วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

วันวิสาขบูชาไทย

                                                                        ๒๕๕๖ : วันวิสาขบูชา
                 ๑. UN รับรองวันวิสาขบูชาเป็นวันสันติภาพโลก
                 ๒. เหตุที่เกิดวันนี้
                  ๓. อะไรคือ ความจริงของชีวิต
                พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เน้นการใช้สติและปัญญาในการบริหารชีวิตให้เกิดความสมดุลและสงบสุขในช่วงการดำรงชีวิตและมีเป้าหมายที่อุดมคติคือ การหลุดพ้นจากวัฏจักร แต่สถานการณ์ในปัจจุบัน ชาวโลกกำลังเผชิญกับภัยคุกคามต่างๆ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสงคราม จึงทำให้ไม่มีเวลาที่จะทุ่มเทชีวิตตามอุดมคติของศาสนา ในขณะเดียวกันแต่ละคนก็มีภาระที่แบกอยู่จำนวนมาก ซึ่งยิ่งทำให้หมดโอกาสในสัมผัสปรากฏการณ์ทางจิตวิญญาณน้อยเข้าไปทุกขณะ
                อย่างไรก็ตาม เราก็ยังได้ยินและได้สัมผัสอยู่ห่างๆ ว่าหลักคำสอนพระพุทธศาสนามีคุณากรต่อการดำรงชีวิตของชาวโลก ให้อยู่อย่างสันติสุข ด้วยเหตุนี้ เราจึงให้ความสนใจในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา นั่นคือ วันวิสาขบูชา วันนี้ยังเป็นสันติภาพโลกด้วย โดย UN เป็นผู้รับรอง แล้ว UN หรือสหประชาชาติเป็นใคร ทำไมจึงมารับรองว่าเป็นวันสันติภาพ เขาเข้าใจหัวใจพระพุทธศาสนามากน้อยอย่างไร สิบกว่าปีมาแล้วที่เราได้ยินคำว่า UN รับรองวันวิสาขบูชา แต่ไม่ทราบว่ามีวามเป็นมาอย่างไร
                ๑. คำว่า UN มีคำเรียกเต็มว่า UNO (United Nations Organization) แปลว่า องค์การสหประชาชาติ  ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๕ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยมีสมาชิก ๑๙๒ ประเทศ และมีสมาชิกถาวรหลัก ๕ ประเทศคือ จีน รัสเซีย ฝรั่งเศส อังกฤษและอเมริกา โดยมีจุดหมายคือ สร้างสันติภาพระหว่างประเทศ ธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของมนุษย์ ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน สร้างเสริมเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมร่วมกันทั่วโลก สร้างกฎหมายระหว่างประเทศและประนีประนอมในระหว่างสงครามฯ ปัจจุบันมี นายบัน คี มูน เป็นเลขาธิการฯ
                แล้วสหประชาชาติเกี่ยวข้องกับวันวิสาขบูชาอย่างไร ย้อนไปเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๐๔ นายอู ถั๋น ชาวพม่า เคยเป็นเลขาธิการสหประชาชาติคนที่ ๓ ได้เสนอให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสันติภาพโลก แต่ก็ไม่เป็นผล จากนั้นวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ ศรีลังกาและสมาชิกที่นับถือพระพุทธศาสนาในเอเชีย ก็ได้เสนอวันวิสาขบูชาต่อสหประชาชาติอีกครั้ง จึงบรรลุผลทำให้สหประชาชาติประกาศวันนี้เป็นวันสันติภาพโลก แต่ในขณะนั้นพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล โดยมีดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศซึ่งเป็นมุสลิม กลับไม่ประกาศให้ชาวพุทธรับรู้ ปีต่อมา (๒๕๔๓) จึงประกาศให้ชาวพุทธรับรู้ ตั้งแต่นั้นมา ชาวพุทธทั่วเมืองไทยต่างก็ชื่นชม ยินดีและกล่าวกันอย่างภาคภูมิใจที่องค์กรระดับโลกยอมรับ    แต่ก็หาใครทราบความจริงส่วนลึกไม่ได้ว่าเพราะอะไรสหประชาชาติเต็มใจรับรองและมีเหตุผลแท้จริงแค่ไหน
                เรื่องนี้ พอจะสันนิษฐานได้ว่า หลักการของสหประชาชาตินั้น มีเป้าหมายที่สันติภาพ (Peacefulness) ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของพระพุทธศาสนาตรงที่ ยืนยันในสันติภาพภายใน (Awakened mind) ด้วยเหตุนี้เอง สหประชาชาติจึงหันมาให้การสนับสนุนหลักการทางศาสนาแทนที่จะใช้กฎหมายระหว่างประเทศหรือกฎบัตรต่างๆ ในการกดดันประเทศสมาชิก ครั้นจะยอมรับว่า หลักการของศาสนาพุทธมีเหตุมีผลดี ก็ยังตะขิตตะขวงใจที่บรรดาสมาชิกส่วนใหญ่เป็นศาสนาคริสต์และมุสลิม จึงเป็นแค่ประกาศให้เป็นวันสำคัญในวันวิสาขบูชาแทน เพื่อเน้นให้ชาวพุทธเห็นความสำคัญยิ่งขึ้น ที่จริงวันสันติภาพโลกมีวันที่กำหนดขึ้นมาอยู่แล้วนั่นคือ วันที่ ๒ กันยายน ๒๕๒๔ และกำหนดทุกปี ฉะนั้น สหประชาชาติมิได้ให้ความสำคัญอย่างแท้จริงว่า เป็นวันสันติภาพโลก ครั้งหนึ่งฝ่ายเจ้าหน้าที่เป็นพระสงฆ์จากมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้เดินทางประชุมที่สำนักใหญ่สหประชาชาติ แต่กลับไม่ได้รับรองห้องประชุมใหญ่ เจ้าหน้าที่จึงจัดห้องประชุมเล็กๆ รับรองให้ นี่ก็แสดงว่า เขาไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างแท้จริง อย่างที่ชาวพุทธต่างก็ภาคภูมิใจกัน จนขาดการวิเคราะห์ข้อเท็จจริง
                อันที่จริง แม้สหประชาชาติจะประกาศหรือไม่ประกาศ หลักการของพระพุทธศาสนาก็ยังคงดำเนินไปตามปกติอยู่แล้ว แต่เพราะคนไทยกำลังเห่อฝรั่งและมีค่านิยมสากล จึงเห็นว่าฝรั่งรับรองแล้ว จึงเหมือนได้มาตรฐานสากลไปด้วย ซึ่งมองในอีกมุมหนึ่งเราอาจสูญเสียความเป็นเอกลักษณ์แบบตะวันออกก็ได้ หรือสะท้อนให้เห็นว่า เรากำลังถูกครอบงำจากชาวตะวันตกหรือไม่ ปัจจุบันคติแนวคิดทางตะวันออกกำลังสร้างความสนใจให้แก่ชาวตะวันตกมากขึ้น ในขณะคนเอเชียกลับไปสนใจตะวันตกแทน ซึ่งไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ต้องให้ฝรั่งรับรองจึงจะถือว่า เป็นสากลหรือได้มาตรฐาน
                ด้วยเหตุดังกล่าวนั้น เราควรมาทำความเข้าใจและตั้งประเด็นที่ว่า อะไรทำให้เกิดวันวิสาขบูชาขึ้น แรกเริ่มจริงๆ เกิดขึ้นในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง จึงได้รื้อฟื้นวันสำคัญของพุทธเจ้าขึ้นมา แล้วส่งสมณทูตออกไปเผยแผ่ทั่วเอเชียถึง ๙ สายด้วยกัน หนึ่งในนั้น ก็ได้มาถึงศรีลังกา และเมืองชวาหรือแถบสุวรรณภูมิ อาณาจักรสุโขทัยสมัยนั้น จึงได้รับอิทธิพลไปด้วย จึงทำให้ชาวไทยได้รับมาปฏิบัติกันตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา จนมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ลพบุรีและกรุงธนบุรี แต่ว่าไม่ได้รับความใส่ใจเต็มที่ เนื่องจากภัยสงครามของประเทศ จนมาถึงต้นสมัยรัตนโกสินทร์จึงได้รื้อฟื้นวันนี้อีกครั้ง โดยรัชกาลที่ ๒ ถึงที่ ๔ ได้รื้อฟื้นประเพณีคติวันวิสาขบูชาขึ้นมาอย่างชัดเจนจนถึงปัจจุบันและองค์การสหประชา ชาติรับรองในที่สุด
                ๒. ทีนี้มองย้อนให้ลึกลงไปอีกว่า วันนี้เกิดขึ้นอย่างไร จุดกำเนิดคือ เจ้าชายสิทธัตถะนั่นเอง หลังจากประสูติและเติบโตในราชขัติยตระกูลจนแต่งงานและมีพระราชโอรส ที่เสวยสุขในแดนโลกียสุขมาตลอด จนพระชนมายุเข้า ๒๙ ชันษา วันหนึ่งเสด็จออกจากวัง เพื่อศึกษาวิถีชีวิตชาวบ้าน ระหว่างทางพระองค์ได้พบเห็นปรากฏการณ์ต่างๆ คือ คนเจ็บ คนแก่ คนตายและสมณะ เรียกว่า “เทวทูต ๔” ( Four stages of life) ซึ่งทำให้พระองค์เกิดความสลดพระทัยอย่างยิ่ง เมื่อกลับมาวัง ก็ได้ทราบว่า โอรสประสูติอีก ยิ่งทำให้เกิดความสังเวชพระทัยอีก พอตกกลางคืนได้พบเห็นข้าทาสบริวารนอนกันอย่างไม่สำรวม ก็ยิ่งเห็นความจริงของโลกมนุษย์ จึงตรัสสินพระทัยออกบวชในคืนวันเพ็ญเดือน ๖ นั่นเอง
                เมื่อบวช (เอง) แล้วพระองค์ก็เดินทางไปศึกษาวิธีปฏิบัติกับพราหมาจารย์ที่โด่งดังในสมัยนั้น แต่ก็ไม่พบทางบรรลุ จึงปลีกตัวออกมาทดลองฝึกด้วยตัวเอง ด้วยหลักการของพราหมณ์คือ การพำเพ็ญตบะหรือ “ทรมานตน” (Mortification) แบบสุดโต่ง แต่ก็ไม่เห็นผล จึงทบทวนวิธีและหันมาปฏิบัติแบบปกติ จนที่สุดก็บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าเรียกว่า “ตรัสรู้” (Enlightenment) ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนวิสาขพอดี จากนั้นก็เทศนาสั่งสอนชาวโลกให้บรรลุธรรมและเข้าใจสัจธรรมที่แท้จริง จนหลุดพ้นวัฏสงสาร พระองค์ใช้เวลาในการเทศนาชาวโลกเป็นเวลา ๔๕ พรรษา จึงเสด็จพระปรินิพพาน
                ๓. เมื่อทบทวนพุทธกิจภายใน ๔๕ พรรษา จึงพบหลักสัจธรรมที่พระองค์มุ่งสอนให้เวไนยสัตว์เข้าถึงคือ “อริยสัจ” (Noble Truth)  อะไรคือ อริยสัจ ๔ คำว่า อริยสัจ มาจากสองคำ คือ อริยกับสัจ อริยะ แปลว่า อยู่เหนือ สูง ประเสริฐ ยิ่ง สัจ แปลว่า ความจริง อริยสัจ แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ อะไรคือ ความจริง ในที่นี่พระองค์หมายถึง ชีวิต (Life) เพราะว่า ชีวิตมีสภาวะที่ปรากฏไปตามสภาพของมันคือ มีกฎ กลไก หน้าที่ และผลของธรรมชาติ เมื่อพระองค์เข้าพระทัยถึงขั้นนี้เรียกว่าตรัสรู้ความจริงของชีวิต ในแง่ภาษา คำว่า ความจริง จะต้องอาศัยความไม่จริงเทียบเคียงจึงจะรู้ชัดเจนได้ เช่น ถ้าโลกนี้มีสีเขียวทั้งหมด ก็หมายความว่า ข้อความนี้ไม่จริงและขัดแย้งตัวเอง เพราะว่าโลกนี้ไม่มีสีอื่นที่จะเทียบเคียงได้ว่า สีเขียวตรงข้ามกับสีอื่นอะไร ในที่นี่คือ สีแดง ถ้าโลกมีสีเดียว เราก็ไม่อาจชี้ชัดได้ว่า โลกนี้เป็นสีเขียว เพราะขาดสีอื่นหรือสีตรงข้ามเปรียบเทียบ ดังนั้น ข้อความนี้จึงไม่จริงที่ว่า โลกนี้มีสีเขียว เพราะเราไม่รู้สีอื่นเลย จะบอกว่ามีสีเดียวก็ไม่ได้ หรือจะบอกว่า ไม่มีสีเลยก็ไม่ได้  ด้วยเหตุนี้ พระองค์ตรัสรู้และสอนว่า ความจริงหรือชีวิตคือ ความจริงอันประเสริฐนั่นเอง เราจะต้องหาหลักฐานที่ตรงกันข้ามมาเทียบเคียง เพื่อสะท้อนอีกฝั่งตรงข้ามให้เห็นชัดขึ้น
               ประเด็นนี้ เราต้องมองย้อนกลับไปศึกษาสังคมพราหมณ์สมัยนั้นสอนเรื่องนี้อย่างไร ในคัมภีร์พระเวท อุปนิษัทได้กล่าวถึงชีวิตแบบสัมพันธ์กับพระพรหมหรือพรหมันไว้ว่า ชีวิตประกอบด้วยอัตตา (เล็ก) ที่มาจากปรมาตมันหรือพรหมัน ซึ่งเป็นสัจภาวะที่ถาวร แต่เมื่ออัตตาเล็กมากำเนิดในร่างของสัตว์โลกเรียกว่า ชีวิต อัตตานั้นก็ถูกครอบงำด้วยอวิชชา จนทำให้เส้นทางชีวิตผิดเพี้ยนไปทางเส้นทางไปสู่โมกษะ จึงให้วิถีชีวิตไม่พบทางไปสู่อมตถาวร คือ พรหมัน จึงทำให้ชีวิตเกิดเป็นวัฏสงสาร คือ เกิด-ตาย ไม่มีสิ้นสุด ซึ่งเส้นทางดังกล่าวนี้เป็นเสมือนมายาที่วนเวียนในโลกจอมปลอมที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่เป็นอมตะ แต่กระนั้นพวกพราหมณ์ก็เที่ยวสั่งสอนกันไปตามคติความเชื่อของแต่ละนิกาย บ้างก็อวดอ้างว่าตนเองของจริง (บรรลุโมกษะ) บ้างก็โจมตีกันเอง บ้างก็ว่านิกายตนแน่นอน เที่ยงตรงตามหลักพระเวท บ้างก็แย้งพระเวทก็มี จนทำให้สับสนและจับเอาสาระไม่ได้ และหาใครบรรลุโมกษธรรมคือ ถึงพรหมันแล้วเรียกตนเองว่า พระอริยบุคคลไม่
                ในบรรยากาศเช่นนี้เอง พระพุทธเจ้าได้ค้นพบความจริงจากชีวิต ที่ปรากฏในสภาวะที่ทนไม่ได้เรียกว่า ทุกข์ ที่มีทุกข์เพราะมีสาเหตุ เรียกว่า สมุทัย พระองค์ก็สรุปวิธีปฏิบัติให้คือ มรรคมีองค์ ๘ เพื่อนำไปสู่สายตรงคือ นิพพาน เรียกว่า นิโรธ นั่นเอง เมื่อกล่าวรวบยอดในปรากฏทั้งชีวิตที่เรียกว่า อริยสัจ นี้ มีลักษณะ ๓ ประการคือ อนิจจัง แปลว่า ความไม่เที่ยงแท้หรือขัดแย้งกับหลักอัตตาที่ว่า อัตตาเป็นสภาวะที่อมตถาวร เที่ยงแท้แน่นอน ไม่แปรผัน   ทุกขัง หมายถึง สภาวะที่ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเหมือนสายน้ำไหลหรือเปลวไฟ ซึ่งขัดแย้งกับอาตมันที่ว่า ไม่มีการแปรเปลี่ยน  และอนัตตา หมายถึง การขาดอัตตาที่เป็นตัวแก่นที่ไม่มีการสืบเนื่องอีกต่อไป ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป เพราะพราหมณ์เชื่อว่า ชีวิตที่ถูกอวิชชาครอบงำ จะทำให้เกิดไม่รู้จบ ซึ่งจุดนี้พระองค์ก็มิได้ปฏิเสธว่า ชีวิตไม่มีอัตตา แต่ที่แย้งคือ อัตตานี้ไม่ถาวรหรือมีทางหลุดโคจรแห่งวัฏสงสารอยู่ ไม่เหมือนพราหมณ์ที่สอนแบบ ข้ามภพ ข้ามชาติ พระองค์ตรัสว่า เราสามารถตัดอัตตานี้ให้สิ้นไปในภพมนุษย์นี่เองเหมือน พระองค์แสดงเป็นแบบอย่างให้ดู
                แนวคิดดังกล่าวเป็นการยืนยัน ความจริงกับมายา คำว่า มายา (Illusion) พราหมณ์เชื่อว่า ชีวิตที่เกิดไม่รู้จักสิ้นหรือเวียนว่ายเกิดนั่นคือ มายา โลกและสรรพสิ่งคือ มายาด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ของจริงที่แท้จริง นอกจากอัตตาหรือปรมาตมันเท่านั้น ส่วนฝั่งตรงข้ามหรือฝั่งข้อเทียบเคียงกับแนวคิดของพระพุทธเจ้า ที่ว่า ชีวิต คือ ความจริง ไม่ใช่มายา ดังนั้น เราจึงสามารถเปรียบเอาสองสิ่งมาวัดค่ากันว่า อะไรที่เรียกว่า มายา และอะไรที่เรียกว่า ความจริง นี่คือ  ข้อโต้แย้งกันในสมัยนั้น แต่พอมาถึงยุคปัจจุบัน เราจะบอกว่า ชีวิตคือ ความจริง เราต้องกล่าวถึงสองอย่าง (ทวิภาวะ) เทียบเคียงเสมอ นั่นคือ เกริ่นที่มาด้านความคิดเดิมและความคิดแย้งนั่นเอง หากกล่าวด้านเดียวเราก็ไม่อาจเห็นความต่างระหว่าง มายากับความจริงได้ เหมือนบอกว่า โลกนี้มีสีเขียวสีเดียว ก็ไม่จริง เพราะขาดสีเปรียบเทียบนั่นเอง
                เพราะฉะนั้น จึงเกิดหลักคำสอนเรื่องอริยสัจสี่ขึ้นมา เพื่อชี้นำให้ชาวโลกได้เข้าถึงความจริงภายในชีวิต ในการที่สร้างสันติสุขภายในใจตน ทุกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อมีหลักมูลฐานในใจคือ อริยสัจ ก็จะทำให้มองเห็นปรากฏการณ์นอกตัว และเทียบเคียงความจริงภายในได้ เมื่อเข้าใจตน (ภายใน) ก็จะเชื่อมโยงไปถึงข้างนอกได้ และก็จะเกิดภาวะรู้หรือสันติภายในนั่นเอง  
โดย ส.รตนภักดิ์ :๒๕๕๖

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น