ เป็นภาษาชาวบ้านที่พูดกันทั่วไป หมายถึง สถานที่ทำสังฆกรรม  พระมหาชัยวุธ ฐานุตตฺโม วัดยางทอง สงขลา ป.๗ วิเคราะห์ว่า อุโบสถ มาจากคำว่า อุป แปลว่า อยู่ใกล้ เข้าใกล้ วส แปลว่า อยู่ ส่วน เป็นปัจจัยปรุงรากศัพท์ ฉะนั้น คำว่า อุโบสถ จึงแปลได้ว่า การเข้าใกล้ อยู่ในที่มั่นคง  แต่ก่อนคำนี้มีความหมายได้หลายนัยเช่น เป็นสถานที่ประชุมสงฆ์ เป็นการเข้าจำวัด การรักษาศีลในวันพระ เป็นวันพระและเป็นวันลงปาติโมกข์  ดังนั้น คำนี้มิใช่สถานที่ แต่เป็นเรื่องสังฆกรรมประจำทุกๆ ๑๕ วัน ต่อมาจึงมีการกำหนดเขตขึ้นมาเรียกว่า อุโบสถ ตามรากศัพท์คำนี้ แปลว่า ยาที่เข้าถึง เข้าใกล้ อุป แปลว่า ใกล้ ถึง เพ่งอยู่  โอสถ แปลว่า ยา รักษา เช่นคำว่า อุบาสก แปลว่า ผู้เข้าใกล้ (พระรตนตรัย) อุโบสถในปัจจุบันส่วนมากจะก่อสร้างด้วยปูน หิน เหล็ก ไม่ใช่ดิน ไม้ ภูเขาเหมือนแต่ก่อน กระนั้น ก็ยังมีให้เห็นอยู่บ้างเช่น วัดสวนโมกขพลารามและวัดสวนแก้ว นนทบุรี

          คำว่า “พัทธสีมา” หมายถึง เขตที่พระสงฆ์ที่ผูกไว้แล้วด้วยพิธีสังฆกรรม เรียกอีกอย่างว่า ผูกสีมา คำว่า ผูกสีมา เป็นสำนวน คำว่า ผูก หมายถึง สมมติเอาเขตนั้นๆ มิได้หมายถึง การผูก การมัดแต่อย่างใด คำว่า พัทธ แปลว่า ผูกหรือสมมติ ส่วนคำว่า สีมา หมายถึง ขอบเขต เขตแดน พัทธสีมา จึงหมายถึง การผูกเขตขึ้นมาหรือสมมติเอาเขตนั้นๆ นั่นเอง พัทธสีมา มี ๔ ประเภทคือ ๑) ขัณฑสีมา หมายถึง สีมาที่กำหนดขึ้นมาอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะที่อุโบสถ ๒) มหาสีมา หมายถึง สีมาที่กำหนดเอาเขตทั้งวัดนั้นเป็นที่สีมาทั้งหมด มิใช่เฉพาะอุโบสถเท่านั้น ปัจจุบันคือ วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ๓) สีมาสองชั้น หมายถึง มหาสีมากับขัณฑสีมา และ ๔) นทีปารสีมา หมายถึง สีมาที่เป็นแม่น้ำ ลำคลอง มีอีกคำหนึ่งคือที่เกี่ยวข้องกับพัทธสีมาคือ วิสูงคามสีมา คำนี้มาจากคำว่า วิสูง ที่แปลว่า ต่างหาก คาม แปลว่า บ้านเรือน สีมา แปลว่า ขอบเขต ความหมายคือ เขตพระราชทานแก่พระสงฆ์ ที่แยกออกจากบ้านเรือนต่างหาก  โดยมีนิมิตเป็นเครื่องหมายกำหนดขอบเขตสีมา

          ส่วนคำว่า “สีมา” ที่แปลว่าขอบเขตนั้น มีเครื่องหมายคือ  นิมิต เป็นเขตของสังฆกรรม  โดยมี ๒ ชนิดคือ ๑) พัทธสีมา คือ สีมาที่สมมติไว้แล้ว และ ๒) อพัทธสีมา คือ สีมาที่ยังไม่ได้กำหนดสมมติไว้ การกำหนดเอาสีมาที่ไม่ได้ผูก ท่านให้วัดเอาจากศูนย์กลางของเขตนั้นๆ ขยายออกไปด้านละ ๙๘ เมตร ส่วนขอบเขตที่กำหนดเป็นสีมาเพื่อกำหนดเขตอุโบสถ ท่านกำหนดความจุพระสงฆ์ที่นั่งหัตถบาตได้ ๒๑ รูป ถ้าขนาดใหญ่ท่านกล่าวว่า ไม่เกิน ๓ โยชน์หรือราว ๔๘ กม. กว้างกว่านี้ไม่อนุญาต

          ส่วนคำว่า “นิมิต” แปลว่า เครื่องหมาย พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า “ลูกหินกลมๆ เท่าบาตร เป็นเครื่องหมาย เขตอุโบสถ เพื่อทำเป็นเครื่องกำหนดเขตแดนนั้น”  ในพระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ข้อที่ ๑๕๔ หน้า๑๗๒ กล่าวเรื่องถึงนิมิต ๘ ชนิด อรรถกถาอธิบายว่า  ๑) ภูเขา มี ๓ ชนิดคือ เขาปนดิน เขาศิลาล้วน เขาดินล้วน ๒) ศิลา คือ ศิลาแท้หรือเจือแร่ มีขนาดใหญ่เท่าศีรษะโค กระบือ ศิลาแท่งใช้ได้  แต่ห้ามใหญ่เท่าช้าง ส่วนเล็กสุดเท่าก้อนน้ำอ้อย หนัก ๕ ชั่ง (๓๒ ปะละ) หรือศิลาบดทำเป็นภูเขาใช้ไม่ได้ ๓) ป่าไม้ หมายถึง ป่าไม้ที่มีแก่นเช่น ไม้สัก ไม้รัง หรือป่าไม้ที่มีต้นไม้ ๕-๖ ต้น สูงเกิน ๘ นิ้ว  ยกเว้นไม้เปลือกแข็งเช่น ตาลหรือมะพร้าว ๔) ต้นไม้ หมายถึง ไม้มีแก่น สูง ๘ นิ้ว โตอยู่กับที่และยังเป็นอยู่ อยู่ในกระถางใช้ไม่ได้ ๕) จอมปลวก หมายถึง จอมปลวกที่สูงเกิน ๘ นิ้ว ใหญ่เท่าโค กระบือ ๖) หนทาง หมายถึง ทางเดิน ทางเกวียน ยกเว้นทางที่ไม่ใช้แล้วและทาง ๔ แพร่ง ๗) แม่น้ำ หมายถึง แม่น้ำที่ไม่ขาดสายหรือน้ำที่ตักใส่หลุมพอสวดญัตติจบหรือแม่น้ำที่เกิดจากฝน ขังอยู่ได้ ๔ เดือน ลึกพอเปียกอันตรวาสกพระได้ แต่ไม่อนุญาตน้ำที่เป็นคลองชลปทานหรือน้ำที่กำหนดได้หลายทิศ ๘) น้ำ หมายถึง น้ำนิ่ง เช่น บึง หนอง นิมิตทั้งหมดนี้ สามารถนำมาทำเป็นนิมิตสีมาได้ตามพระวินัย จะใช้ ๔ ลูกหรือ ๘ ลูกก็ได้ แต่ปัจจุบันนิยมใช้ หินกลมๆ เป็นเครื่องหมาย มี ๙ ลูก

          การใช้ลูกนิมิตเป็นเครื่องกำหนดเขตรอบอุโบสถ ท่านกำหนด เอาสี่ทิศ ปัจจุบัน กำหนดเอา ๘ ลูก ๘ ทิศ โดยยุคหลังผู้รู้ได้ผูกเป็นเรื่องให้เกี่ยวข้องกับพระอรหันต์สาวก ๘ องค์ คือ ลูกที่ ๑ เริ่มต้นทิศตะวันออก (ทิศบูรพา) ผูกเป็นพระอัญญาโกณทัญญะ ผู้ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้รู้ราตรีกาล ผู้มีอายุยืนยาว (เหมาะสำหรับผู้เกิดวันจันทร์ปิดทอง) ลูกที่ ๒ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ (ทิศอาคเนย์) ผูกเป็นพระมหากัสสปะ ผู้ที่ชอบสันโดษ ความสงบ (สำหรับผู้เกิดวันอังคาร) ลูกที่ ๓ ทิศใต้ (ทิศทักษิณ)   ผูกเป็นพระสารีบุตร ที่มีปัญญามาก (สำหรับผู้เกิดวันพุธ) ลูกที่ ๔ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ (ทิศหรดี) ผูกเป็นพระอุบาลี ผู้ที่จำพระวินัยได้แม่น (สำหรับผู้เกิดวันเสาร์) ลูกที่ ๕ ทิศตะวันตก (ทิศประจิม) ผูกเป็นพระอานนท์ ผู้เลิศในทางพหูสูต (สำหรับผู้เกิดวันพฤหัสบดี) ลูกที่ ๖ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (ทิศพายัพ) ผูกเป็นพระควัมปติ ผู้เลิศในทางเอกลาภและรูปงาม (สำหรับบูชาพระราหู) ลูกที่ ๗ ทิศเหนือ (ทิศอุดร) ผูกเป็นพระมหาโมคคัลลานะ ผู้เลิศในทางฤทธิ์ ความสำเร็จไว (สำหรับผู้เกิดวันศุกร์) ลูกที่ ๘ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (ทิศอีสาน) ผูกเป็นพระราหุล ผู้เลิศในทางการศึกษา (สำหรับผู้เกิดวันอาทิตย์) ลูกที่ ๙ กลางอุโบสถ (ลูกนิมิตเอก) หมายถึง พระพุทธเจ้า ผู้เป็นประธานสงฆ์ (บูชาพระเกตุ)

          อย่างไรก็ตาม การที่คณะสงฆ์ผูกพัทธสีมาและฝังลูกนิมิตนี้    มีจุดประสงค์ที่สำคัญใน    ทางสังฆกรรมนั่นเอง ส่วนสังฆกรรมที่พระสงฆ์จะต้องแสดงในอุโบสถเท่านั้น มีหลายอย่างเช่น การสวดปาติโมกข์ อุปสมบท สวดกฐิน ที่ต้องใช้องค์สงฆ์ ๕ รูปขึ้นไป สวดอัพภาน ใช้สงฆ์ ๒๐ รูป และพิธีกรรม รวมทั้งการประชุมทางคณะสงฆ์อื่นๆ ด้วย ซึ่งสังฆกรรมดังกล่าว ต้องทำเฉพาะพระสงฆ์และเฉพาะที่เท่านั้น ดังนั้น พระสงฆ์จึงจำเป็นต้องกำหนดเขตหรือสีมาเฉพาะ ก่อนจะสร้างอุโบสถต้องได้รับการสมมติเป็นที่ปลูกสร้างให้ถูกต้องทางพระวินัยและทางอาณาจักรด้วย

          ส่วนที่พูดกันถูกบ้าง ผิดบ้างมาจากภาษาในพิธีกรรมทางศาสนา คำต่างๆ ที่ปรากฏในงานผูกพัทธสีมา ฝังลูกนิมิตคือ คำว่า ผูก หมายถึง สมมติ สีมาหรือสิม หมายถึง เขตหรือแดนหรือขอบเขต พัทธสีมา หมายถึง ขอบเขตที่ผูกไว้หรือสมมติไว้เรียบร้อยแล้ว อพัทธสีมา หมายถึง สีมาที่ไม่ได้ผูกไว้ ไม่ได้สมมติไว้ สมมติสีมา หมายถึง การกำหนดเอาเขตนั้นๆ เป็นสีมา วิสูงคามสีมา หมายถึง สีมาที่ได้รับพระราชทานให้เป็นเขตที่พระสงฆ์ทำสังฆกรรมได้อย่างอิสระ โรงอุโบสถ หมายถึง คำที่เรียกอุโบสถในพระไตรปิฎกสมัยพุทธกาล อุโบสถ หมายถึง เขตที่ผูกพัทธสีมาแล้ว พระอุโบสถ หมายถึง สีมาที่ยกขึ้นเป็นวัดหลวงหรืออารามหลวง โบสถ์ หมายถึง คำเรียกอุโบสถของชาวบ้านทั่วไป นิมิต หมายถึง เครื่องหมาย สัญลักษณ์บอกให้รู้ ฝังลูกนิมิต หมายถึง การฝังลูกหินกลมๆ ที่ได้รับการสมมติให้เป็นเครื่องกำหนดเขตแดนแห่งสีมา ฝังไว้ใต้ดิน รอบอุโบสถ ปิดทองลูกนิมิต หมายถึง การนำลูกหินกลมๆ มาทายาเพื่อปิดทองคำเปลว เพื่อทำเป็นลูกนิมิต กำหนดเขตสีมา วัด หมายถึง ที่อยู่ของพระสงฆ์ ที่ได้รับการรับรองจากทางพุทธจักรและอาณาจักรโดยมีอุโบสถเป็นแกนกลาง มี ๒ ชนิดคือ วัดราษฎร์และวัดหลวง

         สำนักสงฆ์ หมายถึง ที่พำนักของพระสงฆ์ที่ไม่มีอุโบสถ แต่ได้รับการรับรองจากอาณาจักรและพุทธจักร  ผูกพัทธสีมา หมายถึง การสมมติเอาที่ใดที่หนึ่งเป็นเขตสีมาอุโบสถ โดยกำหนดเอานิมิตเป็นแดนขอบเขต  สังฆกรรม หมายถึง กิจกรรมที่พระสงฆ์กระทำกันในอุโบสถเช่น อุปสมบท ปาติโมกข์ พิธีกรรม หมายถึง พิธีที่ว่าด้วยกิจกรรมทางศาสนา สวดถอน หมายถึง การสวดด้วยญัตติทางพุทธศาสนา กระทำโดยพระสงฆ์ ทักนิมิต หมายถึง การทัก การถาม ผู้รู้ว่า ทิศไหนอยู่ทางไหน มีอะไรเป็นเครื่องบอก ตัดหวาย หมายถึง การตัดหวายที่อุ้มลูกนิมิต เมื่อสิ้นสุดการทางสังฆกรรมแล้วด้วยมีด

          อานิสงส์การปิดทองลูกนิมิต ผลที่เกิดจากการปิดทองลูกนิมิต ในอรรถกถากล่าวไว้ ๖ ประการคือ  ๑) สุขภาพไร้โรค ปลอดภัย ไร้อันตราย ๒) ไม่เกิดในตระเกิดต่ำ ๓) เมื่อสิ้นบุญสู่ปรโลกก็จะได้เป็นเทวดา ๔) หากเกิดในโลกมนุษย์ จะได้เป็นกษัตริย์ ๕) มีผิวพรรณผ่องใส ๖) มีอายุยืนยาว อย่างไรก็ตาม ในอรรถกถาก็ไม่ได้บอกว่า ชาตินี้จะเกิดผลอย่างไรบ้างผลปัจจุบันจะเกื้อกูลชีวิตอย่างไร

          สำหรับผู้เขียนเชื่อว่าอานิสงส์น่าจะเกิดผลดังนี้ ๑) ได้ส่งเสริมให้กิจกรรมทางศาสนาสะดวกขึ้น ๒) สร้างความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับวิถีชีวิตให้ดำเนินไปในทางที่ถูกต้อง ๓) ได้จรรโลงจิตใจให้อยู่ในหลักธรรมคำสอนที่ดีงาม ๔) เป็นการวางรากฐานด้านถาวรวัตถุให้ยืนยงต่อไปสู่ลูกหลาน ๕) เมื่อสิ้นบุญไปจะได้เสวยสุขในแดนสวรรค์ ๖) เป็นพื้นฐานในการสะสมบุญในชาติต่อๆ ไป จนถึงพระนิพพาน  พระธรรมกิตติเมธี โฆษกมหาเถรสมาคมมองว่า “จะจริงหรือไม่ ไม่ทราบ แต่ผลทันตาคือ จิตใจเอิบอิ่ม เพราะได้สร้างกรรมดี ที่จะช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสืบไป” ส่วนพระพรหมคุณาภรณ์กล่าวว่า “การทำเช่นนี้ถือว่าเป็น กรรมนิมิตเป็นตัวสำคัญที่จะบอกถึงกรรมที่จะนำจิตไปสู่สุคติได้”

          อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันงานผูกพัทธสีมาทั่วประเทศไทย มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปมาก แทบจะหาร่องรอยเค้ามูลหรือพุทธประสงค์ไม่เจอ เนื่องจากเกิดรูปแบบประเพณีตามสมัยนิยม คือ เป็นงานหาเงินมากกว่าที่จะมุ่งเน้นที่สังฆกรรมอย่างแท้จริง ฉะนั้น จึงเกิดประเพณีที่งอกขึ้นมามากมาย ประเพณีที่งอกขึ้นมาใหม่เช่น ความเชื่อการทำบุญการสร้างอุโบสถ ความศักดิ์สิทธิ์ของหวายหรือมีดที่เกี่ยวข้องกับลูกนิมิต เป็นที่ขอพร ขอโชคจากการไหว้พระประธาน ลูกนิมิต โพธิ์เงิน โพธิ์ทอง แสวงหาวัตถุมงคลเป็นที่ระลึกในงานเช่นนี้ ผ้าป่าลอยฟ้าฯ โดยเฉพาะผู้จัดงานมุ่งเน้นในวันตรุษจีน เพื่อสนองผู้คนที่ชอบสัญจรแสวงบุญในช่วงนี้ และจึงเป็นโอกาสหาปัจจัยได้มากขึ้น หรือขายที่ให้พ่อค้าได้ขายอาหาร ขายของชำร่วยด้วยฯ

          ประเพณีนวนิยมที่เกิดขึ้นมาเช่นนี้ พระพรหมคุณาภรณ์ได้กล่าวว่า เป็นงานงอกหรือเพี้ยนไปจากพระวินัยและไม่สามารถสร้างสารประโยชน์หรือเข้าใจแก่นแท้ในหลักธรรมคำสอนแก่ผู้ร่วมงานอย่างแท้จริงเลย จนวัดได้กลายเป็นเวทีแข่งขันกันสร้างอุโบสถว่าใครใหญ่หรือได้เงินมากกว่ากัน ท่านเสนอว่า ควรจะทำป้ายสุภาษิตให้ผู้มาปิดทองอ่าน เพื่อจะได้เตือนสติหรือให้เกิดประโยชน์ในเชิงข้อคิด ข้อธรรมบ้าง ท่านกล่าวเตือนว่า แทนที่การฝังลูกนิมิตจะให้จิตพัฒนา สู่ปัญญาธรรม แต่กลับมาหลงแต่คำว่า ได้บุญ ได้กุศลเท่านั้น



โดย ส.รตนภักดิ์ :๒๕๕๖