วันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2556


“แหล่งความรู้” (The sources of knowledge)

        มนุษย์เกิดมาพร้อมกับอุปกรณ์ในการเรียนรู้ เพื่อการเอาตัวรอด เพื่อการจัดการ และเพื่อบริหารชีวิตของตัวเองในวันข้างหน้า ในการดำรงชีวิตอยู่บนโลกนี้จนสิ้นอายุไข ในระยะแรกศักยภาพในตัวเรายังไม่สามารถนำไปใช้ได้ จะต้องได้รับการฝึกฝน ขัดเกลาให้เกิดทักษะ ในการดำรงชีวิตให้สอดคล้องกับปรากฏการณ์ของโลกและสอดคล้องกับเจตจำนงของตนเอง การที่จะบริหารจัดการกับวิถีชีวิตให้เกิดทักษะอย่างมีระบบ มีระเบียบได้ ต้องอาศัยสหวิทยาการต่างๆ เช่น อาศัยหลักศาสนา ความมุ่งมั่น และมีทัศนคติต่อการมีชีวิตอยู่บนโลกนี้อย่างรู้เท่าทัน พร้อมกับมีมุมมองไปสู่อนาคตด้วย แต่ใครละจะมาชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิต เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิต

            จุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ชีวิต คือ การเข้าสู่โรงเรียน เพื่อเรียนรู้วิชาต่างๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการตั้งไข่ให้สมองคุ้นเคยกับกระแสโลกก่อน โรงเรียนคือ สถานที่ที่มีบุคคล มีอุปกรณ์ต่างๆ เช่นครู เพื่อน หลักสูตร หนังสือ กิจกรรม เพื่อชี้นำ ชี้แนะ ลองฝึกหัด จนสามารถแสดงทักษะของตนออกมาได้ เมื่อจบหลักสูตรเราก็ออกโรงเรียน เพื่อพัฒนาตัวเองไปสู่ขั้นสูงขึ้นไปอีก เมื่อมีฐานมั่นคง ก็แต่งเติม เสริมสร้างความรู้ให้เพิ่มขึ้น ให้แน่นขึ้น จนสมองได้ข้อมูลเพียงพอที่จะมองโลกทัศน์ ชีวิตทัศน์ออก จากนั้นสมองก็จะเริ่มก่อตัว คิดเอง วางแผนเอง ปรับปรุงพัฒนาเองได้ แต่ต้องอาศัยความมุ่งมั่น แน่วแน่ อย่างอดทนในกิจกรรมนั้น โดยไม่วางมือ นี่คือ ผลจากการได้รับข้อมูลที่เพียงพอและถูกต้อง จะทำให้ชีวิตมีวิถีทางดำเนินไปสู่ความไม่ผิดพลาด

            การดำเนินชีวิตไปอย่างราบรื่น มั่นคงปลอดภัย และได้ประโยชน์ ได้สาระอย่างแท้จริงนั้น ยังต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ อยู่เรื่อยๆ มิใช่แค่จบโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเท่านั้น เพราะแหล่งเรียนรู้ของชีวิตอยู่รอบตัวเราและอยู่กับเราตลอดเวลาจนกระทั่งตาย ชีวิตยังมีคำถาม มีปัญหาอีกมากมายที่เรายังหาคำตอบไม่เจอ ดังนั้น จึงไม่ควรพอใจในความรอบรู้ หรือวิทยาการต่างๆ ที่เรายังไม่รู้ ไม่ควรปิดกั้นชีวิตเรื่องความรู้ ยิ่งรู้มากเท่าไร ยิ่งทำให้เรามองเห็นโลก มองเห็นชีวิตในมิติที่ละเอียดยิ่งขึ้น และมันจะช่วยให้เราเข้าใจโลก เข้าใจธรรมชาติ  เข้าใจชีวิตด้วยความเคารพมากขึ้นแน่นอน ที่สุดเราจะเห็นคุณค่าอันยิ่งใหญ่ของการครองชีวิตอยู่บนโลกด้วยความเข้าใจ มิใช่ด้วยอาหารและลมหายใจเท่านั้น ฉะนั้น แหล่งมหาวิทยาที่เกื้อกูลชีวิตเราพอสรุปได้ดังนี้คือ

            หนังสือ (Books) เป็นเครื่องมือในการพัฒนาสมองให้เราได้รู้ ได้เสริมใยสมองให้คิดและขยายอย่างไม่มีสิ้นสุด การอ่านหนังสือเป็นกระบวนการถ่ายเทเนื้อหาในสมองเก่าๆ ให้ได้น้ำใหม่ เป็นการนำพาสมองให้เชื่อมโยงกับโลกภายนอก มิให้พื้นที่สมองถูกหมกหมักกับข้อมูลเก่าจนเกิดความเน่าเสีย (ไม่พัฒนา) อนึ่ง การอ่านหนังสือเหมือนกับเราได้อ่านใจคนอื่นหรือได้ฟังคนอื่นไปด้วย ทำให้เราได้แง่คิด มุมต่างๆ ที่หลากหลาย ซึ่งจะนำไปสู่การการเปิดใจ เปิดสมองให้เห็นช่องว่างในการคิด การต่อยอดของคนอื่นได้ นอกจากนี้ การอ่านหนังสือยังได้ทำสมาธิให้ใจมีอารมณ์เป็นหนึ่งนิ่งในตัวเอง จิตไม่ฟุ้งไม่เรื่องอื่นจนเกินไป ทำให้สมองมีโอกาสในการกลั่นกรองแนวคิดของคนอื่นได้ ดีกว่าฟังครูสอนในบางคราด้วย ปัญหาคือ หนังสืออะไรที่จะกระตุ้นให้เราอ่านแล้วได้แง่คิดหรือสร้างสรรค์ปัญญา คำตอบนี้อยู่บนพื้นฐานความชอบส่วนตัว (แต่อย่าเอาสัญชาตญาณฝ่ายลบมาอ้าง) แม้ว่าคนส่วนใหญ่มักบอกว่า อ่านแล้วจำไม่ได้ อ่านไม่จบเล่ม หรืออ่านแล้วง่วง นั่นเพราะว่า เราไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าอ่านเอาอะไร อ่านไม่เป็นกระบวนการ แต่หากเราใช้คำว่า ชอบอ่าน อย่างน้อยมันจะช่วยให้เราเช่น ได้ฝึกฝนการอ่าน เห็นคำศัพท์บ่อย จำประโยคเดียวได้ก็ถือว่า มีค่าแล้ว

            การสนทนากับผู้คน (Conversation) วิถีชีวิตของมนุษย์มักอยู่ด้วยกันโดยการพูดคุยกัน สื่อสารกัน การพูด คือ การสื่อสัมพันธ์จากตื้นไปสู่การรู้ตื่น สิ่งใหม่ๆ เนื่องจากในชีวิตของแต่ละคนย่อมมีเส้นทางที่ต่างกัน และย่อมมีสาระต่อคนอื่นด้วย นอกจากการสร้างมิตรภาพแล้ว ยังช่วยให้เกิดโลกทัศน์ให้แก่กันอีกด้วย ยิ่งผู้คนที่มีประสบการณ์ชีวิตมาก เชี่ยวชาญในด้านวิชาต่างๆ ย่อมน่ารับฟัง ด้วยเหตุนี้จึงมีการจัดสัมมนา ปาฐกถา บรรยาย ในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษา บุคคลที่มีประสบการณ์เฉพาะด้านเช่น ปราชญ์ชาวบ้านเป็นต้น ยิ่งน่ารับฟังอย่างยิ่ง ความรู้ที่ได้จากคนอื่นเป็นความรู้นอก (สมอง) ที่สามารถนำมาประสานเชื่อมโยงในข้อมูลเดิมในสมองของเราได้เป็นอย่างดี ดังนั้น มนุษย์จำนวนมากที่มีความรู้ มีความชำนาญในสาขาเฉพาะ เป็นทรัพยากรหรืองค์กรที่มีค่าต่อการศึกษาต่อคนรุ่นใหม่ นี่คือ แหล่งเรียนรู้ที่สามารถปรับปรุง ถ่ายเท เปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าปัญญาประดิษฐ์อีก ด้วยเหตุนี้ เราจึงเรียกบุคคลเหล่านี้ว่า ครูหรืออาจารย์ เพราะท่านเหล่านี้คือ ครู ที่เป็นคลังที่เคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา และสมควรอย่างยิ่งที่เราควรแสดงความเคารพอย่างยิ่ง

            การเดินทางท่องเที่ยว (Expedition) การเดินทางเป็นสัญชาตญาณอย่างหนึ่งในการผจญภัยของสิ่งมีชีวิต ชีวิตต้องมีการเคลื่อนที่อยู่เสมอ การเดินทางเป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่งของชีวิต โลกที่เราอาศัยอยู่เป็นสถานที่ที่กว้างใหญ่ไพศาล หากเราไม่เดินทาง ไม่ก้าวเท้าออกไปนอกขอบเขตบ้านบ้าง เราก็จะเห็นบ้านเหมือนจักรวาลของตน เมื่อไหร่ก็ตามเราเดินทางรอบโลกแบบสุดโต่ง เราจะพบความจริงของโลกที่ปรากฏอยู่ว่า มันยิ่งใหญ่ ในขณะเดียวกันหากเรายืนนิ่ง เราจะมองเห็นจุดยืนแคบลงทันที การเดินทางได้ประโยชน์มากมายตั้งแต่ ได้เห็น ได้รู้ว่า โลกและสิ่งต่างๆ ยังคงมีอยู่ มิใช่แต่อยู่เพียงจิตนาการเท่านั้น ได้เห็นวิถีชีวิตของคนอื่น ได้สัมผัสกับบรรยากาศธรรมชาติโดยตรง มิใช่จากคำบอกเล่าของคนอื่น ได้เพิ่มข้อมูลภาพในสมองของเรา ได้มุมมองสองมุมระหว่างโลกภายนอกกับโลกภายใน ทำให้สมองไร้ขีดจำกัดในการคิด ทำให้ชีวิตไม่ติดที่ ติดกรอบ เพราะโลกนี้มีช่องว่าง ที่รอต้อนรับการไปเยือนของเราอยู่เสมอ นี่คือ โลกแห่งทัศนาจรและเป็นฐานของความรู้ของสมองเราด้วย

            การคิด การเขียน การจินตนาการ (Thought, writing and imagination) เมื่อเราได้ดำเนินตามขั้นตอนของการเรียนรู้อย่างเป็นระบบแล้ว จากนั้นก็มาถึงขั้นตอนการกลั่นกรอง การย่อยข้อมูล การร่อนข้อมูล การตกผลึกข้อมูลด้วยวิธีการทบทวน บันทึกพร้อมด้วยการจินตนาการแตกตอนความรู้ ให้เพิ่มขึ้นและให้เข้มข้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้ความรู้ ประสบการณ์ที่เราได้รับมานั้น เกิดคุณค่าหรือขัดเกลาให้สละสลวยยิ่งขึ้น เพื่อจะได้นำไปเสนอหรือนำออกไปเผยแผ่ ต่อสังคมได้ การคิดต้องอาศัยข้อมูลเป็นวัตถุดิบ หากคิดโดยปราศจากข้อมูลหรือเนื้อหามันก็ไร้ค่า จากนั้นจึงนำไปสู่การเรียบเรียงออกมาเป็นประโยค พลความ ร้อยเรียงออกให้เกิดภาพลักษณ์ที่น่าอ่าน การเขียนต้องอาศัยการฝึกฝนการใช้ภาษาให้กลมกลืนกับภาพเหตุการณ์หรือความจริงที่ปรากฏ ในขณะเดียวกัน การคิด การเขียน ก็มาพร้อมกับการจินตนาการ เพราะการจินตนาการเป็นการสมมติหรือตั้งข้อความเป็นไปได้อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งสามารถนำมาสอดแทรกเข้าเนื้อหาความจริงที่ได้ประสบมา กระบวนเหล่านี้ถือว่าเป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่งในการดำรงชีวิต ยิ่งเราทำบ่อยๆ ฝึกบ่อย ซ้ำๆ ก็จะเกิดทักษะในกิจการนั้นๆ ได้ การใช้ชีวิตเพื่อให้เกิดความรู้ในตนเองก็เช่นกัน

            การทำสมาธิ (Meditation) การทำสมาธิเป็นศาสตร์ที่ต้องอาศัยการฝึกฝน อดทนอย่างยิ่ง เพราะเป็นวิธีที่ละเอียดและเปราะบางในการควบคุมจิตใจ การทำสมาธิไม่ใช่สัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิต มันเป็นเรื่องความสามารถหรือทักษะที่เหนือวิถีสัตว์ในวิถีปกติทั่วไป เป็นความสามารถของมนุษย์ล้วนๆ สัตว์ทำได้แค่การนอนหลับ แต่ไม่ใช่การคุมจิต วิธีทำสมาธิจึงถือว่า เป็นศาสตร์ที่สร้างความเป็นมนุษย์ที่เหนือมนุษย์ แต่ต้องมีเป้าหมายเพื่อการดับหรือดร๊อบ (Drop) ให้กิเลสบางเบาลง และวิธีนี้เป็นการฝืนวิถีธรรมชาติของมวลมนุษย์ ปกติพวกเขาจะกิน นอน เที่ยว ทำตามใจตัวเอง โดยไม่มีการควบคุมพฤติกรรมกาย วาจาใจ ของตนเอง ปล่อยให้เป็นอิสระ แต่การฝึกจิตเป็นการฝืนใจ ฝืนธรรมชาติอย่างสุดโต่ง มันจึงยากสำหรับคนที่ไม่เข้าใจแนวคิดเรื่องการฝึกสมาธิ ซึ่งผู้ฝึกต้องฝืนกลืนกล้ำที่จะทำได้ เมื่อฝึกได้แล้ว เมื่อควบคุมตนเองได้แล้ว จะเห็นคุณค่าของคุณภาพจิตใจว่า มันนิ่ง มันยิ่งใหญ่มาก ความรู้ ปัญญาก็จะค่อยๆ เผยออกมา นี่คือ วิธีหนึ่งในการบีบความรู้ให้ตกผลึก ซึ่งจะมีผลต่อการบริหารจิตใจด้วย

            ดังนั้น ในระยะวิถีชีวิตของมนุษย์ที่ใช้เวลาอยู่บนโลกราว ๗๐-๑๐๐ ปี ย่อมมีองค์ความรู้สะสมอยู่จำนวนมาก แต่เมื่อชีวิตกำลังเข้าสู่ปลายทาง จะทำอย่างไรหรือจะบริหารความรู้อย่างไร ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตนและผู้อื่น เพราะชีวิตคือ แหล่งความรู้ที่ยิ่งใหญ่ แล้วความรู้ที่รู้มาจะนำไปใช้อย่างไร ความรู้เกิดจากการมีกาย มีใจที่กำลังทำงานอยู่ และความรู้จะถูกนำไปวางแผนการกระทำของชีวิต เพื่อดำเนินไปสู่การพัฒนาพฤติกรรมของตนให้ละเอียดขึ้น ซึ่งทั้งหมดจึงเกี่ยวโยงกันเป็นองคาพยพเดียวกัน     

           

           
โดย ส.รตนภักดิ์ : ๒๕๕๖

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น