วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2556


“ดี-ชั่ว อยู่ที่ภาษาและความรู้สึก”

(Goodness and badness are based on a language and feeling)

                คำว่า ดีและชั่ว มาจากไหน ทำไมจึงพูดถึงกันนัก เมื่อพูดว่าใครดี ใครชั่วแล้ว เราอะไรไปตัดสินเขาว่าเป็นเช่นนั้น ในหลักศาสนากล่าวไว้อย่างไร แล้วปัจจุบันคำนี้มีค่าต่อการยอมรับในความเป็นจริงสักแค่ไหน มันควรที่จะนิยามหรือตีความตามยุคหรือพฤติกรรมในยุคใหม่หรือไม่ หรือจะยังยึดตามคติทางศาสนาอีกต่อไป

                มนุษย์ใช้ภาษาสื่อสารกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องต่างๆ เมื่อมนุษย์มีหลายเชื้อชาติ หลายภาษา ภาษาที่สื่อสารกันจึงแตกต่างกัน ในวิถีชีวิตประจำวัน แต่ละเชื้อชาติก็ใช้ภาษานั้นๆ สื่อสารทำความเข้าใจกัน ฉะนั้น ภาษาจึงมีเฉพาะและภาษาสากล นอกจากนั้น ยังมีภาษาเฉพาะส่วนตัวอีก

                ภาษาคือ การสื่อสาร เป็นสื่อกลาง เพื่อบอกถึงความเข้าใจอีกฝ่ายหรือสะท้อนด้านจิตใจภายใจของกันและกัน แต่มนุษย์ไม่มีทางเข้าใจส่วนลึกที่เป็นส่วนตัวของกันได้ เพราะมีข้อจำกัดด้านภาษา แม้จะพูดภาษาเดียวกันก็ตาม เราจะพบว่า แม้คนใกล้ชิดกันมานาน แต่มักพูดกันไม่เข้าใจกัน เพราะมันยังเหลืออีกมากซึ่งอยู่ในใจของคนพูด ซึ่งไม่ได้พูด ดังนั้น การพูดภาษาเดียวกันไม่ได้หมายความว่า จะสื่อสารกันอย่างหมดจดได้  

                ทำไมเราจึงต้องใช้ภาษาสื่อสารกันอยู่อีกละ เหตุผลคือ เพราะเราเรียนรู้ภาษาของตนเพื่อเรียนรู้ภาษาร่วมกัน เพื่อสื่อสะท้อนเจตนาของตน มันเป็นวิธีเดียวที่สามารถติดต่อ ล่วงล้ำไปถึงด้านในของกันและกันได้ เราจึงเข้าใจความหมายร่วมกันในสังคม เช่นคำว่า  หิว เจ็บ สบาย ฯ คนไทยสามารถสื่อออกมาให้คนอื่นรู้ได้หรือคนชาติอื่นที่เรียนรู้และเข้าใจหลักภาษาไทย ก็สามารถเข้าใจในความหมายในคำนั้นๆ ได้ เป็นการเข้าใจความหมายของคำมากกว่า ที่จะเข้าความเป็นจริงของคนๆ นั้น หรือบางทีอาการที่หิวหรือเจ็บของคนหนึ่ง ซึ่งคนอื่นไม่ได้รู้สึกแบบที่คนนั้นเป็น จึงไม่อาจตระหนักในความจริงภายในใจของเขาได้ จึงไม่อาจบอกได้ว่า คนอื่นเข้าใจเราได้หมดจด

                ส่วนความรู้สึกเฉพาะของแต่ละคนยิ่งลึกซึ้ง ซึ่งยากที่จะเข้าใจอย่างแท้จริง  แม้จะมีผู้คนพูดบ่อยๆ ว่า “ฉันเข้าใจ...ดี” แต่เอาเข้าจริงๆ เขาเข้าใจมากน้อยแค่ไหน ที่รู้ก็แค่อาการหรือกิริยาของคนนั้นๆ แสดงออกมา จึงประเมินว่า รู้และเข้าใจดี หากทบทวนในคำพูดของมนุษย์อย่างพินิจ อย่างละเอียด จะพบว่าเรายังอยู่นอกเหนือความเข้าใจผู้อื่นอยู่มากทีเดียว สังเกตได้ว่า แฟนกันหรือสามี ภรรยา ลูก บางทียังสื่อสารกันไม่เข้าใจกันเลย จะกล่าวไปใยกับคนอื่น ดังนั้น ภาษาและความรู้สึกคือ ด่านปราการของมนุษย์ที่กางกั้นระหว่างประตูสัมพันธ์ ไม่ใช่ห้องใจที่ใครจะเข้าใจกันง่ายๆ เพราะทุกคนมีประสบการณ์ส่วนตัว มีปมด้อยส่วนตัว ที่ฝังแน่นไว้ตั้งแต่เกิดทั้งสิ้น และที่สำคัญคือ มนุษย์เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่เสแสร้งแกล้งทำทั้งด้านบวกและด้านลบได้อย่างแนบเนียนที่สุด อย่างไรก็ตาม มนุษย์มีปมพร่องในเรื่องภาษาอยู่กันทุกคน เพราะภาษาบอกตรงความรู้สึกได้ เช่น ประโยคเกี่ยวกับความรัก ความซาบซึ้ง คำหวานๆ คำด่า ฯ ภาษาเหล่านี้จะแทรกทะลุไปถึงขั้วความรู้สึกได้ ซึ่งอาจทำให้ใจยอมรับหรือน้ำตาไหลหรือโมโหได้ แต่บางคำก็ยากที่จะเข้าใจได้ ต้องนิยามหรือตีความ

                ในวิถีชีวิตมีคำมากมายที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตอยู่ เช่น คำและความหมายในศาสนา เราอาจไม่เข้าใจทันที เนื่องจากจากมันอยู่ห่างวิถีการดำเนินชีวิตอยู่สักหน่อย บางทีเราจึงเกิดข้อสงสัยในคำและความหมายได้ จนเราก็ไม่อยากได้ฟังอีก แต่หลายคำที่เราฟังบ่อยๆ ก็ไม่อาจเข้าใจปริบทหรือปริมณฑลของความหมายมัน ได้แต่อาศัยความคิด ความเห็นเอาเอง จนเกิดความคิด ความเชื่อเฉพาะขึ้นมา ประกอบกับผู้อื่นไม่รู้เหมือนกันแล้วสื่อออกมา ตัวอย่างคำที่เราคุ้นเคยกันดีคือ คำว่า ดีและคำว่า ชั่ว มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ใช้ในปริบทแบบไหน และมีคุณค่าในการตีค่ากับการนำไปใช้อย่างไรให้เห็นภาพพจน์  สองคำนี้มาจากศาสนา แล้วศาสนานำไปใช้อย่างไร ใช้กับใคร คำนี้ใช้กับมนุษย์ นำมาวัดจากการกระทำ (กรรม) ผลจากการกระทำจะมีผลชัดๆ สองอย่างคือ ดี ชั่ว และมีผลลางๆ (ไม่ชัดเจน) คือ เป็นกลางๆ  ที่จริงคำนี้เป็นคำภาษาในสังคมนั่นเองที่ใช้สื่อสารกัน  เพื่อบอกให้รู้ว่า คนแสดงออกในทางสร้างสรรค์ ที่เกิดประโยชน์ตนและคนอื่น จะถือว่า ทำดี ส่วนตรงข้าม จะถือว่า ทำชั่ว คำนี้จึงเชื่อมโยงไปถึงความรู้สึกของมวลชนหรือผู้คนในสังคมด้วย ฉะนั้น คำนี้จึงถูกยอมรับในฐานะว่า เหมาะหรือไม่เหมาะ ควรหรือไม่ควรที่จะทำหรือแสดงออก  จึงกลายเป็นจริยธรรมของมนุษย์

                ส่วนปริบทที่จะนำไปใช้คือ นำไปกล่าวตำหนิหรือชื่นชมหรือประเมินผู้แสดงออกที่มีผลกระทบต่อตนและคนอื่นทั้งด้านลบ (ชั่ว) และด้านบวก  (ดี) บางทีก็ใช้ในลักษณะตราหน้า ด่าว่ากัน ซึ่งผู้ใช้ควรพิจารณาเองว่า ควรนำไปใช้กับผู้ใด กระนั้น ผู้คนก็ยังแยกแยะหรือเลือกใช้คำนี้ไม่เป็น ดูเหมือนจะเหมาจนมั่วไปหมด ไม่รู้แน่ชัดว่า ใครดี ใครชั่ว กันจริงๆ แต่อาศัยความรู้สึกส่วนตัวเสริมไปด้วย ผลสืบเนื่องจากคำนี้ คือคติที่ไป สวรรค์ สุคติ (ดี) นรก ทุคติ (ชั่ว)  ในแง่จิตวิทยาในโลกความเป็นจริงคือ เกิดการลงโทษในด้านสังคม สังคมไม่ยอมรับ สังคมรังเกียจ เป็นต้น ส่วนในแงดี จะได้รับคำชม สรรเสริญ ให้เกียรติ ให้ใบประกาศเกียรติเป็นต้น  ทั้งหมดล้วนอาศัยภาษาสื่อสารให้รู้กัน และใช้ความรู้สึกเป็นเครื่องวัดไปด้วย  กระนั้น เราก็ไม่อาจบอกได้ว่า การใช้ภาษาและความรู้สึกวัด จะเป็นเครื่องมือบอกคุณลักษณ์ของมนุษย์ได้ หากต้องทบทวนและพินิจในใจตนลงให้ลึก จนถึงขั้วหัวใจสากลจนสามารถเชื่อมโยงไปถึงคนอื่นได้ ที่แท้จะพบความดีและความชั่วสากลว่า มนุษย์ทุกคนก็มีลักษณะชั่วดีเหมือนกัน ไม่มีใครดีเด่นไปกว่าใคร สิ่งที่ต่างคือ “กรรมเฉพาะ” ต่างหากที่เป็นธรรมที่สุด เมื่อไหร่เราพ้นทวิภาวะนี้ได้แล้วจะหมดคำว่า ดีชั่ว เหลือแต่ความว่างเปล่า (Emptiness)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น