วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ผลจากมุมมองของ PM (Postmodernism) ต่อพุทธทัศน์


                   "ผลกระทบจากมุมมองของกลุ่มหลังยุคใหม่ต่อพุทธทัศน์"

หลักการและเหตุผล
            การพัฒนาการของมนุษย์ เริ่มมาจากการวิวัฒน์ของสัตว์จนพัฒนาไปถึงขั้นเหนือสุดในเผ่าพันธุ์ของตนจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ บรรดาสัตว์โลกทั้งหมดที่อาศัยโลกอยู่ มนุษย์ถือว่าเป็นสัตว์สังคม (Rational Animals) (Y. Masih,  1999: 110) ที่สามารถสร้างสรรค์กิจกรรมในกลุ่มของตนขึ้นมาเองได้อย่างเป็นระบบ กิจกรรมที่ว่านั้นคือ การคิดร่วม (Related Thought) การแสดงออกร่วม (Related Act) (Hans Klein, 2005: 3) หมายความว่า การมีสิทธิในการแสดงออกด้านความคิดเห็นในแง่ทัศนะต่างๆ ที่สามารถตอบโต้ ตอบสนองกันในกลุ่มหรือต่างกลุ่มตนเอง ส่วนการแสดงออกด้านกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าด้านสังคม (Society) การเมือง (Politics) เศรษฐกิจ (Economics) ศาสนาและวัฒนธรรม (Religion and Culture) ฯ ลักษณะเหล่านี้คือ กิจกรรมเฉพาะในหมู่ของมนุษย์เท่านั้น  ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องผ่านกระบวนการขัดเกลา เรียนรู้มาจากยุค จากสมัยต่างๆ หลายรุ่น จึงก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคแต่ละสมัย ยุคการกำเนิดมนุษย์แบ่งออก 2 ยุค คือ ยุคก่อนประวัติศาสตร์และยุคประวัติศาสตร์ แต่ละยุคก็แบ่งย่อยออกไปอีก โดยเฉพาะยุคประวัติศาสตร์แบ่งออกไป 4 ยุค คือ ยุคโบราณ ยุคกลาง ยุคสมัยใหม่และยุคปัจจุบัน (ธีรยุทธ บุญมี, 2546: 58)
            เมื่อกล่าวโดยเวลาแต่ละยุคแล้ว ย่อได้กว้างๆ 2 ยุคคือ ยุคเก่าและยุคใหม่ (Old and New Ages) มนุษย์ผ่านกระบวนการเรียนรู้ จากกาลเวลาและการสร้างสรรค์กิจกรรมของตนเองมายาวนาน ยุคเก่าก่อนเป็นยุคที่บุกเบิก ได้สร้างอาณาจักรและขยายอาณาจักรมนุษย์ขึ้น ยุคต่อๆ มาได้อาศัยรากฐานกิจกรรมของยุคก่อนเป็นแนวทางในการพัฒนา บ้างก็ยอมรับเอาแนวคิดเก่ามาผสมผสาน (Syncretism) บ้างก็รื้อทำลายหรือปฏิเสธแนวคิดแบบเก่า (Rethought) จึงทำให้เกิดแนวคิดและทฤษฎีต่างๆ ภายหลัง โดยเฉพาะยุคสมัยใหม่
            ยุคสมัยใหม่เริ่มตั้งแต่ค.ศ.1910-1945 หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง จากนั้นแนวคิดหลังยุคสมัยใหม่ก็ปรากฏขึ้นมา ปัจจัยที่เป็นเหตุให้เรียกว่า สมัยใหม่ (Modernism) นั้นมาจาก หลักเหตุผล (Rationality) การหาความจริง (Truth) อิงวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) อุตสาหกรรม (Capitalism) ความรู้ (Literature) การเมือง (Politics) จนนำไปสู่การคิดแบบสากลนิยมเหมือนกัน และเกิดสังคมเสพบริโภควัตถุตามมา ส่วนในด้านศาสนาปรัชญาและวัฒนธรรมก็ถูกสังคมสมัยใหม่ครอบงำไม่ว่า สื่อ เทคโนโลยีและพิธีกรรมบางอย่าง (Steven Heine and Charles S. Prebish, 2003: 4) จนต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองไปด้วยเช่น เกิดข้อสงสัยจากศักย์ (God’s Power) แห่งพระเจ้า มาเน้นที่ศักย์แห่งมนุษย์แทน (Man’s Potentiality) (Nietzsche, แปลโดย กีรติ บุญเจือ, 2555: 35) หรือในกรณีของลัทธิมาร์กซิสต์ (Marxist) ได้กล่าวหาศาสนาทั้งหลายว่า เหมือนฝิ่นที่มอมเมาประชาชน (Karl Marx,1964: 43) ในขณะศาสนาอิสลามก็ถูกท้าทายด้วยลัทธิเสรีนิยมและที่ท้าทายศาสนาอยู่อย่างต่อเนื่องคือ ด้านวิทยาศาสตร์ (Elaine Howard Ecklund and Jerry Z. Park, 2009: 277)  แนวคิดดังกล่าวได้แผ่ขยายไปทั่วโลก ส่วนประเทศไทยเดิมอิงแนวคิดทางตะวันออกแบบพุทธ ปัจจุบันดำเนินวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมแบบผสมผสานกับหลังยุคใหม่อย่างกลมกลืนเช่น ทุนนิยมในเรื่องพระเครื่อง การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การเผยแผ่ธรรมในโลกสื่อฯ แต่บางกลุ่มมองว่าล้าสมัย (ใหม่) อยู่
            ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรากฐานมาจากศาสนาพุทธและสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นแกนกลาง ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ยึดหลักอุดมคติในการสอนให้ดำเนินชีวิตแบบอริยวิถีพุทธ (Noble Way) โดยมีเป้าหมายคือ การออกจากทุกข์โดยอาศัยปัญญา (Wisdom) แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป สังคมเปลี่ยนไป จนเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ศาสนาพุทธยังคงยึดมั่นหลักการตนเองอยู่ ทำให้กลุ่มที่ยอมรับกระแสยุคใหม่ไม่ค่อยเห็นด้วย ในขณะเดียวกันกลุ่มชนชั้นนำเช่น รัชกาลที่ 4-5 ได้ทรงศึกษาวิทยาการใหม่จากตะวันตก จึงทำให้เกิดความคิดใหม่ที่สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางศาสนาพุทธตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา (ศ. สิวรักษ์, 2552: 243)
            ความเป็นพุทธในประเทศไทย (Buddhist being) มิได้อยู่ที่หลักการ (Morality) หรือศาสนวัตถุหรือคัมภีร์ (Symbol or Doctrine) เท่านั้น แต่อยู่ที่ใจหรือความคิด (Buddhist Mind) ของพุทธศาสนิกชน ปัญหาที่ท้าทายพุทธศาสนิกชนตอนนี้คือ จะปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตเป็นแบบตะวันตกหรือไม่ หรือจะยืนหยัดในอุดมคติของตนเองต่อไป ส่วนหนึ่งของศาสนาพุทธฝังรากไว้ที่คนไทยและวิถีไทยคือ ความเป็นวัฒนธรรม (Thai religiosity) (James Taylor, 2008: 1) เช่น ภาษาไทย มารยาทการแสดงออก ฯ เมื่อประเทศไทยเปิดตัวเองเป็นประเทศเสรี จึงทำให้ผู้คนหลั่งไหลไปศึกษาวิชาการ ความรู้ และวัฒนธรรมต่างชาติและนำเข้ามา กลายเป็นนววิถีที่สอดคล้องกับสังคมยุคใหม่ ปัจจุบันพฤติกรรมของคนไทยยุคใหม่เริ่มแสดงออกเหมือนชาวตะวันตก ด้านวัตถุได้ถูกพัฒนาในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อตอบสนองสังคม จึงเห็นปรากฏการณ์ภาพสมัยใหม่ในประเทศในด้านการพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีไปอย่างรวดเร็ว ผู้คนแสวงหาอิสรภาพ เชื่อในวิทยาการแบบวิทยาศาสตร์มากขึ้น เน้นปัจเจกภาวะ เน้นเสพบริโภควัตถุนิยม เพื่อก้าวไปสู่ความเป็นสากลนิยม (Universality) จนกลายเป็นปัญหาข้อโต้แย้งกันเชิงสังคม มีการละเมิดกฎศีลธรรมมากขึ้น ละเลยรากเหง้าวัฒนธรรมของตนเองและห่างไกลศาสนา ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ มาจากกระแสสังคมสมัยใหม่ จนอาจนำไปสู่การสูญเสียวัฒนธรรมและสูญเสียจุดยืนที่แท้จริงของตน ซึ่งอาจกระทบถึงหลักการทางพระพุทธศาสนา รวมไปถึงบุคคลากรด้านศาสนาพุทธด้วย (ชาญณรงค์ บุญหนุน, 2554: 9-18)
            นอกจากกระแสวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่กล่าวแล้ว ประเทศไทยและพระพุทธศาสนายังต้องเผชิญกับกระแสใหม่ที่ตามมาที่เรียกว่า “หลังยุคใหม่” (Postmodernism) (Jean Francois Lyotard, 1979: 71)  ที่จะกระทบต่อพระพุทธศาสนาในด้านกระบวนทัศน์ เรื่องการแสดงออกถึงความเชื่อ ความคิดฯ เพราะหลักการพระพุทธศาสนายืนอยู่บนรากฐานเดิม (Originality) ในขณะกระแสหลังยุคใหม่มีแนวคิดที่ก้าวไกลโดยเน้นหลักการแบบสหวิทยาการ (Pluralism) เน้นปัจเจกภาพ (Individualism) ปฏิเสธหลักการใดๆ ผู้คนจะกลายเป็นนักบริโภคนิยมเพื่อตัวเอง สังคมจะถกเถียงกันในกฎเกณฑ์ที่ตายตัว จะเกิดความแตกต่างที่หลากหลาย ผู้คนเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ส่วนศีลธรรม จริยธรรมและความยุติธรรมจะถูกละเลย กระแสสังคมเน้นความเป็นสากลนิยมแบบเดียวกัน สื่อจะมีอิทธิพลต่อความคิดและความเชื่อมากขึ้น แนวคิดตะวันตกถูกยอมรับเต็มที่  ซึ่งผลที่จะกระทบต่อสังคมไทยและศาสนาพุทธอย่างเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาอาชญากรรมหรือความมั่นคงในประเทศจะตามมา เนื่องจากสังคมห่างศาสนาและหลักพื้นฐานการเคารพกันและกัน ซึ่งอาจทำลายโครงสร้างสังคมไปจนถึงครอบครัวได้
            ดังนั้น ผลกระทบของยุคใหม่และหลังยุคใหม่ที่กล่าวนั้น  ผู้วิจัยเชื่อว่าปัญหาหลักที่จะกระทบพระพุทธศาสนาและสังคมไทยโดยเฉพาะกลุ่มชาวพุทธที่มีวิถีชีวิตแบบเดิม จะถูกท้าทายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น (More Challenge) (Thom wolf, 2007: 3) ซึ่งปัญหาทำนองนี้ได้เกิดขึ้นมาแล้วกับศาสนาคริสต์ เมื่อนิเช่ (Nietzsche) ได้ท้าทายศรัทธาชาวคริสต์ว่า พระเจ้าของท่านได้มรณกรรมไปแล้ว (Nietzsche แปลโดย กิรติ บุญเจือ, 2555: 100) หมายความว่า ศรัทธาชาวคริสต์ได้เสื่อมไปจากพระเจ้าแล้วและไม่ควรเชื่อพระเจ้าอีกต่อไป ควรมาสร้างความเชื่อมั่นในอภิมนุษย์ดีกว่า ปัญหาเช่นเดียวกันนี้ กำลังจะเกิดจะขึ้นในพุทธศาสนาปัจจุบันหรือไม่ เช่น หลักคำสอนเดิมจะถูกสอนให้เพี้ยนไปอย่างไร  จะเกิดกลุ่มพุทธใหม่แบบไหน (ระพิน พุทธสาโร, 2554: 589) ภาษาพุทธพจน์จะถูกตีความไปแบบใหม่อย่างไร จากศรัทธาที่เป็นพื้นฐานจะกลายเป็นข้อสงสัยคำสอนอย่างไร (สมบูรณ์ วุฑฒิกโร : 2548) จากการเน้นอุดมคติไปเป็นปัจเจกบุคคลแบบเทียมอย่างไร (ธีรยุทธ บุญมี, 2548: 141) จากความเชื่อในไตรโลก (สวรรค์ มนุษย์ นรก) เป็นความเชื่อแบบเอกนิยม (เน้นมนุษยนิยม) ปัญหาด้านศีลธรรมในสังคมจะเพิ่มขึ้นอย่างไร นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบจากทุนนิยมต่อพุทธศาสนาอีก (อุทัย สติมั่น, 2554: 520-21) ในแง่การเผยแผ่คำสอน การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม รวมไปถึงบุคคลากรของศาสนาที่มีแนวโน้มลดลง (วิไลเลขา ถาวรธนสารและคณะ: 2552) อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแล้วนั้น อาจนำไปสู่การพัฒนาไปในทิศทางที่ดี กล่าวคือนำไปสู่การพัฒนาหลักการ องค์กรและวิถีปฏิบัติทางศาสนา ให้ทันยุค ทันสมัยและให้สอดคล้องกับความต้องการของคนยุคใหม่ได้อย่างกลมกลืน ทั้งนี้ ผู้วิจัยต้องการศึกษาทิศทางและแนวโน้มด้วยว่า “พุทธทัศนะ” (Buddhist Perspective) (สมเกียรติ มีธรรม: 2546) ในโลกยุคใหม่ว่า จะปรับตัวเองไปตามกระแสโลกหรือจะตั้งอยู่บนหลักการอย่างไรหรือจะเกิดศาสนาใหม่หรือไม่ (พระไพศาล วิสาโล, 2546: 472) ในการก้าวไปพร้อมกับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างไร (David L. McMahan, 2008: 320) หรือศาสนามีทางเชื่อมโยงกับโลกหลังยุคใหม่ให้สมดุลอย่างไร  ดังนั้น เมื่อปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ต้องยอมรับตามหลักพุทธที่สอนว่า การเปลี่ยนแปลงคือ ความจริงของโลก
             ปัญหาที่พบคือ  1. กระบวนการคิดแนวพุทธทัศน์ที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทยถูกท้าทายจากแนวคิดตะวันตกมากขึ้น   2. ทำให้วิถีการดำเนินชีวิตของสังคมไทยพุทธมีแนวโน้มไปทางสังคมหลังสมัยใหม่ (Postmodern) โดยวิพากษ์แนวคิดดั้งเดิมแบบพุทธ 3. จึงเกิดกระแสนิยมแบบเสรีและปัจเจกบุคคลในสังคมไทยพุทธมากขึ้น ด้วยเหตุนี้  4. วิถีเดิมแบบพุทธควรจะปรับตัวเองให้เข้ากับโลกยุคใหม่หรือจะยึดหลักอุดมคติต่อไปในสังคมหลังยุคใหม่ (Postmodern) ถ้าปรับจะปรับอย่างไร ถ้ายึดอุดมคติจะประนีประนอมอย่างไรกับกระแสโลก 5. จะเกิดกระแสพุทธแบบใหม่อย่างไรในอนาคต

แนวคิดที่สอดคล้อง
            เดวิท แอล แมคมาฮาน (David L. McMahan, 2008: 320) The Making of Buddhist Modernism” ได้พูดถึงลักษณะของพุทธศาสนาที่ถูกอิทธิพลของยุคสมัยใหม่ที่ล้อมโอบ จนทำให้พุทธกลายพันธุ์เป็นพุทธผสมผสาน เขาเห็นว่า องค์ประกอบของพระพุทธศาสนาเช่น สมาธิ จิต อัตตาเชิงปัจเจก ทั้งหมดนี้ถูกกำหนดขึ้นมาจากอิทธิพลของยุคใหม่ ซึ่งได้ก่อตัวมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 ทั้งเอเชียและตะวันตก ซึ่งไม่ใช่การรื้อฟื้นธรรมหรือเน้นย้ำแบบธรรมดา แต่เป็นการผสมผสานในลักษณะที่กลมกลืนกับแนวตะวันตก จึงกลายเป็นพุทธแบบผสมผสานวัฒนธรรมใหม่ ที่ทันสมัยมากที่สุดเรียกว่า “นวพุทธ” (Modern Buddhism) เขามองว่า ทั้งยุคสมัยใหม่และเป็นนวพุทธแบบลูกผสม (Multivalent Buddhist and modernist) ลักษณะดังกล่าวนี้ พระพุทธศาสนาเคยก่อตัวเช่นนี้มาก่อนเช่น พุทธศาสนาแบบเต๋า แบบธิเบต แบบชินโต แบบเซน แบบญี่ปุ่น ส่วนปัจจุบันกลายเป็นลูกผสมกับกระแสยุคใหม่ ซึ่งเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง กระแสบริโภคนิยมเป็นต้น หากเป็นเช่นนั้นมาก่อน ผลกระทบในปัจจุบันคงเลี่ยงไม่ได้ และไม่แปลกที่ศาสนาทั้งหลายต้องอยู่กับโลกแบบผสมผสานกับยุคใหม่เรื่อยไป แต่เราจะมีท่าทีหรือปรับปรุงศาสนาให้เท่าทันสมัยใหม่อย่างต่อเนื่องได้อย่างไร

            ศ.นพ.ประเวศ วสี (งานสัมมนา: 1 พฤศจิกายน 2546 ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยศิลปากร) “ยุทธศาสตร์พระพุทธศาสนากับการพัฒนาประเทศไทย” ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์ของพุทธศาสนาในการพัฒนาตัวเองสู่กระแสโลกยุคใหม่ว่า สิ่งที่ต้องการคือการปฏิวัติจิตสำนึกใหม่ (consciousness revolution) หันมาดูพุทธศาสนาที่มีคนบอกว่าเป็นภูมิปัญญาสูงสุดของมนุษย์ พุทธศาสนามีโลกทัศน์และวิธีคิดที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างบูรณาการด้วยมัชฌิมาปฏิปทา โดยส่งเสริมคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ ถือเรื่องความดีสูงสุดของมนุษย์ที่มนุษย์สามารถจะไปถึงได้ทุกศาสนา หัวใจของศาสนาคือโลกุตตรธรรม โลกุตตรธรรม หมายถึงมิติทางจิตวิญญาณ ที่เลยมิติทางวัตถุ ทุกศาสนาจะเป็นอย่างนั้น จะเป็นส่วนที่เรียกว่า spiritual หมายถึง โลกุตตรธรรมที่เหนือโลกทางวัตถุ ฉะนั้น เรื่องศาสนาจึงจำเป็นสำหรับการพัฒนาสมัยใหม่ที่กำลังวิกฤตอยู่ จำเป็นต้องมามองพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นต้นทุนหรือว่าเป็นสมบัติของเราที่จะนำมาใช้เพื่อจะแก้วิกฤตในการพัฒนาในสมัยใหม่ ที่เรากำลังเผชิญอยู่

            พระไพศาล วิสาโล (งานสัมมนา: 1 พฤศจิกายน 2546 ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยศิลปากร : เรื่อง อนาคตพุทธศาสนาไทย เราจะฝ่าวิกฤตได้อย่างไร) ท่านได้กล่าวถึงสังคมมนุษย์ว่า จะต้องอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติเพื่อสันติสุขในสังคม ส่วนด้านศาสนาก็ต้องอาศัยการพัฒนาไปกับสังคมโดยอิงพื้นฐานด้านวัฒนธรรมและทุนมนุษย์เป็นตัวตั้ง มิใช่อิงทุนนิยม เมื่อมองในมุมกว้าง สังคมโลกปัจจุบันเต็มไปด้วยแรงโลภจริตเป็นแรงขับเคลื่อนเป็นแนวตั้ง แนวคิดนี้ โลกต้องการให้เป็นอารยธรรมเดียวกันหมดทั้งโลก ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง จนโลกเดี๋ยวนี้เกิดวิกฤตเพราะอารยธรรมทุนนิยมนี้ในยุคใหม่  จึงส่งผลกระทบต่อมนุษย์ทั่วโลก ไม่ว่าวัฒนธรรม รวมทั้งศาสนาด้วย โดยเฉพาะด้านจิตวิญญาณของมนุษย์ นี่คือ ผลกระทบจากอารยธรรมทุนนิยมยุคใหม่ และอีกมุมหนึ่ง มีกลุ่มที่ต่อต้านแนวคิดยุคใหม่นี้ที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มหลังยุคใหม่ และปฏิเสธทุนนิยมเป็นตัวตั้ง กลุ่มนี้รวมทั้งศาสนาด้วย ท่านจึงเสนอว่า ทางออกสำหรับศาสนาพุทธมีแนวคิดดังนี้ สร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน ส่งเสริมแนวคิดเชิงพุทธร่วมกัน พัฒนาศาสนาแบบบูรณนาการกับสังคม เน้นให้รื้อฟื้นหลักปฏิบัติดั้งเดิมไว้ และส่งเสริมให้เกิดการวิจัยมากขึ้น ซึ่งนี่คือ แนวทางที่น่าจะเป็นทางประสานต่อกลุ่มทั้งสองคือ กลุ่มยุคใหม่และกลุ่มหลังยุคใหม่ด้วย

             ท่าน เคนชิน ฟูกามิซุ (Ven. Kenshin Fukamizu: 2007) “Internet Use Among Religious Followers: Religious Postmodern in Japanese Buddhism.” ท่านได้กล่าวถึงสังคมญี่ปุ่นที่ได้รับอิทธิพลจากสังคมยุคไอที สื่ออินเตอร์เน็ตที่กระทบสังคมการสื่อสาร รวมทั้งศาสนาด้วย กิจกรรมในศาสนาได้รับผลได้ด้วย ดังนั้น องค์กรชาวพุทธกลุ่มหนึ่งในญี่ปุ่น จึงจัดกิจกรรมทางศาสนาขึ้นทางอินเตอร์เน็ตเพื่อสื่อสารกันเองและเชื่อมโยงทั่วเอเชียด้วย ปี 2551 มีเวบไซต์เกี่ยวกับกิจการทางพุทธศาสนาถึง 2,900 เวบไซต์ จุดประสงค์นี้เพื่อติดต่อสื่อสาร เชื่อมโยงในโลกยุคสมัยใหม่ให้เกิดการรับรู้ การเคลื่อนไหวของกิจการและองค์ความรู้ในโลกยุคใหม่ อีกทั้งยังเป็นสื่อกลางในการเล่า (Narrative) เรื่องประสบการณ์ในแง่บุคคล เพื่อสมาคมกัน เนื่องจากว่า สังคมยุคใหม่ของญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนแปลงจากอดีตมาก นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มา ทำให้ไม่สามรถติดต่อ ประสานกันในเชิงบุคคลได้ โดยเฉพาะชาวพุทธในชนบทที่เป็นชาวเกษตร ได้อพยพเข้าสู่เมืองจำนวนมาก ท่านชี้ว่า องค์กรนี้มีรูปแบบการเชื่องโยงกัน 2 อย่างคือ การเชื่อมโยงระหว่างสมาชิกและกลุ่มชาวพุทธ และการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม โดยเน้นหลักคำสอน กฎต่างๆ ให้เป็นระบบมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ โดยอาศัยอินเตอร์เน็ต (เวบไซต์) ติดต่อกัน

            เจมส์ เทย์เลอร์ (James Taylor, 2008: 1-2, 34) “Buddhism and Postmodern Imaginings in Thailand; The religiosity of Urban Space.” เขากล่าวว่า ถ้าต้องการเข้าใจในสถานการณ์หลังยุคใหม่ของสังคมไทย ต้องย้อนรำลึกถึงอดีตในแง่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมทางศาสนาที่มีส่วนสำคัญยิ่งในการค้ำจุนประเทศไทยไว้ แต่พอมาถึงยุคใหม่แนวคิดเก่าๆ กลับค่อยๆ หายไป จนทำให้เกิดช่องว่างระหว่างยุคขึ้นมา จึงจำเป็นที่จะต้องตีความสังคมศาสนาและวัฒนธรรมแบบสร้างสรรค์ใหม่ให้ดำเนินไปตามกรอบยุคใหม่ด้วยกัน มิฉะนั้นจะเกิดการโต้แย้ง หักล้างกัน เขายกตัวอย่างกรณี การเรียกร้องพุทธประจำชาติ ละครเกี่ยวการเมือง ศาสนาวัฒนธรรมและพระสุวรรณกัลยา เป็นประเด็นที่ขัดแย้งในหมู่นักวิชาการและนักสังคมสมัยใหม่ที่ใช้เป็นเครื่องมือสื่อเชื้อชาติและศาสนา ดังนั้น เขาจึงเสนอว่า ควรนำเอากรอบอดีตและปัจจุบันมาประสานกัน (Montage) เพื่อปรับตัวเอง แต่ดูเหมือนองค์กรพุทธไม่พยายามที่ปรับตัวเอง กระนั้นก็ตาม ภายในองค์กรพุทธเองที่ต้องการอยากเห็นศาสนาพัฒนาไปพร้อมกับโลกยุคใหม่ จึงเกิดกลุ่มกระแสพุทธแนวใหม่ขึ้น เช่น กลุ่มพุทธในโลกไซเบอร์ (The Digital Buddhism) ที่ดำเนินการเผยแผ่คำสอน การประสานกับโลกยุคใหม่ และกลุ่มพระธรรมกาย ที่ดำเนินการแบบเครือข่ายทั่วโลก นี่คือ มุมมองชาวตะวันตกที่มองสังคมไทยที่กำลังเผชิญกับโลกยุคหลังยุตใหม่ที่ท้าทายพุทธศาสนาอยู่ขณะนี้

            พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ (2543) “วิพากษ์แนวคิด: พระพุทธศาสนาสำหรับโลกหลังยุคใหม่” ท่านได้กล่าวถึงประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวอย่าง เพราะเป็นประเทศที่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันผู้คน จิตใจและศาสนาวัฒนธรรมกลับถดถอยค่อยๆ เสื่อมลงไป โดยเฉพาะชนบท ท่านได้ยกตัวอย่างกรณีพระเซ็นหนุ่มรูปหนึ่ง เมื่อปีพ.ศ. 2502 ได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปพุทธศาสนานิกายเซ็น ที่ยึดถือแบบประเพณีนิยมแบบเก่าและสอนกันผิดๆ ในหมู่อาจารย์เซ็น หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ท่านกล่าวว่า ต้องปฏิรูปเซ็นและทำลายวิธีแบบเดิมที่บรรดาอาจารย์สอนกันผิดๆ ต่อมาแนวคิดนี้ถูกสนับสนุนต่อ และมีการประกาศอย่างรุนแรงว่า แม้จะฆ่าพระ ทำลายวัด เพื่อให้เซ็นกลับมามีชีวิตใหม่ก็ยอม ในแนวคิดของพระเซ็นหนุ่มรูปนั้นมีข้อเสนออยู่ 3 อย่างคือ 1) ปัจจุบันสังคมญี่ปุ่นกำลังห่างศาสนาไปเรื่อยๆ 2) เกิดนิกายใหม่ขึ้นมาจำนวนมาก 3) วิถีเซ็นแม้จะทันสมัย แต่ก็เน้นแบบประเพณีดั้งเดิมในกำแพงวัดอยู่ ในขณะโลกหลังยุคใหม่พัฒนาไปไกลกว่า ท่านยกตัวอย่างกรณีญี่ปุ่นขึ้นมาเพื่อวิจารณ์แนวคิดการพัฒนาศาสนาหลังยุคใหม่ โดยวิพากษ์ไว้ หลายประเด็น เช่น เรียนรู้นิกายตนให้ลึกซึ้ง ร่วมวงสนทนาแบบเปิดใจในต่างนิกายและศาสนา เพื่อเป้าหมายที่มนุษยชาติ และเรียนรู้โลกยุคใหม่ให้ทัน ฯ กรณีเช่นนี้ เมื่อหันมามองในประเทศไทย ก็ไม่ต่างจากญี่ปุ่นนัก ในเรื่องศาสนากับการพัฒนาสังคมในหลังยุคใหม่ เราทราบดีอยู่แล้วว่า พุทธศาสนาในไทยเกิดกระแสอย่างไรหลายทศวรรษมานี้ ซึ่งอาจมาจากผลของการพัฒนาโลกในปัจจุบันหรือในศาสนากันแน่

            พระมหาสมบูรณ์  วุฑฺฒิกโร (2548) “วรรณกรรมพระพุทธศาสนาในสังคมยุคใหม่” ท่านได้ย้อนสำรวจวรรณกรรมพุทธศาสนาตั้งแต่สมัยร. 4 เพราะถือว่าเป็นต้นยุคใหม่ของไทย จากวรรณกรรมในยุคร. 4 พระราชโอรส คือ สมเด็จพระสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้รจนาพุทธประวัติขึ้นมาตามหลักเหตุผลและแนววิทยาศาสตร์ เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากแนวคิดตะวันตกและพระราชบิดาอยู่มาก ซึ่งต่อมาเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อยู่มากในแง่รูปแบบแนวคิดใหม่ ในเวลา 160 ปีเศษ จนมาถึงยุคกลาง คือ ยุคหลวงพ่อพุทธทาส ซึ่งเป็นพระนักวิพากษ์วิจารณ์สังคมศาสนาอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะคำสอนท่านได้เขียนวรรณกรรมเรื่อง ภาษาคน-ภาษาธรรม (ที่จริงท่านตั้งใจจะเขียนพจนานุกรม) ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่แตกต่างจากยุคเก่าๆ อย่างสิ้นเชิง เนื่องจากการตีความให้เกิดรูปธรรมชัดเจนระหว่างภาษาชาวบ้านและภาษาธรรมที่คนยุคใหม่เข้าใจ หรือเรื่องปฏิจจสมุปบาท จากเดิมตีความแบบไตรภพ หลวงพ่อพุทธทาสมองว่า เป็นเนื้องอกและผิดพลาดในหลักการ ท่านชี้ว่า การตีความเช่นนั้นยิ่งทำให้ห่างโลกนิยมมากขึ้น จึงตีความใหม่ว่า อยู่ในภพนี้เท่านั้น (Here and Now) ส่วนยุคใหม่ล่าสุดคือยุคพระพรหมคุณาภรณ์ ท่านตีความวรรณกรรมแบบใหม่ที่อิงในพุทธปริมณฑลตามพระธรรมวินัยแบบเก่า แต่มีฐานอิงเชิงวิชาการ มีระบบมากขึ้น  ทั้งหมดนี้ล้วนมาจากอิทธิพลของแนวคิดตะวันตกและการเปลี่ยนแปลงของโลก อย่างไรก็ตาม ท่านพระมหาสมบูรณ์มองว่า อิทธิพลของหลังยุคใหม่ มิได้มีผลต่อพุทธศาสนา เพราะพระพุทธศาสนามีฐานหรือหลักการที่อิงอยู่กับโลกอยู่แล้ว ท่านห่วงอย่างเดียวคือ พุทธศาสนาจะรักษาจุดยืนของตนแบบดั้งเดิมไปกับโลกยุคใหม่ได้อย่างไร

            ศศิวรรณ กำลังสินเสริม (2551: บทคัดย่อดุษฎีบัณฑิต) “พุทธกระบวนทัศน์ในการดำเนินชีวิตยุคบริโภคนิยม”  การวิจัยพบว่า ผลสำเร็จของกระบวนการบริโภคนิยมอยู่ที่ความสามารถในการกุมความคิดของคนในสังคมให้มีกระบวนทัศน์ในการดำเนินชีวิตว่า ต้องเป็นคนทันสมัย ร่ำรวยสิ่งอำนวยความสะดวก กลายเป็นค่านิยมที่ไม่ได้ส่งผ่านเฉพาะสื่อสารสนเทศประเภทต่างๆ เท่านั้น หากยังได้รับการปลูกฝังโดยสถาบันต่างๆ ในสังคม จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย ทำให้พฤติกรรมของความคิด คำพูด การกระทำ วิถีชีวิตและกลไกต่างๆ ในสังคมถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมบริโภคนิยม ทำให้คนไทยเคลื่อนออกจากศีลธรรม ถือเงินเป็นใหญ่ คิดหาหนทางลัดเพื่อบรรลุประโยชน์ตน โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบใดๆ
            ดังนั้น เพื่อให้สังคมไทยมีวิถีชีวิตที่อุดมด้วยปัญญา พึ่งพาตนเองได้อย่างมีความสุข  มีความพอดี มีภูมิคุ้มกันเท่าทันการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกรอบตัวและภายในจิตใจอย่างชัดเจน โดยไม่ยึดเอาบริโภคนิยมเป็นจุดหมาย แต่อาศัยเป็นเครื่องมือเพื่อยังชีวิตตนให้อยู่ได้ทั้งกายและจิตท่ามกลางกระแสบริโภคนิยม คนไทยต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดหรือกระบวนทัศน์มาสู่พุทธกระบวนทัศน์ด้วยการนำหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง จนสามารถฝังรากลึกทางจิตใจคนไทย นี่คือ ผลที่กำลังเกิดขึ้นกับสังคมไทย ที่เปลี่ยนไป ซึ่งถือว่าเป็นผลมาจากปฏิกิริยาโลกยุคใหม่ที่คนไทยแสดงตัวตนในเชิงปัจเจกบุคคล ที่เน้นเสรีภาพในการบริโภค ซึ่งแม้จะมีพุทธศาสนาเป็นฐานในการมองโลกในความเป็นจริงก็ตาม แต่พุทธศาสนาขณะนี้ มีพลวัตรต่อการนำพาชีวิต จิตวิญญาณสังคมไทยแค่ไหน




โดย ส.รตนภักดิ์ : ๒๕๕๖


[2] จากปาฐกถาในการสัมมนาประจำปีของเครือข่ายชาวพุทธเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคมไทยเรื่อง"อนาคตพุทธศาสนาไทย: เราจะฝ่าวิกฤตได้อย่างไร" เมื่อวันเสาร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2546 ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดโดย เครือข่ายชาวพุทธเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคมไทย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ และ มูลนิธิโกมลคีมทอง
[3]   ปัจจุบัน พระศรีคัมภีร์วรญาณ, (2543), “วิพากษ์แนวคิด: พระพุทธศาสนาสำหรับโลกหลังยุคใหม่”, (24-4-56), จากhttp://www.mcu.ac.th/site/articlecontent_desc.php?article_id=365&articlegroup_id=97
[4]  ปัจจุบัน ดร. พระมหาสมบูรณ์ วุฑฒิกโร, (2548), วรรณกรรมพระพุทธศาสนาในสังคมยุคใหม่, (29-4-56), จากhttp://www.mcu.ac.th/site/articlecontent_desc.php?article_id=446&articlegroup_id=102 

วันวิสาขบูชาไทย

                                                                        ๒๕๕๖ : วันวิสาขบูชา
                 ๑. UN รับรองวันวิสาขบูชาเป็นวันสันติภาพโลก
                 ๒. เหตุที่เกิดวันนี้
                  ๓. อะไรคือ ความจริงของชีวิต
                พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เน้นการใช้สติและปัญญาในการบริหารชีวิตให้เกิดความสมดุลและสงบสุขในช่วงการดำรงชีวิตและมีเป้าหมายที่อุดมคติคือ การหลุดพ้นจากวัฏจักร แต่สถานการณ์ในปัจจุบัน ชาวโลกกำลังเผชิญกับภัยคุกคามต่างๆ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสงคราม จึงทำให้ไม่มีเวลาที่จะทุ่มเทชีวิตตามอุดมคติของศาสนา ในขณะเดียวกันแต่ละคนก็มีภาระที่แบกอยู่จำนวนมาก ซึ่งยิ่งทำให้หมดโอกาสในสัมผัสปรากฏการณ์ทางจิตวิญญาณน้อยเข้าไปทุกขณะ
                อย่างไรก็ตาม เราก็ยังได้ยินและได้สัมผัสอยู่ห่างๆ ว่าหลักคำสอนพระพุทธศาสนามีคุณากรต่อการดำรงชีวิตของชาวโลก ให้อยู่อย่างสันติสุข ด้วยเหตุนี้ เราจึงให้ความสนใจในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา นั่นคือ วันวิสาขบูชา วันนี้ยังเป็นสันติภาพโลกด้วย โดย UN เป็นผู้รับรอง แล้ว UN หรือสหประชาชาติเป็นใคร ทำไมจึงมารับรองว่าเป็นวันสันติภาพ เขาเข้าใจหัวใจพระพุทธศาสนามากน้อยอย่างไร สิบกว่าปีมาแล้วที่เราได้ยินคำว่า UN รับรองวันวิสาขบูชา แต่ไม่ทราบว่ามีวามเป็นมาอย่างไร
                ๑. คำว่า UN มีคำเรียกเต็มว่า UNO (United Nations Organization) แปลว่า องค์การสหประชาชาติ  ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๕ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยมีสมาชิก ๑๙๒ ประเทศ และมีสมาชิกถาวรหลัก ๕ ประเทศคือ จีน รัสเซีย ฝรั่งเศส อังกฤษและอเมริกา โดยมีจุดหมายคือ สร้างสันติภาพระหว่างประเทศ ธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของมนุษย์ ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน สร้างเสริมเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมร่วมกันทั่วโลก สร้างกฎหมายระหว่างประเทศและประนีประนอมในระหว่างสงครามฯ ปัจจุบันมี นายบัน คี มูน เป็นเลขาธิการฯ
                แล้วสหประชาชาติเกี่ยวข้องกับวันวิสาขบูชาอย่างไร ย้อนไปเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๐๔ นายอู ถั๋น ชาวพม่า เคยเป็นเลขาธิการสหประชาชาติคนที่ ๓ ได้เสนอให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสันติภาพโลก แต่ก็ไม่เป็นผล จากนั้นวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ ศรีลังกาและสมาชิกที่นับถือพระพุทธศาสนาในเอเชีย ก็ได้เสนอวันวิสาขบูชาต่อสหประชาชาติอีกครั้ง จึงบรรลุผลทำให้สหประชาชาติประกาศวันนี้เป็นวันสันติภาพโลก แต่ในขณะนั้นพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล โดยมีดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศซึ่งเป็นมุสลิม กลับไม่ประกาศให้ชาวพุทธรับรู้ ปีต่อมา (๒๕๔๓) จึงประกาศให้ชาวพุทธรับรู้ ตั้งแต่นั้นมา ชาวพุทธทั่วเมืองไทยต่างก็ชื่นชม ยินดีและกล่าวกันอย่างภาคภูมิใจที่องค์กรระดับโลกยอมรับ    แต่ก็หาใครทราบความจริงส่วนลึกไม่ได้ว่าเพราะอะไรสหประชาชาติเต็มใจรับรองและมีเหตุผลแท้จริงแค่ไหน
                เรื่องนี้ พอจะสันนิษฐานได้ว่า หลักการของสหประชาชาตินั้น มีเป้าหมายที่สันติภาพ (Peacefulness) ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของพระพุทธศาสนาตรงที่ ยืนยันในสันติภาพภายใน (Awakened mind) ด้วยเหตุนี้เอง สหประชาชาติจึงหันมาให้การสนับสนุนหลักการทางศาสนาแทนที่จะใช้กฎหมายระหว่างประเทศหรือกฎบัตรต่างๆ ในการกดดันประเทศสมาชิก ครั้นจะยอมรับว่า หลักการของศาสนาพุทธมีเหตุมีผลดี ก็ยังตะขิตตะขวงใจที่บรรดาสมาชิกส่วนใหญ่เป็นศาสนาคริสต์และมุสลิม จึงเป็นแค่ประกาศให้เป็นวันสำคัญในวันวิสาขบูชาแทน เพื่อเน้นให้ชาวพุทธเห็นความสำคัญยิ่งขึ้น ที่จริงวันสันติภาพโลกมีวันที่กำหนดขึ้นมาอยู่แล้วนั่นคือ วันที่ ๒ กันยายน ๒๕๒๔ และกำหนดทุกปี ฉะนั้น สหประชาชาติมิได้ให้ความสำคัญอย่างแท้จริงว่า เป็นวันสันติภาพโลก ครั้งหนึ่งฝ่ายเจ้าหน้าที่เป็นพระสงฆ์จากมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้เดินทางประชุมที่สำนักใหญ่สหประชาชาติ แต่กลับไม่ได้รับรองห้องประชุมใหญ่ เจ้าหน้าที่จึงจัดห้องประชุมเล็กๆ รับรองให้ นี่ก็แสดงว่า เขาไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างแท้จริง อย่างที่ชาวพุทธต่างก็ภาคภูมิใจกัน จนขาดการวิเคราะห์ข้อเท็จจริง
                อันที่จริง แม้สหประชาชาติจะประกาศหรือไม่ประกาศ หลักการของพระพุทธศาสนาก็ยังคงดำเนินไปตามปกติอยู่แล้ว แต่เพราะคนไทยกำลังเห่อฝรั่งและมีค่านิยมสากล จึงเห็นว่าฝรั่งรับรองแล้ว จึงเหมือนได้มาตรฐานสากลไปด้วย ซึ่งมองในอีกมุมหนึ่งเราอาจสูญเสียความเป็นเอกลักษณ์แบบตะวันออกก็ได้ หรือสะท้อนให้เห็นว่า เรากำลังถูกครอบงำจากชาวตะวันตกหรือไม่ ปัจจุบันคติแนวคิดทางตะวันออกกำลังสร้างความสนใจให้แก่ชาวตะวันตกมากขึ้น ในขณะคนเอเชียกลับไปสนใจตะวันตกแทน ซึ่งไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ต้องให้ฝรั่งรับรองจึงจะถือว่า เป็นสากลหรือได้มาตรฐาน
                ด้วยเหตุดังกล่าวนั้น เราควรมาทำความเข้าใจและตั้งประเด็นที่ว่า อะไรทำให้เกิดวันวิสาขบูชาขึ้น แรกเริ่มจริงๆ เกิดขึ้นในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง จึงได้รื้อฟื้นวันสำคัญของพุทธเจ้าขึ้นมา แล้วส่งสมณทูตออกไปเผยแผ่ทั่วเอเชียถึง ๙ สายด้วยกัน หนึ่งในนั้น ก็ได้มาถึงศรีลังกา และเมืองชวาหรือแถบสุวรรณภูมิ อาณาจักรสุโขทัยสมัยนั้น จึงได้รับอิทธิพลไปด้วย จึงทำให้ชาวไทยได้รับมาปฏิบัติกันตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา จนมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ลพบุรีและกรุงธนบุรี แต่ว่าไม่ได้รับความใส่ใจเต็มที่ เนื่องจากภัยสงครามของประเทศ จนมาถึงต้นสมัยรัตนโกสินทร์จึงได้รื้อฟื้นวันนี้อีกครั้ง โดยรัชกาลที่ ๒ ถึงที่ ๔ ได้รื้อฟื้นประเพณีคติวันวิสาขบูชาขึ้นมาอย่างชัดเจนจนถึงปัจจุบันและองค์การสหประชา ชาติรับรองในที่สุด
                ๒. ทีนี้มองย้อนให้ลึกลงไปอีกว่า วันนี้เกิดขึ้นอย่างไร จุดกำเนิดคือ เจ้าชายสิทธัตถะนั่นเอง หลังจากประสูติและเติบโตในราชขัติยตระกูลจนแต่งงานและมีพระราชโอรส ที่เสวยสุขในแดนโลกียสุขมาตลอด จนพระชนมายุเข้า ๒๙ ชันษา วันหนึ่งเสด็จออกจากวัง เพื่อศึกษาวิถีชีวิตชาวบ้าน ระหว่างทางพระองค์ได้พบเห็นปรากฏการณ์ต่างๆ คือ คนเจ็บ คนแก่ คนตายและสมณะ เรียกว่า “เทวทูต ๔” ( Four stages of life) ซึ่งทำให้พระองค์เกิดความสลดพระทัยอย่างยิ่ง เมื่อกลับมาวัง ก็ได้ทราบว่า โอรสประสูติอีก ยิ่งทำให้เกิดความสังเวชพระทัยอีก พอตกกลางคืนได้พบเห็นข้าทาสบริวารนอนกันอย่างไม่สำรวม ก็ยิ่งเห็นความจริงของโลกมนุษย์ จึงตรัสสินพระทัยออกบวชในคืนวันเพ็ญเดือน ๖ นั่นเอง
                เมื่อบวช (เอง) แล้วพระองค์ก็เดินทางไปศึกษาวิธีปฏิบัติกับพราหมาจารย์ที่โด่งดังในสมัยนั้น แต่ก็ไม่พบทางบรรลุ จึงปลีกตัวออกมาทดลองฝึกด้วยตัวเอง ด้วยหลักการของพราหมณ์คือ การพำเพ็ญตบะหรือ “ทรมานตน” (Mortification) แบบสุดโต่ง แต่ก็ไม่เห็นผล จึงทบทวนวิธีและหันมาปฏิบัติแบบปกติ จนที่สุดก็บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าเรียกว่า “ตรัสรู้” (Enlightenment) ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนวิสาขพอดี จากนั้นก็เทศนาสั่งสอนชาวโลกให้บรรลุธรรมและเข้าใจสัจธรรมที่แท้จริง จนหลุดพ้นวัฏสงสาร พระองค์ใช้เวลาในการเทศนาชาวโลกเป็นเวลา ๔๕ พรรษา จึงเสด็จพระปรินิพพาน
                ๓. เมื่อทบทวนพุทธกิจภายใน ๔๕ พรรษา จึงพบหลักสัจธรรมที่พระองค์มุ่งสอนให้เวไนยสัตว์เข้าถึงคือ “อริยสัจ” (Noble Truth)  อะไรคือ อริยสัจ ๔ คำว่า อริยสัจ มาจากสองคำ คือ อริยกับสัจ อริยะ แปลว่า อยู่เหนือ สูง ประเสริฐ ยิ่ง สัจ แปลว่า ความจริง อริยสัจ แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ อะไรคือ ความจริง ในที่นี่พระองค์หมายถึง ชีวิต (Life) เพราะว่า ชีวิตมีสภาวะที่ปรากฏไปตามสภาพของมันคือ มีกฎ กลไก หน้าที่ และผลของธรรมชาติ เมื่อพระองค์เข้าพระทัยถึงขั้นนี้เรียกว่าตรัสรู้ความจริงของชีวิต ในแง่ภาษา คำว่า ความจริง จะต้องอาศัยความไม่จริงเทียบเคียงจึงจะรู้ชัดเจนได้ เช่น ถ้าโลกนี้มีสีเขียวทั้งหมด ก็หมายความว่า ข้อความนี้ไม่จริงและขัดแย้งตัวเอง เพราะว่าโลกนี้ไม่มีสีอื่นที่จะเทียบเคียงได้ว่า สีเขียวตรงข้ามกับสีอื่นอะไร ในที่นี่คือ สีแดง ถ้าโลกมีสีเดียว เราก็ไม่อาจชี้ชัดได้ว่า โลกนี้เป็นสีเขียว เพราะขาดสีอื่นหรือสีตรงข้ามเปรียบเทียบ ดังนั้น ข้อความนี้จึงไม่จริงที่ว่า โลกนี้มีสีเขียว เพราะเราไม่รู้สีอื่นเลย จะบอกว่ามีสีเดียวก็ไม่ได้ หรือจะบอกว่า ไม่มีสีเลยก็ไม่ได้  ด้วยเหตุนี้ พระองค์ตรัสรู้และสอนว่า ความจริงหรือชีวิตคือ ความจริงอันประเสริฐนั่นเอง เราจะต้องหาหลักฐานที่ตรงกันข้ามมาเทียบเคียง เพื่อสะท้อนอีกฝั่งตรงข้ามให้เห็นชัดขึ้น
               ประเด็นนี้ เราต้องมองย้อนกลับไปศึกษาสังคมพราหมณ์สมัยนั้นสอนเรื่องนี้อย่างไร ในคัมภีร์พระเวท อุปนิษัทได้กล่าวถึงชีวิตแบบสัมพันธ์กับพระพรหมหรือพรหมันไว้ว่า ชีวิตประกอบด้วยอัตตา (เล็ก) ที่มาจากปรมาตมันหรือพรหมัน ซึ่งเป็นสัจภาวะที่ถาวร แต่เมื่ออัตตาเล็กมากำเนิดในร่างของสัตว์โลกเรียกว่า ชีวิต อัตตานั้นก็ถูกครอบงำด้วยอวิชชา จนทำให้เส้นทางชีวิตผิดเพี้ยนไปทางเส้นทางไปสู่โมกษะ จึงให้วิถีชีวิตไม่พบทางไปสู่อมตถาวร คือ พรหมัน จึงทำให้ชีวิตเกิดเป็นวัฏสงสาร คือ เกิด-ตาย ไม่มีสิ้นสุด ซึ่งเส้นทางดังกล่าวนี้เป็นเสมือนมายาที่วนเวียนในโลกจอมปลอมที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่เป็นอมตะ แต่กระนั้นพวกพราหมณ์ก็เที่ยวสั่งสอนกันไปตามคติความเชื่อของแต่ละนิกาย บ้างก็อวดอ้างว่าตนเองของจริง (บรรลุโมกษะ) บ้างก็โจมตีกันเอง บ้างก็ว่านิกายตนแน่นอน เที่ยงตรงตามหลักพระเวท บ้างก็แย้งพระเวทก็มี จนทำให้สับสนและจับเอาสาระไม่ได้ และหาใครบรรลุโมกษธรรมคือ ถึงพรหมันแล้วเรียกตนเองว่า พระอริยบุคคลไม่
                ในบรรยากาศเช่นนี้เอง พระพุทธเจ้าได้ค้นพบความจริงจากชีวิต ที่ปรากฏในสภาวะที่ทนไม่ได้เรียกว่า ทุกข์ ที่มีทุกข์เพราะมีสาเหตุ เรียกว่า สมุทัย พระองค์ก็สรุปวิธีปฏิบัติให้คือ มรรคมีองค์ ๘ เพื่อนำไปสู่สายตรงคือ นิพพาน เรียกว่า นิโรธ นั่นเอง เมื่อกล่าวรวบยอดในปรากฏทั้งชีวิตที่เรียกว่า อริยสัจ นี้ มีลักษณะ ๓ ประการคือ อนิจจัง แปลว่า ความไม่เที่ยงแท้หรือขัดแย้งกับหลักอัตตาที่ว่า อัตตาเป็นสภาวะที่อมตถาวร เที่ยงแท้แน่นอน ไม่แปรผัน   ทุกขัง หมายถึง สภาวะที่ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเหมือนสายน้ำไหลหรือเปลวไฟ ซึ่งขัดแย้งกับอาตมันที่ว่า ไม่มีการแปรเปลี่ยน  และอนัตตา หมายถึง การขาดอัตตาที่เป็นตัวแก่นที่ไม่มีการสืบเนื่องอีกต่อไป ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป เพราะพราหมณ์เชื่อว่า ชีวิตที่ถูกอวิชชาครอบงำ จะทำให้เกิดไม่รู้จบ ซึ่งจุดนี้พระองค์ก็มิได้ปฏิเสธว่า ชีวิตไม่มีอัตตา แต่ที่แย้งคือ อัตตานี้ไม่ถาวรหรือมีทางหลุดโคจรแห่งวัฏสงสารอยู่ ไม่เหมือนพราหมณ์ที่สอนแบบ ข้ามภพ ข้ามชาติ พระองค์ตรัสว่า เราสามารถตัดอัตตานี้ให้สิ้นไปในภพมนุษย์นี่เองเหมือน พระองค์แสดงเป็นแบบอย่างให้ดู
                แนวคิดดังกล่าวเป็นการยืนยัน ความจริงกับมายา คำว่า มายา (Illusion) พราหมณ์เชื่อว่า ชีวิตที่เกิดไม่รู้จักสิ้นหรือเวียนว่ายเกิดนั่นคือ มายา โลกและสรรพสิ่งคือ มายาด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ของจริงที่แท้จริง นอกจากอัตตาหรือปรมาตมันเท่านั้น ส่วนฝั่งตรงข้ามหรือฝั่งข้อเทียบเคียงกับแนวคิดของพระพุทธเจ้า ที่ว่า ชีวิต คือ ความจริง ไม่ใช่มายา ดังนั้น เราจึงสามารถเปรียบเอาสองสิ่งมาวัดค่ากันว่า อะไรที่เรียกว่า มายา และอะไรที่เรียกว่า ความจริง นี่คือ  ข้อโต้แย้งกันในสมัยนั้น แต่พอมาถึงยุคปัจจุบัน เราจะบอกว่า ชีวิตคือ ความจริง เราต้องกล่าวถึงสองอย่าง (ทวิภาวะ) เทียบเคียงเสมอ นั่นคือ เกริ่นที่มาด้านความคิดเดิมและความคิดแย้งนั่นเอง หากกล่าวด้านเดียวเราก็ไม่อาจเห็นความต่างระหว่าง มายากับความจริงได้ เหมือนบอกว่า โลกนี้มีสีเขียวสีเดียว ก็ไม่จริง เพราะขาดสีเปรียบเทียบนั่นเอง
                เพราะฉะนั้น จึงเกิดหลักคำสอนเรื่องอริยสัจสี่ขึ้นมา เพื่อชี้นำให้ชาวโลกได้เข้าถึงความจริงภายในชีวิต ในการที่สร้างสันติสุขภายในใจตน ทุกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อมีหลักมูลฐานในใจคือ อริยสัจ ก็จะทำให้มองเห็นปรากฏการณ์นอกตัว และเทียบเคียงความจริงภายในได้ เมื่อเข้าใจตน (ภายใน) ก็จะเชื่อมโยงไปถึงข้างนอกได้ และก็จะเกิดภาวะรู้หรือสันติภายในนั่นเอง  
โดย ส.รตนภักดิ์ :๒๕๕๖